วันที่ 19 ต.ค. 2565 ในงานเสวนา Thairath Forum 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน” ภายใต้แนวคิด ร่วมปลุกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ผ่านมุมมองของ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารเกียรตินาคินภัทร, ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย (TTR), เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีเสวนา
เศรษฐา กล่าวว่า การให้คะแนนรัฐบาลนั้นลำบาก เพราะตัวเลขมันบ่งชี้ชัดเจนทั้งดัชนีคอร์รัปชัน และปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งปัญหาของประเทศในปัจจุบันคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่มากี่ปีก็ สอบตก ถ้าย้อนไปนิดนึงตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้ามาบริหารประเทศก็เน้นย้ำเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก แต่ว่าผลที่ได้รับจากความมั่นคงทำให้การเมืองบนท้องถนนลดน้อยลง และการกินดีมีสุขของคนทั่วไปเดือดร้อนหมด แถมโดนวิกฤตโรคโควิด-19 จึงทำให้เห็นว่า การเมืองไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งในเรื่องสาธารณสุข การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไข หรือทำอะไรที่ใกล้เคียงได้ แม้ว่าท่านจะมีจิตใจประสงค์ดี แต่ปัญหาทั้งหมดมันใหญ่เกินกว่าท่านจะแก้ได้ ในแง่ที่เรามีผู้นำที่มีอำนาจเต็มมือในช่วงต้นอย่างการใช้มาตรา 44 ถ้าใช้ให้ถูกประเภทจะสามารถแก้ปัญหาได้
เศรษฐา ระบุอีกว่า การที่เราจะไปอีก 5 ปีข้างหน้านั้น เราต้องยอมรับความจริงเรื่องปากท้อง อย่างตัวเลขกำไรของโรงกลั่น เช่น ไทยออยล์ ที่สูงถึง 1,200 ล้านบาท ขณะที่คนระดับเปราะบางเดือดร้อน การที่เรามีแผนระยะ 5 ปีนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะนี้เราต้องแก้ไขเรื่องค่าครองชีพที่แพงในทุกมิติให้ได้ก่อน เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่ มันเยอะเกินกว่าที่สังคมจะอยู่อย่างเป็นสุขได้ เป็นเรื่องที่ต้องคิด แต่คิดเฉยๆ ไม่ได้ มันถึงเวลาที่อาจจะต้องทำในสิ่งทีี่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจใครหลายคน
“ถ้าหากได้เป็นรัฐบาล ต้องมีการปฏิรูปด้านภาษี เช่น เช่น การปฏิรูป และปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีความมั่นคง ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน รวมถึงภาษีในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าคุณมีเยอะ คุณใช้ทรัพยากรของประเทศเยอะ คุณก็ควรต้องจ่ายเยอะ” CEO แสนสิริ ระบุ
เศรษฐา กล่าวอีกว่า ในสังคมเราอยู่ได้ด้วยกฎของการอยู่ร่วมกัน คือ รัฐธรรมนูญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และบ้านเมือง จึงใฝ่ฝันว่า รัฐบาลใหม่น่าจะมีการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้ และการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเร็วๆ นี้ เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย
"ในอดีตเราได้ยินคำอธิบายที่ว่าทำไมถึงทำไม่ได้ แต่คุณถูกเลือกเข้ามาเพื่อทำให้ได้ การเลือกตั้งต่อไปสิ่งที่อยากเห็นคือ ถ้าคุณชอบคนที่ทำงานในปัจจุบันก็เลือกเขา แต่ถ้าหากไม่ชอบก็เลือกพรรค หรือบุคคลที่เสนอนโยบายโดนใจ เลือกให่้ขาด เขาจะได้มาบริหารราชการอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่มีข้ออ้างที่บอกว่าทำไม่ได้เพราะติดปัญหา"
