ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อโควิดส่งผลสุขภาพจิตของเยาวชน ส่องสิงคโปร์โมเดล รับมืออย่างไรเมื่อเด็กต้องเผชิญความเครียดและสภาวะโดดเดี่ยว อันเกิดจากการเรียนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน และสังคมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากที่ผู้ปกครองต้องเผชิญกับความกดดันมากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง จากปัญหาการว่างงานหรือความมั่นคงทางการเงินหลังจากรัฐบาลสั่งให้คนอยู่กับบ้านอย่างต่อเนื่อง การระบาดใหญ่ยังได้สร้างแผลในใจหลายแง่มุมต่อ “เด็ก” เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบออนไลน์ หรือการเรียนหนังสือที่บ้าน โดยผลวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟ ซึ่งใช้ข้อมูลจาก Oxford COVID-19 Government Response Tracker ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ มีเด็กและเยาวชนทั่วโลกราว 332 ล้านคน ต้องอยู่แต่ในบ้านมาแล้วอย่างน้อย 9 เดือน

ทั้งความหวาดระแวงจากโควิด-19 บวกกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยกับการเรียนรู้ ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบกับปัญหาความไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิตแบบเด็กๆ ไม่มีพื้นที่ได้เล่น ไม่มีเพื่อนได้คุย ไม่มีครูคอยสอนการบ้าน และต้องเปลี่ยนมานั่งจ้องอยู่ที่หน้าจอ จนกลายเป็นความเครียด และรู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงที่รัฐบาลหลายประเทศประกาศมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่าง การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการปิดเมือง (lockdown)

ศาสตราจารย์ รัสเซล ไวเนอร์ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์และสุขภาพเด็กในสหราชอาณาจักร (Royal College of Paediatrics and Child Health) กล่าวกับ ส.ส. ผู้เป็นสมาชิกกรรมาธิการด้านการศึกษาอังกฤษว่า "เมื่อเราปิดโรงเรียนก็เท่ากับชีวิตของเด็กๆ ได้หยุดชะงักไปด้วย"

เอ็นเอสพีซีซี (NSPCC ) องค์กรการกุศลเพื่อเด็กในสหราชอาณาจักร ยังระบุว่า สายด่วนสำหรับเด็กที่ต้องการคำปรึกษาเพราะรู้สึกโดดเดี่ยวมีการให้บริการเพิ่มขึ้น 10% ตั้งแต่การระบาดใหญ่เริ่มต้น โดยเด็กๆ ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเกิดความกังวลมาจาก ปัญหาเรื่องเงิน ปัญหาครอบครัว รวมถึงความรู้สึกเหงาและความกังวลเรื่องโควิด-19 ด้วย และเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยประสบปัญหานี้เพราะกังวลว่า อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

สถานการณ์นี้คล้ายกับในสหรัฐฯ ซึ่งทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่า มีเด็กอายุ 12-17 ปี เข้ามารับการรักษาฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตโรงพยาบาลต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 31% ในช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม ปี พ.ศ.2563

ดร.ทาซีน จาฟาร์ (Dr.Tazeen Jafar) ศาสตราจารย์ด้านบริการสุขภาพและวิจัยระบบที่โรงเรียนแพทย์ดยุค-เอ็นยูเอส (Duke NUS Medical School) ได้อธิบายถึง ผลการศึกษาเกี่ยวกับความกังวลทางจิตใจของเด็กในจีนตั้งแต่มีการระบาดใหญ่เผยให้เห็นว่า เด็กวัยรุ่นหญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเป็นโรคซึมเศร้าและมากไปกว่านั้นคือ นักเรียนโรงเรียนมัธยมปลายที่ใกล้สอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีความเสี่ยงมากกว่านักเรียนชั้นอื่น ๆ


