ไม่พบผลการค้นหา
‘เพื่อไทย’ หนุนรัฐบาลติดตามสถานการณ์เมียนมาใกล้ชิด อำนวยความสะดวกการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) ทุกฝ่าย พร้อมส่งเสริมแนวทางสร้าง ‘มั่นคงและเติบโตไปกับประเทศเพื่อนบ้าน’

วันที่ 7 มีนาคม 2567 นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่า พรรคเพื่อไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่น่าห่วงใยและติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันว่า 2,400 กิโลเมตร และส่งผลกระทบต่อภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยจากการสู้รบบริเวณชายแดน ปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงขอเน้นย้ำถึงแนวคิดและจุดยืนต่อประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. การยึดมั่นในหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)

พรรคเพื่อไทยเชื่อในการดำเนินการที่มี ASEAN เป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการยืนยันในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non-Interference Principle) ต่อสถานการณ์ของเมียนมา พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการทำงานร่วมกับ ASEAN ในการผลักดันการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ (5-Point Consensus) ร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและความรุนแรงในประเทศที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน 3 ปี นับแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 รวมถึงสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

พรรคเพื่อไทยส่งเสริมการแสดงบทบาทนำ (Driver’s Seat) ของรัฐบาลไทยในการริเริ่มให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ผ่านกรอบของ ASEAN เพื่อเป็น ‘ตัวกลาง’ ในการพูดคุยไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกกลุ่มในเมียนมา ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล SAC, ฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมไปส่งเสริมบทบาทของรัฐบาลไทยในการพูดคุยกับประเทศสมาชิก ASEAN เพื่อลดช่องว่างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา และร่วมกันแสวงหาทางออกเพื่อหาทางแก้ปัญหาในเมียนมา

2. การเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

พรรคเพื่อไทยตระหนักดีถึงความซับซ้อนและยืดเยื้อของสถานการณ์ในเมียนมาว่าย่อมก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย การเปิดช่องทางการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาทางออกต่อสถานการณ์เมียนมา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยพร้อมเป็นผู้ประสานงานกับองค์การภาคประชาสังคมต่างๆเพื่อสร้างแนวทางความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมและสาธารณสุขแก่เมียนมา พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้รัฐบาลตั้งกลไกในรูปคณะกรรมการดูแลและเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนให้รัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) อย่างเร่งด่วนจากประเทศต่างๆ (Humanitarian Hub) เข้าไปช่วยเหลือชาวเมียนมาโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มหารือในกลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศ ASEAN ในการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไว้แล้ว

พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินการทูตเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในรูปแบบการเจรจาทวิภาคีกับรัฐบาลเมียนมา ผ่านการประสานงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมไปถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา อย่างจีน และอินเดีย เพื่อโน้มน้าวให้เมียนมายุติความขัดแย้ง และร่วมกันรับมือกับความท้าทายหลากหลายมิติจากสถานการณ์ในเมียนมา

ในขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกับการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดน รวมไปถึงเสนอให้ทบทวนกระบวนการการจัดการค่ายผู้ลี้ภัย ขณะนี้ยังมีผู้ลี้ภัยเดิมส่วนหนึ่งที่มีความผูกพัน เกิด และเติบโตอยู่ในประเทศไทย จึงขอเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทบทวนกรณีผู้ที่ลี้ภัยเดิมด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิและกระบวนการตรวจพิสูจน์ประชากร เพื่อให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรี และส่งเสริมการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม ตลอดจนส่งเสริมและฝึกฝนให้ผู้ลี้ภัยเดิมมีทักษะการทำงานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยด้วย

3. การส่งเสริมหลักการ ‘มั่นคงและเติบโตไปกับเพื่อนบ้าน (Prosper-thy-neighbor) พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในฐานะค่านิยมสากล และสนับสนุนให้รัฐบาลไทยฟื้นฟูบทบาทความเป็นผู้นำและมีจุดยืนอยู่บนเวทีโลกอย่างสง่างาม โดยการจัดวาง-จัดการบทบาทตัวเองในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการแสดงบทบาทนำของไทยต่อปัญหาหรือวิกฤติประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การส่งเสริมให้เมียนมามีความเป็นประชาธิปไตยและความสงบสุขจะช่วยสนับสนุนผลประโยชน์แห่งชาติของไทย ตามแนวทาง Prosper-thy-neighbor กล่าวคือ ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีควรช่วยส่งเสริมสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาด้วยสันติวิธี อันจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเกื้อกูลผลประโยชน์ของชาติ ทั้งความมั่นคง การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ และการขยายตลาดการค้าระหว่างกันของไทยและเมียนมา อันจะเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ASEAN และกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น BIMSTEC ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย

ทั้งนี้ หากไทยเป็นตัวกลางในการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาได้สำเร็จ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อไทยเองแล้ว ไทยยังจะสามารถยืนยันถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของตนเองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน และยังสามารถพลิกคืนบทบาทผู้นำในภูมิภาคนี้ในสายตาประชาคมโลกได้ด้วย.