เศรษฐา กล่าวถึงแผนระยะยาวในเรื่องของเด็ก และเยาวชนอีกว่า ปีที่ผ่านมาประชากรไทยลดน้อยลง แสดงว่า คนไม่ค่อยอยากมีลูก หรือคนย้ายออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราในฐานะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ต้องให้ความสำคัญมากกว่าไปว่าเขาชังชาติ หรือผลักไสไล่ส่ง เรื่องพวกนี้สำคัญ เพราะเขามีสติปัญญา เติบโตได้ เราควรเก็บคนเหล่านี้ไว้ เรื่องการพูดจา การสร้างความหวัง การสาธารณสุข การศึกษา หรือแหล่งงาน การให้อิสรภาพ มีสิทธิที่จะเลือก ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา สาธารณสุข หรือเรื่องเปราะบางเช่น การเกณฑ์ทหาร
“ผมว่าเป็นเรื่องที่อยากจะบอกพรรคการเมือง หรือคนที่จะเข้ามาบริหารจัดการประเทศตรงนี้ว่า เด็ก และเยาวชนของเรา เราต้องสร้างความหวัง และแรงบันดาลใจให้เขาอยู่ในประเทศ เติบโตต่อไปเพื่อเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศต่อไปอย่างไร” เศรษฐา กล่าว
ด้าน บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ให้คะแนนรัฐบาล เพราะไม่รู้ว่าจะให้อย่างไร ถ้าจะเปรียบเทียบก็ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับใคร ผู้นำอยู่มา 8 ปี เปรียบเทียบบกับ โจโควี ของอินโดนีเซีย ทำไมมันเจริญรุดหน้าทุกอย่าง แต่ทำไมของไทยมันอยู่กับที่ แต่เมื่อไปดูตัวเลข เขาไม่ได้ดีไปกว่าเรา โตเพียง 3.5% ต่อปี
ปัญหาของไทยคือ ‘โครงสร้าง’ ที่สั่งสมมานาน ไม่ได้เกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรีอยู่มา 5 ปี หรือ 8 ปี แต่เกี่ยวกับการที่มีการแตะเรื่องโครงสร้างค่อนข้างน้อย โดยมีงานวิจัยที่น่าสนใจของทีดีอาร์ไอ เเละอนาคตไทยศึกษา ระบุชัดว่า เหตุผลที่ประเทศไทยเจริญช้าเป็นเพราะว่า “รัฐใหญ่เกินไป” ซึ่ง 80% ของงบประมาณที่ใช้ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่เป็นสวัสดิการ แต่ของไทยเป็นงบประมาณที่ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งเงินเดือน และสวัสดิการต่าง โดยมีพนักงานราชการราว 2.2 ล้านคน เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มีประชากรมากกว่าไทยสองเท่า กลับมีข้าราชการเพียง 5 แสนคน ขณะที่สิงคโปร์มีราว 1.1 แสนคน
อีกทั้งมิติของรัฐที่มักจะมามีบทบาทืในทุกเรื่อง โดยต้องใช้คำว่า “เสือกทุกเรื่อง” และพวกเราเองเวลามีปัญหามักอยากจะให้รัฐแก้ไข ที่เราเรียกว่า สังคมอุปถัมภ์ ทุกอย่างอยากให้รัฐทำ และรัฐเองก็รู้สึกว่าเป็นพ่อจึงต้องทำให้ ซึ่งนี่คือปัญหาที่อยู่ในทัศนคติฝังลึก อีกทั้ง อำนาจรัฐไทยค่อนข้างสูงมาก โดยมีกฎหมายทั้งหมดแสนกว่าฉบับ ใบอนุญาต 5,000 กว่าชนิด ขณะที่ในประเทศพัฒนาเเล้วใช้เพียงแค่ 300 ฉบับก็เพียงพอ ซึ่งนี่คือปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งรัฐต้องหดตัว และกระจายอำนาจ และทรัพยากรออกไปในวงกว้าง
บรรยง ระบุว่า หากมองในมุมเศรษฐกิจ การบริหารประเทศมีเพียงสามข้อ หนึ่งคือมั่งคั่ง คือทำให้รายได้รวมของประเทศสูงและโต สองคือทั่วถึง ไม่ใช่โตแค่ 1% และสามคือยั่งยืน นี่คือเป้าหมาย ซึ่งการแก้ปัญหาเราต้องเริ่มจากยอมรับความจริงก่อนถึงแม้จะไม่สวยหรู ข้อเท็จจริงคือเศรษฐกิจไทยติดกับดักมา 20 กว่าปีแล้ว เป็นที่รู้กันทั้งโลกว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา แล้วดูสิแก่ขนาดนี้ ก็ยังกำลังพัฒนาอยู่ ถ้าเติบโตในระดับ 3 เปอร์เซ็นต์แบบนี้ก็โน่นเเหละครับ อีก 20 ปี ถึงจะได้เป็นประเทศพัฒนาเเล้ว ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่ากังวล เเละหากเจอวิกฤตอีกสองสามครั้งระหว่างกลางมันก็จะยืดไปอีก