สิงคโปร์กับคาบเรียนที่ไม่มีเรียน

เมื่อมองไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ อันเป็นชาติที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ได้ให้ความสำคัญกับเด็กทั้งคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิต จึงเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตกับนักเรียน และได้ออกไอเดียจัดทำ โครงการคาบเรียนพิเศษ  ที่ไม่มีการเรียนการสอนใดๆ ในวิชานี้ ทั้งในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะเปิดให้เด็กๆ ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ปลดปล่อยความในใจกับเพื่อนๆ กับคุณครู ได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายจากการเรียน ด้วยการใช้วีดิโอแอนิเมชันหรือวิดีโอการ์ตูนในการทำความรู้จักกับ “ความเครียด” เรียนรู้ว่าความเครียดคืออะไร มีกี่ระดับ และจะหาวิธีรับมือกับความเครียดยังไง โดยตัวแปรที่สำคัญในกิจกรรมนี้คือ “คุณครู” ที่คอยให้คำปรึกษาจากประสบการณ์ส่วนตัว เปรียบเสมือนการกดปุ่ม “ขอตัวช่วย” ของเด็กๆ

โมเดลที่ใช้ในโรงเรียนของสิงคโปร์ ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะเปิดประตูและทำลายกำแพงแห่งช่วงวัยที่ถูกปิดไว้ได้ การสร้างกลไกให้เกิดความตระหนักรู้แก่ผู้คนในสังคม จะสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตได้ ใคร ๆ ก็สามารถเศร้าได้ และความเศร้าไม่ใช่ความผิด คนที่มีปัญหาด้านนี้ไม่ควรได้รับความรู้สึกอับอายหรือเสียศักดิ์ศรี สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการพูดถึงปัญหานี้อย่างเปิดเผย สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ เหมือนอย่างในประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์ นักเรียน การศึกษา โควิด

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในไทย จากรายงานผลการสำรวจผลกระทบของสถานการณ์โควิดต่อเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, UNICEF, UNDP และ UNFPA ที่ได้ทำการสำรวจเด็กจำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 15-19 ปี ผลสำรวจพบว่า เด็กและเยาวล้วนกล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยพวกเขามีความเครียด วิตกกังวลและรู้สึกเบื่อหน่าย โดย เด็กและเยาวชนกว่า 8 ใน 10 คน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัวคิดเป็น 80.74 % ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนกังวลมากที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการถูกเลิกจ้าง รองลงมาเป็นความกังวลว่าคนใกล้ตัว/ตัวเองจะติดไวรัสคิดเป็น 52.55% อีกทั้งเด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียนการสอบกว่า 53.98% ความกังวลด้านโอกาสในการศึกษาต่อ 47.82 % สุดท้ายมีความเครียดจากการต้องอยู่แต่ในบ้านถึง 46.27% ในขณะที่อีก 7 % รู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น การทะเลาะกันของผู้ปกครองและการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาของเยาวชนกลุ่ม LGBTIQ จากการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน โดย 4 % ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกกังวลเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดดันเพิ่มเนื่องจากไม่สามารถแสดงตัวตนกับครอบครัวได้

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบมากมายหลายด้านต่อเด็ก ๆ และเยาวชนหลายกลุ่ม โดยเด็กและเยาวชนต่างมีความเครียด ความกลัวและวิตกกังวลไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เวลานี้ครอบครัวถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ จัดการกับสภาวะเหล่านี้ได้ พวกเขาควรได้รับความรักความเอาใจใส่ในช่วงเวลานี้มากกว่าที่เคย”


ถึงเป็นเด็กก็เครียดได้

‘วอยซ์’ สัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเรียนออนไลน์ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ผลักดันการนำเสนอและแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนของประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้อย่าง ธวัชชัย กูลหลัก (อาสัน) รองประธานสภาเด็กและเยาวแห่งประเทศไทย และในฐานะคณะทำงานพิจารณาข้อร้องเรียนนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันศึกษาอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล (ปุณณ์) อดีตประธานสภาเด็กและเยาวแห่งประเทศไทย นักสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ที่ได้ขับเคลื่อนในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเด็กมาโดยตลอด

อาสัน อธิบายว่า เด็กก็เป็นมนุษย์คนนึง มีความรู้สึก หิว ง่วง เหนื่อย มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นความเครียดก็เป็นสิ่งที่เด็กมีได้เหมือนกัน

เช่นเดียวกับ ปุณณ์ ที่กล่าวว่า เด็กและเยาวชนไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ ที่จะสั่งให้ทำอะไรก็ทำตาม การทำตามความคาดหวังของครอบครัวยิ่งเป็นเรื่องที่เครียดที่สุดของเด็ก เด็กก็มีปัญหาได้เหมือนกัน ทั้งปัญหาการเรียน ปัญหาการเงิน หรือแม้กระทั่งปัญหาความรัก

