ผู้เขียนเคยกล่าวเมื่อครั้งดูหนังเรื่อง Die Tomorrow (2017) ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จบลงว่านี่ควรจะเป็นบทสรุปอาชีพการทำหนังใน ‘เฟส 1’ ของนวพล ไม่ได้หมายความว่าหนังไม่ดีหรือเขาควรเลิกทำหนัง แต่เราเริ่มเดาทางและเห็นลายเซ็นชัดเจนของเขาบ่อยครั้งขึ้น – นักแสดงไม่แต่งหน้า, จังหวะการแสดงแบบช้าๆ หน้านิ่งๆ (ที่กลายเป็นเทรนด์ ‘หน้าเด๊ด’ ขึ้นมา), การถ่ายแบบลองเทค, เพลงประกอบแบบมินิมอล ผู้เขียนก็เลยอยากเห็นงานของนวพลที่ข้ามไปสู่โซนที่แปลกแตกต่าง ซึ่งการทำหนังในระบบสตูดิโอก็ดูจะส่งเสริมเรื่องนี้ ด้วยเงื่อนไขที่มากขึ้น ไม่สามารถทำงานตามใจตัวเองในแบบสปิริตของหนังอินดี้ได้
‘ฮาวทูทิ้ง’ ผลงานล่าสุดของนวพลว่าด้วย จีน (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) หญิงสาวผู้พยายามรีโนเวทบ้านของตัวเองให้เป็นสไตล์มินิมอลลิสม์และตัดสินใจทิ้งข้าวของในบ้านเกือบทั้งหมด หนังเรื่องนี้อาจไม่ถือเป็นผลงานเฟส 2 ของนวพล สไตล์ต่างๆ ที่กล่าวไปในข้างต้นยังคงปรากฏอยู่ แต่มันอาจนับเป็นเฟส 1.5 ได้ในแง่ว่าหนังเรื่องนี้เผชิญหน้ากับ ‘อารมณ์’ อย่างตรงไปตรงมา
ปกติแล้วหนังของนวพลจะพยายาม ‘เจือจาง’ อารมณ์โดยรวมของหนังทั้งหมด ตลกแบบบางทีไม่รู้จะหัวเราะดีหรือเปล่า เศร้าแบบไม่ฟูมฟาย ไม่บิลด์คนดู (หรือเรียกกันเล่นๆ ในวงการหนังว่าเป็นความเศร้าแบบคูลๆ) ก็ไม่ใช่ว่า ‘ฮาวทูทิ้ง’ จะทำให้คนดูร้องไห้ด้วยการโหมประโคมแบบพวกละครเมโลดราม่าเกาหลี แต่หนังสำรวจอารมณ์ของตัวละครอย่างถี่ถ้วน ทั้งสถานะของคนที่ทิ้งคนอื่นและคนถูกทิ้ง ที่เป็นคอนเซ็ปต์หลักที่ดำเนินไปทั้งเรื่อง
การนำเสนอเรื่องอารมณ์ยังทำอย่างชาญฉลาดผ่านเทคนิคภาพยนตร์ ผู้กำกับจงใจให้อัตราส่วนภาพ 3:2 ที่ให้ภาพแคบกว่าปกติเมื่อเทียบกับหนังที่เราคุ้นเคย อัตราส่วนภาพแบบนี้ก่อให้เกิดทั้งความใกล้ชิดและความอึดอัดต่อตัวละคร หลายฉากตัวละครยังถูกถ่ายด้วยภาพแบบโคลสอัพที่เน้นใบหน้า (โดยเฉพาะชุติมณฑน์) ซึ่งเรียกร้องทักษะการแสดง อีกอย่างที่โดดเด่นคือเพลงประกอบที่มีเสียงเครื่องเป่าและเปียโนจางๆ (แทนที่จะเป็นเพลงออเคสตราเล่นใหญ่) แต่เสียงสำคัญที่สุดคือ ‘ความเงียบ’ ในหลายฉากที่ทำให้ใคร่ครวญความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร
(บทความต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์)
ส่วนเรื่อง ‘การทิ้ง’ ผู้เขียนคิดว่าแบ่งเป็นสองพาร์ตใหญ่ๆ พาร์ตแรกเป็นการทิ้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม คือข้าวของทั้งหลายของนางเอก ซึ่งเราได้เรียนรู้ไปพร้อมเธอว่านัยความสำคัญของสิ่งของไม่ได้อยู่แค่ตัวมันเอง แต่ยังอยู่ที่ ‘บริบท’ แวดล้อมของสิ่งของนั้น ใครให้มา ยืมใครมา ซื้อมาฝากใคร ฯลฯ รวมถึงบริบทเชิงสถานที่ เวลา บุคคล ที่ก่อตัวเป็น ‘ความทรงจำ’ อย่างเช่น ฉากที่พี่เอ็ม (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) แฟนเก่าของจีน พูดถึงรูปในอดีตของทั้งคู่ว่าที่จริงมันก็เป็นรูปธรรมดา แต่ตอนนี้กลับดูล้ำค่าขึ้นมา
เช่นนั้นแล้วการทิ้งของสักชิ้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนมีบริบทของมัน หากของชิ้นนั้นมีบริบทที่เจือจางหรือไม่ได้สลักสำคัญอะไรนักมันก็คงจะทิ้งง่าย แต่ของบางอย่าง เช่น กล้องที่จีนพยายามซุกซ่อนไว้ กลับอัดแน่นไปด้วยบริบท ทั้งความสุข ความเศร้า และความรู้สึกผิด การจัดการข้าวของในเรื่องจึงเป็นการปะทะกันของสิ่งที่เป็นรูปธรรม (ตัวสิ่งของ) และนามธรรม (บริบท/ความทรงจำ) ซึ่งในหนังเรื่องนี้อย่างหลังนั้นมีอิทธิพลเหนือกว่าจนนำไปสู่ความวุ่นวายและเจ็บปวดนับไม่ถ้วน
การทิ้งในพาร์ตสองเป็นเรื่องราวเชิงนามธรรมมากขึ้น คือการละทิ้งปล่อยวาง ‘อดีต’ เราเห็นว่าจีนพยายามทำดีกับพี่เอ็มเพื่อลบล้างความรู้สึกผิดของตัวเอง ส่วนพี่เอ็มก็พยายามจะมูฟออนต่อไป (เขาไม่ติดต่อจีนช่วงที่เธอหายไป, เขามีแฟนใหม่, เขากำลังจะย้ายไปต่างประเทศ) แต่สิ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือการที่หนังนำเสนอว่าสุดท้ายแล้วแทบทุกตัวละครไม่สามารถทิ้งอดีตของตัวเองไปโดยง่าย
อย่างที่ใครสักคนเคยพูดทำนองว่า ความทรงจำจะหายไปจากชีวิตเราด้วยสองวิธีการเท่านั้น หนึ่ง-ความจำเสื่อม สอง-ตาย
เมื่อตัวละครไม่สามารถมูฟออนต่อไปได้ พวกเขาก็เริ่มกระทำสิ่งที่โหดร้าย ไล่ตั้งแต่ฉากที่พี่เอ็มบอกกับจีนว่าคำขอโทษของเธอมันไม่มีประโยชน์ และพวกเราต้องใช้ชีวิตกันอย่างเจ็บปวดแบบนี้ต่อไป, ฉากที่มี่ (ษริกา สารทศิลป์ศุภา) ดั้นด้นมาถึงบ้านจีนเพื่อบอกว่าเธอเลิกกับพี่เอ็มแล้ว ตอนแรกผู้เขียนรู้สึกมึนงงกับฉากนี้มาก แต่ภายหลังจึงพอเข้าใจว่ามี่ต้องการส่งต่อความเจ็บปวดของเธอให้จีนต้องรับรู้ไปด้วย เพราะการเอาเสื้อมาคืนแทบจะเป็นการเอาเท้ายันหน้า
รวมไปถึงจีนที่ไม่สามารถจัดการอะไรกับชีวิตตัวเองได้เลย ก็เลยไปจัดการชีวิตของแม่ (อาภาศิริ นิติพน) ด้วยการขายเปียโนที่แม่รักไป ดังนั้นจากเรื่องราวของการทิ้งสิ่งของในเชิงกำจัดมันทิ้งไป กลับลุกลามกลายเป็นการที่ตัวละครทิ้งบาดแผลสู่กันและกันเป็นทอดๆ อย่างไม่รู้จบ เป็นบาดแผลหนักหน่วงที่มีน้ำหนักมากกว่าสิ่งของในหนังทั้งเรื่องรวมกันเสียอีก
แม้แต่บทสรุปของหนังก็ยังตอกย้ำความ feel bad ไปอีกเมื่อจีนยอมรับสภาพการไม่สามารถทิ้งอะไรได้และความไม่มูฟออนของตัวเองด้วยการสร้างความทรงจำปลอมขึ้นมาทับถมอดีตอันเลวร้าย เธอบอกเพื่อนว่าเธอกับพี่เอ็มไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน พูดคุยกันได้ปกติ เดี๋ยวพี่เขาก็ไปต่างประเทศกับแฟนแล้ว ราวกับว่าเมื่อมนุษย์ไม่สามารถละทิ้งสิ่งที่อยู่ในใจได้ ก็จงใช้วิธีสร้างสิ่งใหม่ขึ้นปกคลุมปิดทับมันเอาไว้
คำถามคือพื้นที่รับความเจ็บปวดในใจเรามีขีดจำกัดแค่ไหน หรือบางทีมันก็อาจเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องขุดหลุมนั้นให้ลึกไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะมีชีวิตต่อไปได้