ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบออก 'วัคซีนพาสปอร์ต' สำหรับผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 ครบ พร้อมลดวันกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิดเหลือ 7 วัน หากไม่มีใบรับรองฉีดวัคซีน มีเพียงผลตรวจปลอดเชื้อโควิด ลดกักตัวเหลือ 10 วัน ยกเว้นผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาคงการกักตัว 14 วัน เตรียมนำเสนอ ศบค. เพื่อพิจารณา

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีมติเห็นชอบในเรื่องแรก เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากสถานพยาบาลที่ฉีด ไม่มีค่าใช้จ่าย หากประสงค์ที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้นำใบรับรองการฉีดวัคซีนไปขอรับวัคซีนพาสปอร์ตหรือ “สมุดเล่มเหลือง” ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมเล่มละ 50 บาท และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 50 บาท โดยจะมีการออกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกสมุดเล่มเหลือง อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้เดินทางในต่างประเทศยังต้องรอข้อตกลงระดับสากลก่อน

S__42393610.jpg

ส่วนเรื่องการลดวันกักตัว เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 250 ล้านโดส ทำให้มีภูมิต้านทานและลดการติดเชื้อได้มากขึ้น ที่ประชุมเห็นชอบการลดวันกักตัวใน 3 กรณี คือ

  • คนต่างชาติมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทาง มีเอกสารรับรองปลอดโควิดใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และตรวจหาเชื้ออีกครั้งในประเทศไทยไม่พบเชื้อ ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาให้กักตัว 14 วัน
  • คนไทยเดินทางจากต่างประเทศมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือน ไม่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด ผลการตรวจหาเชื้อในประเทศไทย 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
  • คนต่างชาติไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด มีเพียงเอกสารรับรองปลอดโควิด 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เม.ย. 2564 เป็นต้นไป และระยะต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 หากฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงอย่างน้อย 70% และประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมาย บางพื้นที่่อาจผ่อนคลายไม่ต้องกักตัว โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป

จัดหาวัคซีนโควิดเพิ่ม

นอกจากนี้ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 และเฝ้าระวังแนวชายแดนไทย-เมียนมา จากสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เข้มงวดบริเวณแนวชายแดน และจัดสถานกักกันตามชายแดนไว้รองรับเป็นการเฉพาะ

อนุทิน กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มให้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น จากที่จัดหาไว้ 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 31.5 ล้านคน โดยไม่นับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และคนอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็อาจต้องหาเพิ่มเติมอีก 10-20 ล้านโดสโดยอาจขอให้แอสตราเซเนก้าเพิ่มกำลังผลิต หรือจัดหาวัคซีนชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลปลอดภัยมากขึ้น


พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด

อนุทิน ยังให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางพิเศษในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 สำหรับภาคเอกชน โดยต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน และยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 จากนั้น อย.จะพิจารณาจากเอกสาร ด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล เพื่อให้สามารถอนุมัติทะเบียนโดยเร็วที่สุด

S__42393610.jpg

รพ.เอกชนนำเข้าให้ขอขึ้นทะเบียนอีกครั้ง 

ในส่วนกรณีผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ายาอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลเอกชน หากประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ปัจจุบันมีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับ อย. แล้ว จำนวน 4 ราย ได้แก่ โควิด-19 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้ง 2 ราย และอีก 2 ราย ได้แก่ วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสาร

“กระทรวงสาธารณสุขยินดีและขอบคุณภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเต็มที่ เป็นการแบ่งเบาภาระรัฐบาล ช่วยให้การกระจายวัคซีนทั่วถึง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีโอกาสไปดูแลประชาชนในส่วนที่จำเป็น ” อนุทินกล่าว

สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัคซีน 19 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีนำเข้า ดำเนินการดังนี้

1.ให้ยื่นคำขอใบอนุญาตสถานประกอบการด้านยา โดยต้องมีสำนักงาน มีสถานที่เก็บยา มีเภสัชกรประจำ

2.ยื่นคำขอหนังสือรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยา ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด19  ผ่านการประเมินวิชาการ ด้านคือ คุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล และแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน ผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด19 ทั้งนี้ ขั้นตอนตั้งแต่การประเมินวิชาการถึงการอนุมัติจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ได้กล่าวยืนยันพร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าไปได้


'อนุทิน' รับวัคซีนแอสตราเซเนกา

อนุทิน ได้เดินทางมาติดตามกระบวนการรับมอบวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ณ คลังวัคซีนอาคาร 6 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกล่าวว่า เป็นการรับมอบวัคซีนตามที่ได้ตกลงกับบริษัทผู้ผลิต ซึ่งความสำเร็จในการนำเข้า มาจากผลของการหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีน กับทางบริษัท ในการนำเข้าอย่างเร่งด่วน เพื่อมารับมือกับการระบาดระลอกใหม่

ในส่วนของขั้นตอนทางเอกสาร ได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จากนี้ จะนำตัววัคซีน ไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วัคซีนที่ได้รับ จะทำให้การให้บริการครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปได้แล้ว แต่จะฉีดให้ใคร อย่างไร ให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

135683.jpg135694.jpg


วัคซีนซิโนแวคล็อต 2 ถึงไทย มี.ค.

อนุทิน กล่าวภายหลังการหารือกับนายหยาง ซิน (Mr. Yang Xin) อุปทูตสถาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำ ประเทศไทย ระบุว่า ทางท่านทูต ให้ข้อมูลว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก บริษัท Sinovac ล็อต 2 จำนวน 8 แสนโดส จะมาถึงประเทศไทยภายในเดือน มี.ค. ตามแผนการที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องขอบคุณท่านทูตที่ช่วยประสานความร่วมมือให้ทางการไทย

การหารือยังรวมถึงเรื่องการให้บริการวัคซีนแก่ชาวจีนที่พำนักในไทย ซึ่งทางการไทย พร้อมพิจารณาอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ทางการไทย ยังขอให้จีนสนับสนุนวัคซีนเพิ่มเติมในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งอาจจะรวมถึงการให้วัคซีนเพิ่มเติม เพื่อมาให้บริการแก่ชาวจีนในไทย

นอกจากนั้น ทางการจีนยังเสนอให้ไทยเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนกับคนจีนในภูมภาคนี้ ซึ่งไทยรับฟังข้อเสนอแต่จะต้องหารือเพิ่มเติม เพราะไทยต้องพิจารณาในหลายปัจจัย 

"วัคซีนที่จะเข้ามาอีก 8 แสนโดส เมื่อเข้ามาแล้ว ทางการไทยต้องตรวจอีกรอบหนึ่ง ต้องมั่นใจในเรื่องของประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัย ถึงจะให้บริการประชาชนได้" อนุทิน ระบุ



//////;