ปุณณ์ กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทย นับเป็นหนึ่งในสาเหตุความเครียดของเด็กๆ

"ระบบการการศึกษาไทยปัจจุบันที่ไม่ได้สร้างพื้นที่ของเรียนรู้ แต่กำลังสร้างพื้นที่ของการแข่งขัน ที่เด็กไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย"

เด็กไทยถูกปลูกฝังให้ก้มหน้าอ่านหนังสือสอบตั้งแต่ประถมยันจบมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะสอบ แล้วพ่อแม่ก็ยึดติดกับคะแนนสอบ อันดับสอบมากกว่าความต้องการและความชอบของลูกตัวเอง “นี่ยังไม่รวมป้าข้างบ้านนะที่คอยเปรียบเทียบให้เกิดปมด้อยในใจ” อดีตประธานสภาเด็กและเยาวแห่งประเทศไทย กล่าวโดยอธิบายถึงปัจจัยด้านความเครียดของเด็กไทยที่นอกเหนือจากการไม่ได้เรียนในห้องเรียน

โควิด การศึกษา โรงเรียน นักเรียน


‘เรียนออนไลน์’ นักเรียนพร้อม-ครูพร้อม ?

เมื่อถามเรื่อง “การเรียนออนไลน์ช่วงโควิด” อาสัน พรั่งพรูความอึดอัดออกมาอย่างเต็มที่ โดยชี้ว่า “การเรียนทิพย์” ไม่ใช่เรื่องที่ดี เนื่องจากผู้เรียนจะขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์และเพื่อน เพราะการเรียนนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเรียนเนื้อหา แต่คือการพัฒนาทักษะ การเข้าสังคม การเรียนรู้อื่น ๆ ในสถานศึกษาด้วย การเรียนออนไลน์นี้ยังสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เพิ่มขึ้น จากสภาพแวดล้อมการเรียนของแต่ละคนที่ต่างกัน นอกจากนี้ความพร้อมด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็แตกต่างกัน ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการนั่งเรียนหน้าจอตลอดวันยังทำให้รู้สึกเครียดมากๆ อีกด้วย

ปุณณ์ กล่าวในทำนองเดียวกันว่าสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ในการเรียนมีส่วนสำคัญมาก แต่ประเด็นที่เพิ่มขึ้นมาคือ ความพร้อมของครู ครูบางคนก็ไม่พร้อมกับระบบการสอนแบบออนไลน์และทำให้ประสิทธิภาพในการสอนลดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือการบ้านของเด็กๆ เนื่องจากพอครูไม่รู้จะสอนอะไรก็สั่งการบ้านแทน เป็นเด็กต้องมีเวลาได้วิ่งเล่นสิ ไม่ใช่นั่งหน้าจอ

ทั้งสองมองว่าปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ควรเร่งแก้ไข อาสัน บอกว่าสิ่งแรกที่ควรทำคือ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะค่านิยมในเรื่องการปรึกษาสุขภาพจิตถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” อาจมีประวัติไม่ดีต่อการทำงานในอนาคต ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจและสร้างมาตรฐาน เพิ่มสวัสดิการด้านสุขภาพจิตที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่นเดียวกันกับ ปุณณ์ ที่เสนอว่ารัฐควรสร้างระบบที่เอื้อให้กับเด็ก ตัวแปรที่สำคัญคือ ผู้ฟัง ที่ต้องรับฟังอย่างจริงใจและช่วยแนะวิธีแก้ปัญหา อย่างในโรงเรียนควรมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ประจำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับเด็กได้พูดคุย หรือได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และปิดท้ายไว้ว่าอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคน ลดความคาดหวังและสร้างความสัมพันธ์ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากคนในครอบครัว ทำให้บ้านเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน แล้วปัญหาเรื่องสภาพจิตใจจะได้รับการเยียวยา

เรื่องโดย: ชนิกานต์ มะโหรา

ตรวจโดย: ชยพล พลวัฒน์

ที่มา: BBC , UNICEF , CDC , UNICEF1 , BSG.OX