ไม่พบผลการค้นหา
ไทยยืนยัน ราฮาฟได้สถานะผู้ลี้ภัยออสเตรเลียแล้ว แต่ยังต้องดูว่าเธอจะไปประเทศไหน หลังแคนาดาก็เสนอให้ไปลี้ภัยได้ ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ว่ากระบวนการขอลี้ภัยของราฮาฟรวดเร็วกว่าผู้ลี้ภัยคนอื่นมาก

พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยืนยันว่า ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน หญิงชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกกักตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังหนีครอบครัวที่กดขี่ ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว ขณะที่แคนาดาก็เสนอให้เธอไปลี้ภัยได้ แต่ยังต้องรอว่า ท้ายที่สุดเธอจะไปประเทศไหน

ทั้งนี้ ราฮาฟหลบหนีจากครอบครัวเพื่อจะไปยังออสเตรเลีย แต่ถูกกักตัวเมื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเธอเล่าว่า เธอเคยถูกครอบครัวขังอยู่ในห้องนานถึง 6 เดือน ถูกพี่ชายทำร้ายร่างกาย หลังตัดผมและเลิกนับถือศาสนาอิสลาม

ล่าสุด ทวิตเตอร์ของราฮาฟ @rahaf84427714 หายไปแล้ว แต่โซฟี แมคนี ผู้สื่อข่าว ABC News ที่เข้าไปอยู่กับราฮาฟที่ห้องพักในสุวรรณภูมิตั้งแต่ราฮาฟยังเสี่ยงจะถูกส่งกลับประเทศ ระบุว่า ราฮาฟปลอดภัยดี แล้วเธอจะกลับมาใช้ทวิตเตอร์ใหม่ โดยช่วงที่ผ่านมาราฮาฟได้รับข้อความขู่ฆ่าจำนวนมาก ตอนนี้ราฮาฟจึงขอพักก่อน

มีผู้ลี้ภัยได้ตั้งถิ่นฐานใหม่น้อยกว่า 1% ต่อปี

กรณีของราฮาฟเป็นกรณีที่กระบวนการขอลี้ภัยและตั้งถิ่นฐานใหม่ดำเนินไปอย่างเร่งด่วนมาก แต่ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทุกคนจะได้รับสิทธิเดียวกันนี้ โดยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เปิดเผยว่า ทุกปี มีผู้ลี้ภัยน้อยกว่าร้อยละ 1 จากผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะทั่วโลก หลายคนต้องรอทั้งชีวิตให้ประเทศที่สามยอมรับพวกเขาไปตั้งถิ่นฐานใหม่

กระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยและตั้งถิ่นฐานใหม่มักมีการประเมินโดยพิจารณาจากความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ลี้ภัย คนที่เสี่ยงอันตรายหรืออ่อนแอที่สุดจะได้รับพิจารณาก่อน ขณะที่ผู้ลี้ภัยคนอื่นอาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป

ด้านกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ทางการออสเตรเลียพิจารณากรณีของราฮาฟตามกระบวนการปกติ เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่ส่งมาจาก UNHCR ไม่มีการปฏิบัติต่อกรณีราฮาฟพิเศษไปกว่ากรณีอื่น

ส่วนผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียอีกรายหนึ่งซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษของไทยในขณะนี้ คือ 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน วัย 25 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินราชการ ในขณะที่มีการประท้วงรัฐบาลบาห์เรนเมื่อปี 2555 แต่เขายืนยันว่า ขณะเกิดเหตุกำลังแข่งขันฟุตบอลถ่ายทอดสดอยู่ ไม่มีทางจะไปก่อเหตุได้ แต่เขากลับถูกจับกุมและทำร้ายร่างกาย เพราะครอบครัวของเขามีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์เชื้อพระวงศ์บาห์เรน

ฮาคีมขอลี้ภัยการเมืองไปยังออสเตรเลีย และได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวร ทั้งยังมีการทำสัญญาเป็นนักเตะประจำให้กับสโมสรฟุตบอลออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560 ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิของไทยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 หลังจากที่เขาตั้งใจเดินทางมาท่องเที่ยวฮันนีมูนกับภรรยา และขณะนี้ฮาคีมก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

ที่มา : CNN