รวมถึง ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย และเสรีนิยม ที่มีส่วนสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การกระจายรายได้ที่ดี และขอเสนอเพิ่มในความพยายามที่จะทำมากกว่าพูดนั่นคือ เราต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกว่า 56 แห่ง แต่มีทรัพย์สินรวมกว่า 18 ล้านล้านบาท และงบประมาณใช้จ่าย 6 ล้านล้านบาท รวมกันมากกว่า 2 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน และเขาว่ากันว่า รัฐวิสาหกิจกินกันเยอะ จึงต้องปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส
พิธา กล่าวว่า สังคมไทยตื่นรู้ขึ้นกว่าเดิมมาก มีฉันทามติร่วมกันอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มคนหลายชนชั้น ฐานประชากร และอายุ ที่ต้องการการเลือกตั้งครั้งใหม่ การเปลี่ยนแปลงกฎกติกาที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้ มองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เข้าใจในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และการกระจายอำนาจ เชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ
ส่วนการให้คะแนนรัฐบาลนั้น พิธาระบุว่าขอให้คะแนนติดลบ ด้านแรก ในเรื่องของเศรษฐกิจ แม้ในไตรมาสล่าสุดจะโตขึ้นมา 2.5% เป็นอันดับ 6 ของอาเซียน แต่ก็ยังตามหลังเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่โตสูงสุดกว่า 7% และยังมีปัญหาการฟื้นฟูหลังโควิดที่ไม่เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ในด้านการเมือง 8 ปีที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดการทุจริตของไทยตกไป 8 อันดับ คะแนนความเป็นประชาธิปไตยก็ลดลงมาจนเกือบจะตกการจัดชั้นเป็นประเทศประชาธิปไตย ส่วนในด้านสังคม ประเทศไทยก็มีคนเสียชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเอง ยาเสพติด สุราเรื้อรัง เพิ่มขึ้นถึง 34% เป็นอันดับ 1 ในประเทศอาเซียน
นอกจากนี้ พิธา ยังระบุว่า สำหรับอนาคตของประเทศไทย ตัวเองอยากเห็นการเติบโตที่ตอบโจทย์ความท้าทาย ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล การแปรรูปสินค้าการเกษตร การปฏิรูปการศึกษา และการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในด้านรายได้ การถือครองทรัพย์สิน การเข้าถึงทรัพยากร และความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณล้วนไม่ตอบโจทย์ดังกล่าว
ดังนั้น ในทางเป้าหมาย จะต้องมีการกระจายที่ดินที่ถือครองโดยรัฐอยู่ถึง 60% โดยต้องมีการลดลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง การกระจายภาคท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกอยู่แค่ 5 จังหวัดหลัก แต่ต้องให้เมืองรองได้รับผลพวงจากการเติบโตด้วย อุตสาหกรรมที่ไม่พึ่งเพียงภาคยานยนต์และอิเล็กโทรนิกส์อย่างเดียวแต่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สามารถกระจายความมั่งคั่งออกไปได้ทั่วประเทศอย่างยั่งยืน และการกระจายทั้งอำนาจและงบประมาณออกไปสู่ทุกพื้นที่
“จะมีประโยชน์อะไรถ้าประเทศจะมีคนรวยบ้านรั้วสูงและเต็มไปด้วยปัญหาสังคม ผมอยากฝันเห็นประเทศไทยที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน การเติบโตที่มาพร้อมกับความเท่าเทียม ทั้งในเรื่องของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เติบโตควบคู่กับสวัสดิการไปด้วยกัน” พิธา กล่าว
ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ตนเห็นคำพูดของนักการเมืองขายฝันมาเยอะ แต่ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมสักที จึงเป็นเหตุผลหลักที่เข้ามาอาสาช่วยเหลือรัฐบาล และในเมืองไทยมีคนวิจารณ์เยอะ แต่คนทำน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องบอกว่า เมืองไทยอยู่ในวิกฤตโลก ทั้งเรื่องโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และเงินเฟ้อ แต่ทั้งนี้ประเทศไทยดำเนินการมาได้โดยไม่บุบสลาย เช่น ภาวะการเงินการคลังที่แข็งแกร่งประเทศหนึ่งในอาเซียน แม้การฟื้นตัวอาจจะสู้กับเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่ประเทศไทยเราพึ่งนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น
ทำให้ในช่วงโควิด-19 รายได้เรื่องของนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ แต่ก็บวกเพิ่มขึ้นมาหลังจากนั้น และในปีนี้จะเห็นว่าทุกอย่างเริ่มกลับมา แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเราอยู่ในแดนบวกได้ และเมื่อชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำคือเรื่องการเมือง จึงต้องฝากว่าที่นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในเวทีนี้ร่วมกันแก้ไข
ม.ล.ชโยทิต ชี้อีกว่า ประเทศไทยมาไกลกว่าคู่แข่งในแถบอาเซียนค่อนข้างมาก ทุกประเทศวันนี้ที่จะพิจารณาเอาอุตสาหกรรมย้ายไปประเทศไหน นอกจากจะมองเรื่องแรงงานถูก เขามองเรื่องพลังงานสะอาด หากเทียบนิทานกระต่ายกับเต่า จะพบว่าไทยคือกระต่าย ในประเทศอาเซียนทั้งหมดวันนี้ที่ยังใช้ถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ในการทำไฟฟ้า แต่ไทยใช้เพียง 10% เท่านั้น และใช้แก๊ส 70% และอีก 20% คือพลังงานสะอาด
ถามว่าสำคัญอย่างไรคือ ทุกอุตสาหกรรรมที่จะมาลงทุนต่อยอดก็จะถามหมดว่า ไทยมีนโยบายอย่างไรในเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่ง สุพัฒนพงศ์ พันธุ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ได้ออกนโบายมาว่าภายในปี 2040 ไทยจะมีพลังงานสะอาด 50% ทั้งหมด และเรื่องเหล่านี้สำคัญที่สุดที่จะหยิบยกมาถกเถียง ซึ่งถ้าเราผลักดันได้สำเร็จ จะเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ
โดยก่อนหน้านี้มีการหยิบยกไปคุยกับทางรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลสิงคโปร์ และรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย โดยทางญี่ปุ่นคุยเรื่อง EV เป็นหลัก รวมกับพลังงานสะอาด แต่ญี่ปุ่นอยากให้ไทยเป็นฐานของไฮโดรเจนด้วย เพราะเขามองว่า ไฮโดรเจนคือพลังงานในอนาคต และเตรียมเงินไว้กว่าหมื่นพันล้านเหรียญเพื่อการทำเศรษฐกิจไร้คาร์บอน โดยประเทศไทยถูกจัดเป็นแนวหน้าในเรื่องนี้
“อยากจะขอเรียนว่า ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือผู้ที่จะมาบริหารประเทศ อย่าลืมเรื่องในประเทศอันนั้นก็สำคัญ แต่จะทำให้ประเทศไปต่อยอดได้ สังคมโลก ก็สำคัญเหมือนกัน อย่ามองในประเทศไทยในภาพลบไปเสียหมด” ม.ล.ชโยทิต กล่าว