แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลจะประกาศยกเลิกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ) หลังการประกาศใช้มาตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 15 ต.ค. 2563 แต่ก่อนหน้านี้หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาบังคับใช้ เพื่อสกัดกั้นม็อบหลังประกาศนัดรวมตัวตามแนวรถไฟฟ้า คือ การออกคำสั่งบังคับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) และเอ็มอาร์ที (รถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน) ที่ปัจจุบันบริหารจัดการเดินรถโดยบริษัทเอกชน ปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว
แน่นอนว่าผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ทำให้การรวมตัวของมวลชนยากขึ้น แต่ยังกระทบไปถึงผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทาง และผู้ให้บริการตามสัญญาสัมปทานด้วย
เห็นแล้วว่าภาคเอกชนไม่ยินดีปรีดามากนัก จากการให้ข่าวล่าสุดของ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส โต้กลับว่าการปิดรถไฟฟ้าไม่ได้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่เป็นคำสั่งของตำรวจ ซึ่งพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามในคำสั่งในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมและอาคารสถานที่ ทางบริษัทได้ดำเนินการตามและเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อทางตำรวจเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก บริษัทก็ต้องปฏิบัติตาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีคำสั่งปิดรถไฟฟ้า รายได้ของเอกชนก็ต้องหยุดชะงัก ในประเด็นนี้ ‘ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ’ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยอมรับว่า จากกรณีที่มีการปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง (MRT) ในช่วงที่เกิดการชุมนุมประท้วง ตามสัญญาสัมปทานระบุไว้ว่า เอกชนมีสิทธิ์ขอชดเชยรายได้ กรณีที่ภาคราชการมีการกำหนดมาตรการใดๆ ที่กระทบต่อการให้บริการ หรือทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง
อย่างไรก็ตาม ที่มีประเด็นว่าเอกชนผู้ให้บริการจะเรียกร้องค่าชดเชยในการหยุดให้บริการนั้น รฟม.ยืนยันว่า ได้มีการสอบถามไปยัง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานให้บริการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีแล้ว ในเบื้องต้นเอกชนยังไม่มีการขอชดเชยใดๆ ส่วนบีทีเอส ที่เป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีเรียกร้องชดเชยรายได้ในการหยุดให้บริการหรือไม่
ภายหลังที่มีการปิดบริการรถไฟฟ้า บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานคงออกอาการร้อนๆ หนาวๆ หากดูที่ราคาหุ้นบนกระดานก็ส่งสัญญาณร่วง เป็นสิ่งที่จะต้องรับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ ‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินว่า การสั่งปิดรถไฟฟ้า เฉพาะวันที่ 16-19 ต.ค. 2563 มีจำนวนผู้โดยสารลดลง ประมาณ 757,000 คน เมื่อคำนวนค่าโดยสารเฉลี่ย 30 บาทต่อคน รายได้จะลดลงประมาณ 22.71 ล้านบาท
แม้ว่าจำนวนเงิน 22.71 ล้านบาท จะไม่เป็นภาระหนักของรัฐที่จะต้องชดเชยให้เอกชนที่รับสัมปทาน หากมีการเรียกร้องในภายหลัง แต่ก็ถือว่าเป็นภาระหนักของรัฐที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเข้าใจ ว่าเหตุใดรัฐจึงสั่งให้รถไฟฟ้าหยุดให้บริการจนทำให้เกิดความเดือดร้อน ต้องมาเสียทั้งเงินและเวลาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในสัญญาสัมปทานระหว่างบีทีเอสซี กับ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2535 ระบุชัดเจนว่า บีทีเอสซีไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายใดๆ อันเกิดขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงที่เป็นข้อยกเว้น ในข้อ 8.3 ที่เกิดจากการกระทำของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการเข้ามาแทรกแซงโครงการโดยรัฐบาลโดยไม่ชอบ ที่ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อบีทีเอสซี
โดยบีทีเอสซี มีสิทธิบอกเลิกสัญญาสัมปทานได้ หากเกิดการแทรกแซงของรัฐบาลในกรณีเหตุการณ์ที่เป็น "ความเสี่ยงที่เป็นข้อยกเว้น" ดังที่กล่าวข้างต้น
โดยหากมีการยกเลิกสัญญาดังกล่าว กทม.จะต้องชดเชยความเสียหายแก่บีทีเอสซี ซึ่งครอบคลุมถึงเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายของบีทีเอสซีที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยจ่ายเงินสำหรับส่วนของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสในราคาเท่ากับมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ของทรัพย์สินและค่าเสียหายอื่นใดที่บีทีเอสซีพึงได้รับเพราะเหตุจากการเลิกสัญญานี้ด้วย
ขณะที่สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระหว่าง รฟม. กับ บีอีเอ็ม เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 ข้อ 14.3 การผิดสัญญาโดย รฟม. ก็ระบุชัดเจนว่า บีอีเอ็ม มีสิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีที่มีการกระทำใดๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ รัฐบาล ซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรงในสาระสำคัญต่อสิทธิของบีอีเอ็มที่จะดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และ/หรือการจัดเก็บค่าโดยสาร
โดยผลของการผิดสัญญา และนำไปสู่การบอกเลิกสัญญา รฟม.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้บีอีเอ็ม เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับงานที่ลงบัญชีได้ตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงิน (financing cost) มูลค่าทางบัญชีของอุปกรณ์งานระบบทั้งหมด ตลอดจนค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือได้รับแก่บีอีเอ็ม ซึ่งรวมถึงค่าเสียหายจากการสูญเสียผลกำไรในอนาคตจากรายได้ สำหรับระยะเวลาที่คงเหลือของระยะเวลาตามสัญญา
แม้ว่าในตอนนี้ความกังวลที่ว่ารัฐอาจจะเสียเงินในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องจากเหตุคำสั่งปิดรถไฟฟ้ากั้นม็อบจะยังไม่เกิดขึ้น แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีท่าทีดีขึ้น แล้วรัฐบาลเลือกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกรอบ หรือมีคำสั่งรถไฟฟ้าหยุดให้บริการต่อเนื่อง ไม่แน่ว่าผู้ให้บริการรถไฟฟ้า อาจจะต้องใช้สิทธิขอชดเชยรายได้จากรัฐ
อย่าลืมว่าการทำธุรกิจแตกต่างจากการทำการกุศล จึงมีค่าเสียหายที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เงินรายได้ที่มาจากประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ แต่ถูกแลกกับการตัดสินใจของคนไม่กี่คน...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: