ไม่พบผลการค้นหา
ชีวิตผู้คนทุกวันนี้สะดวกสบายขึ้นมาก อาหาร สินค้า แม่บ้าน ช่างซ่อมแอร์ ฯลฯ สามารถสั่งทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้โดยง่าย ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มส่งอาหารและสินค้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้ทุกบริษัทยังประสบภาวะขาดทุนสูงเพราะการแข่งขันในตลาดเข้มข้นไม่หยุดหย่อน แต่สำหรับสถานะของ ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ กลับยังมีความไม่ชัดเจนในทางกฎหมาย และไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนแรงงานในระบบ

กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการทำกฎหมายใหม่รองรับ ‘แรงงานนอกระบบ’ ท่ามกลางการรวมตัวของไรเดอร์ส่งอาหารของบริษัทต่างๆ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการรวมกลุ่มส่งเสียงเรียกร้องต่อรอง ‘ค่ารอบ’ รวมถึงเรื่องสวัสดิการประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ อยู่บ่อยครั้ง

ถามว่า ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ โดยเฉพาะไรเดอร์ส่งอาหารมีจำนวนเท่าใด ตัวเลขยังไม่เป็นที่แน่ชัด คนเหล่านี้ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนของ ‘แรงงานนอกระบบ’ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า มีอยู่ราว 20.4 ล้านคน (ปี2565) ซึ่งกินความมากมายทั้งแรงงานภาคเกษตร แรงงานฟรีแลนซ์ แรงงานที่ทำงานกับครอบครัว หาบเร่แผงลอยนั่นก็ใช่ แรงงานนอกระบบจะไม่มี ‘นายจ้าง’ ไม่มีสัญญาจ้างงานแบบลูกจ้าง-นายจ้าง และไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานต่าง ๆ

 กล่าวเฉพาะ 'ไรเดอร์' งานวิจัย 'โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพของคนทำงานแพลตฟอร์ม' ของ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2565) สำรวจคนทำงานแพลตฟอร์มในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 6 จังหวัด คือ ชลบุรี อุยธยา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี จากตัวอย่างเกือบ 1,000 ราย พบว่า ส่วนใหญ่จบการศึกษา ม.ต้น-ม.ปลาย ส่วนคนที่จบปริญญาตรีก็มีอยู่ถึง 24%

พวกเขา 70% มีรายได้ 15,000-30,000 บาทต่อเดือน อีก 26% มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ในจำนวนที่สำรวจพบว่า 80% ทำงานแพลตฟอร์มเป็นอาชีพหลักอาชีพเดียว ไม่ได้ทำอาชีพเสริม

สำหรับการทำงานนั้นพบว่า ไรเดอร์ 41% ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็มี 36% ที่ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ถามว่าจำนวนชั่วโมงต่อวันมากแค่ไหน ส่วนใหญ่ 70% ทำงาน 6-10 ชั่วโมง ที่เหลือทำมากกว่าบ้าง น้อยกว่าบ้าง

Copy of ZU9A0922.JPG

เมื่ออาชีพ ‘ไรเดอร์’ กลายเป็นอาชีพหลักของคนจำนวนไม่น้อย และสถานะทางกฎหมายไม่ชัดเจน ราวกับเป็น ‘แรงงานอิสระที่ทำงานประจำ’ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานในยุครัฐมนตรี ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ ได้ริเริ่มจัดทำกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ จนเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2564 ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยกฤษฎีกาได้ปรับปรุงเพิ่มเติมจนกระทั่งเปิดรับฟังความคิดเห็น เมื่อเดือน ม.ค.2566 - ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ...

บนความคาดคาดหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะอุดช่องว่างการคุ้มครอง ‘แรงงานนอกระบบ’ ทั้งหมด และโดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการที่หาจุดลงตัวได้ยากสำหรับธุรกิจแพลตฟอร์ม


ผลงานโบว์แดง รมว.แรงงาน นวัตกรรม ‘เงินกู้’ แรงงานนอกระบบ

รัฐมนตรีสุชาติเองมองว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นงานชิ้นโบว์แดง และเป็นหมุดหมายที่เขาจะใช้ในการ ‘หาเสียงเลือกตั้ง’ ด้วย

“เรื่องหนึ่งที่ผมทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ชัดเจนที่สุด พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ เข้าสู่ ครม.แล้ว อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาเพื่อเข้าสภา หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 21 ล้านชีวิต กู้หัวปิงปองอย่างเดียว ไม่มีใครการันตีบัญชีเงินฝากกู้แบงก์ไม่ได้ คนจนไม่มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าสู่สถาบันการเงิน นี่คือสิ่งที่ลุงตู่สั่งผมตั้งแต่ผมเป็นรัฐมนตรี สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผมเขียนกฎหมายลูกรอไว้แล้ว ผมขอเชื้อแรกไว้ ผมบอกกับลุงตู่ไว้แล้วว่า ผมขอ 30,000 ล้านบาทให้สมาชิกกู้ยืม ค้ำไขว้กัน” สุชาติให้สัมภาษณ์ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อดูเนื้อหาในร่างกฎหมาย จะพบว่า หลักใหญ่ใจความเป็นการคุ้มครองการรวมกลุ่ม การตั้งสหภาพ และการฟ้องคดีของแรงงานอิสระ, การเปลี่ยนแปลงสัญญจ้างต้องมีการแจ้งแรงงานล่วงหน้า, มีกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ ‘พนักงานตรวจแรงงานอิสระ’

ที่สำคัญ มีการกำหนดการหักเงินจากทั้งบริษัทแพลตฟอร์มและแรงงานแพลตฟอร์ม ฝ่ายละ 3% ของค่าตอบแทน รวมกับเงินอุดหนุนจากรัฐซึ่งไม่ระบุสัดส่วน เพื่อนำเข้า ‘กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ’ กล่าวโดยสรุป กองทุนนี้แบ่งออกเป็น 3 ขา

1. เงินไม่น้อยกว่า 20% นำไปซื้อประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพให้แรงงานแพลตฟอร์มทุกคนที่เป็นสมาชิก

2. ให้ทุนกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มเสนอ

3. นำไปปล่อยกู้ให้กับแรงงาน ซึ่งรัฐมนตรีสุชาติบอกว่าจะใช้เงินถึง 30,000 ล้านบาท

คนที่จะทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนนี้ คือ ‘คณะกรรมการบริหารกองทุน’ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย

  • ผู้แทนกระทรวงการคลัง
  • ผู้แทนสำนักงบประมาณ
  • ผู้แทนคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
  • ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คนที่ รมว.แรงงานแต่งตั้ง เชี่ยวชาญการเงิน เศรษฐศาสตร์ การลงทุน กฎหมาย
  • ผู้แทนองค์กรแรงงานอิสระไม่เกิน 3 คนที่ รมว.แรงงานแต่งตั้ง

คำถามสำคัญพุ่งตรงไปยังผู้ประกอบการอย่างบริษัทแพลตฟอร์มซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องนี้โดยตรงว่า มองเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้อย่างไร สามารถตอบโจทย์สวัสดิการแรงงานแพลตฟอร์มได้แค่ไหน ‘วอยซ์’ พูดคุยกับ ‘อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์’ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai  

 
กฎหมายเน้นแต่แรงงานแพลตฟอร์ม 3 แสนคน

อิสริยะ เริ่มต้นอธิบาย ‘สถานะแรงงานแพลตฟอร์ม’ ที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างกฎหมายของไทยว่า เมืองไทยกฎหมายแรงงานค่อนข้างล้าหลัง มีเพียง 2 รูปแบบคือ 1.พนักงาน full time มีสัญญาจ้าง เข้าระบบประกันสังคม 2.ฟรีแลนซ์ ซึ่งอยู่นอกระบบไปเลย แต่ในต่างประเทศจะมีแบบที่ 3 ที่อยู่ตรงกลางด้วย ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า ‘independent contractor’ หรือกึ่งจ้างกึ่งอิสระ

มาร์ค Lineman
  • ‘อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์’ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai  

“ตอนแรกกฎหมายแรงงานนอกระบบจะทำกองทุนใหม่ขึ้นมา แรงงานนอกระบบทั้งหมดจะได้รับความคุ้มครอง เขียนคลุมไว้ทั้งหมด มีการปรับปรุงมา 3-4 เวอร์ชัน แต่เวอร์ชันล่าสุดโฟกัสเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์ม 

“โดยหลักการ ร่างกฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนจะครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งหมด ตัวเลขที่มีคือ 19-20 ล้านคน แต่เนื้อข้างในแทบจะพูดถึงแรงงานแพลตฟอร์มอย่างเดียว ซึ่งมีแค่ประมาณ 3 แสน ซึ่งทำให้ดูแปลก” อิสริยะพูดถึง ‘การเลือกปฏิบัติ’ ของร่างกฎหมาย 


เห็นด้วยรัฐจัดการสวัสดิการไรเดอร์ แต่หัก 3% ไม่มีงานวิจัยรองรับ

“หากเทียบกับการจ้างงาน full time ที่มีการตกลงค่าตอบแทนและเนื้อหางานที่จำกัด แรงงานแพลตฟอร์ม รูปแบบจะต่างออกไป ว่ากันตามตรงในทางกฎหมาย คือ การจ้างงานรายชิ้น ค่าตอบแทนไรเดอร์รอบหนึ่งของไลน์แมนในกรุงเทพฯ อาจจะจ่ายเท่ากับเจ้าอื่นหรือน้อยกว่า” อิสริยะ กล่าว

ตัวแทนจากไลน์แมนขยายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้างกับไรเดอร์คือ จ้างไปส่งของ 1 ครั้ง ไรเดอร์ทำงานส่งของ 1 รอบแล้วปิดแอพ สามารถไปทำงานอื่นได้ ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของไรเดอร์มีหลากหลาย ตั้งแต่ทำอาทิตย์ละ 1 รอบ หรือทำวันหนึ่ง 20 รอบ ก็แล้วแต่ความต้องการของไรเดอร์แต่ละคน

 “จะเห็นว่ารูปแบบแตกต่างจากงาน full time เยอะ แพลตฟอร์มไม่รู้ว่าแต่ละวันจะมีไรเดอร์เยอะหรือเปล่าพร้อมๆ กับไม่รู้ว่าวันนี้จะมีออร์เดอร์สั่งอาหารเยอะหรือน้อย พอความสัมพันธ์เป็นแบบนี้มันไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบพนักงาน full time ทำให้กำหนดเรื่องสวัสดิการได้ยาก สวัสดิการจะคำนวณยังไง เพราะแต่ละคนทำไม่เท่ากัน”

อย่างไรก็ดี แม้ตามกฎหมายไม่มีการกำหนดว่า การจ้างงานรายชิ้นต้องมีสวัสดิการ แต่แพลตฟอร์มทุกเจ้าก็จะมีสวัสดิการเสริมให้ไรเดอร์ รายละเอียดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเจ้า

“สวัสดิการที่ให้ ส่วนใหญ่ใช้ระบบจัด tier เป็นลำดับ ถ้าไรเดอร์ขับถึงปริมาณ x รอบในแต่ละเดือน จะได้ประกันอุบัติเหตุ ขับไปถึง y รอบจะได้ประกันสุขภาพ ตัวเลขที่เหมาะสมควรจะเป็นกี่รอบคงต้องมาคุยกัน ต้องมีคนมาศึกษาจริงๆ ว่าควรเป็นเท่าไร เพราะบางคนขับวันละรอบ หรืออาทิตย์ละรอบแล้วได้ประกันสุขภาพ มันก็ไม่คุ้มในมุมต้นทุนของผู้ประกอบการ” อิสริยะกล่าวถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

สิ่งที่ร่างกฎหมายฉบับนี้พยายามจะทำ คือ ซื้อประกันให้ไรเดอร์ทุกคน ไม่ว่าขับมากหรือขับน้อยก็ตาม

“รัฐเห็นว่าเรื่องสวัสดิการควรเป็น universal ทุกคนควรจะได้ แล้วบอกว่า บริษัทคุณไม่ต้องไปซื้อประกันให้ไรเดอร์แล้ว คุณจ่ายเงินเข้ากองทุน เดี๋ยวกองทุนจะไปซื้อบริการสุขภาพเอง ลักษณะเดียวกับประกันสังคม เพื่อให้กับไรเดอร์ทุกคน โดยหลักการแล้วโอเค สมมติผมต้องซื้อประกันให้ไรเดอร์ 5-6 หมื่นคน ผมก็จะได้ราคาหนึ่ง ถ้ารัฐตั้งกองทุนแล้วไปซื้อประกัน อาจจะซื้อทีหนึ่ง 3 แสนคน ก็อาจได้ราคาที่ถูกกว่า จัดการดีกว่า”

มาร์ค Lineman

“คำถามที่เราถามคือ เงินที่หัก 3% ตัวเลขนี้มาจากไหน กระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานที่ออกกฎหมายไม่มีการศึกษาวิจัยรองรับเลยว่า หัก 3% แล้วจะเวิร์ค ตั้งกองทุนระดับนี้ ขนาดของมันเกือบเท่ากองทุนประกันสังคม แล้วคิดเองว่า 3% จะพอ โดยไม่มีงานศึกษาใดๆ รองรับ หัก 3% กี่คน ไรเดอร์แต่ละคนได้เงินวันละกี่รอบโดยเฉลี่ย แล้วเอาเงินไปบริหารจะคุ้มหรือไม่คุ้ม” 

 
กฎหมายไม่ชัดเจน แพลตฟอร์มอื่นๆ ทำอย่างไร ?

อีกคำถามก็คือ ถ้าเป็นรูปแบบงานที่เหมือนกับไรเดอร์ เช่นเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับงานวิ่งส่งเอกสาร แรงงานพวกนี้มีที่ทางในกฎหมายนี้ไหม สวัสดิการครอบคลุมเขาหรือเปล่า แล้วถ้าไรเดอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มโดนหัก 3% จากค่ารอบ มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ทำงานแบบเดียวกันเป๊ะ แค่ไม่ผ่านแพลตฟอร์ม เขาจะโดนหัก 3% หรือเปล่า แม้กฎหมายบอกว่าคนพวกนี้สามารถสมัครสมาชิกกองทุนเองเพื่อจ่ายสมทบได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะหัก 3% มันมีรูโหว่อยู่เยอะ

“ต้องบอกด้วยว่าเรื่องนี้งอกมาทีหลัง ร่างกฎหมายฉบับแรกๆ แทบไม่ได้พูดถึงดีเทลพวกนี้ เพียงพูดคลุมๆ ว่ามีคณะกรรมการแรงงานอิสระแห่งชาติ มีกองทุน ดีเทลที่เหลือไปรอรัฐมนตรีประกาศในกฎหมายลูก ร่างฉบับแรกเน้นเรื่องการรวมกลุ่มแรงงานนอกระบบ สิทธิที่ควรจะได้ เขียนเน้นไปที่หลักการภาพรวม แต่ร่างฉบับล่าสุดมี 3% โผล่มายังไงก็ไม่ทราบเหมือนกัน”

“ในมุมผู้ประกอบการ รู้สึกว่ากฎหมายไม่บอกเลยว่าจะจัดการยังไงในส่วนของสวัสดิการ ถ้ากระทรวงแรงงานเอาสถาบันวิจัยสัก 2-3 แห่งมาศึกษา เทียบกันดูว่ารายละเอียดคืออะไร ควรจัดการอย่างไร แบบนี้ยังพอเห็นความเป็นไปได้ รัฐอยากทำกองทุนสวัสดิการสักอันหนึ่ง เราเข้าใจ แต่เราไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย” อิสริยะ กล่าว

นอกจากนี้บริษัทแพลตฟอร์มยังมีคำถามถึง ‘แรงงานแพลตฟอร์มประเภทอื่นๆ’ ที่ไม่ใช่ไรเดอร์ ไม่ว่าแม่บ้าน ช่างแอร์ แม้กระทั่งบริการนวด แรงงานลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ยังเห็นไม่ชัดเหมือนบริการเดลิเวอรี่

 “คำถามคือ ถ้าผมเป็นแพลตฟอร์มเรียกแม่บ้าน เรียกช่างแอร์ การจัดการสวัสดิการควรจะเหมือนหรือต่างจากไรเดอร์ ตัวอย่างคือแรงงานแม่บ้าน อุบัติเหตุบนถนนอาจไม่มีเท่า แต่ไปมีปัญหาเรื่องอื่น เช่น ปัญหา harassment (การล่วงละเมิด) ความต้องการการคุ้มครองก็จะแตกต่างจากไรเดอร์อีก แล้วยังมีแรงงานฟรีแลนซ์อื่นๆ เช่น รับเขียนนิยายหรือกราฟฟิคดีไซเนอร์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อันนี้นับเป็นแรงงานแพลตฟอร์มหรือเปล่า เพราะว่านิยายออนไลน์ก็ต้องขายบนแพลตฟอร์ม แบบนี้ต้องโดนหัก 3% เข้ากองทุนด้วยไหม แล้วถ้าเป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศจะบังคับใช้การหัก 3% ยังไง เพราะหลักการคือเป็นแรงงานอิสระเหมือนกัน ควรได้รับการคุ้มครองสวัสดิการเหมือนกัน แต่พอเป็นไรเดอร์หักแพลตฟอร์มไทย พอเป็นอาชีพอื่นในแพลตฟอร์มต่างประเทศ คุณเก็บไม่ได้ แล้วแพลตฟอร์มไทยจะไปแข่งกับชาวบ้านเขาได้ยังไง”

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมโดนเก็บ 3% ถ้าอย่างนั้นไปตั้งแพลตฟอร์มที่สิงคโปร์ ไม่มีตัวตนในไทย แต่รับงานผ่านแอพในไทยได้ แล้วแพลตฟอร์มที่อยู่ต่างประเทศก็ได้รับการปฏิบัติต่างกับแพลตฟอร์มในไทย ส่วนต่าง 3% นี้มันก็มีผลต่อการแข่งขัน มีประเด็นซับซ้อนเยอะ ซึ่งเราไม่เห็นคำอธิบายตรงนี้ในร่างกฎหมายเลย” อิสริยะยกตัวอย่างความสงสัยจากมุมผู้ประกอบการไทย  

 
คำถามใหญ่ ทำไมไม่ขยายจาก ‘กองทุนประกันสังคม’ 

นอกจากนี้เขายังตั้งคำถามว่า กองทุนลักษณะนี้คล้ายกับระบบกองทุนประกันสังคม ที่ผ่านมามีงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เคยศึกษาและนำเสนอว่า สำหรับแรงงานแพลตฟอร์มและฟรีแลนซ์ รัฐควรขยายระบบประกันสังคมเพิ่มเติม จากที่ตอนนี้มีอยู่ 3 แบบ คือ มาตรา 33 ,39,40 ให้ทำเพิ่มแผน 4 และแผน 5 สำหรับกลุ่มนี้

มาร์ค Lineman

“ในมุมของการบริหารเงินสาธารณะ ถ้ามันมีกองทุนที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว มีสาขาสำนักงานประกันสังคมกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ทำไมไม่ทำบนฐานนี้ แล้วให้สำนักงานประกันสังคมเขาจัดการไป ถ้าไปตั้งกองทุนใหม่ ก็ต้องตั้งสำนักงานใหม่ มีสำนักงานกองทุนแรงงานนอกระบบงอกขึ้นมาอีกทุกจังหวัด ซ้ำซ้อนกับกับโครงสร้างของสำนักงานประกันสังคม”

“อีกสิ่งที่กองทุนแรงงานนอกระบบต่างกับประกันสังคมในร่างฉบับล่าสุดคือ ไม่มีเพดานการเก็บเงินสมทบ อย่างของประกันสังคมยังมี cap การหักเงินสมทบที่ 750 บาท แต่กองทุนนี้ไม่มีเพดาน แปลว่าไรเดอร์วิ่งเท่าไรก็ต้องหักทั้งหมด” อิสริยะกล่าว

 ทั้งนี้ งานศึกษาของทีดีอาร์ไอเมื่อปี 2564 นำเสนอว่า อุปสรรคในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานนอกระบบคือ รายได้ไม่แน่นอนจึงไม่สามารถสมทบเป็นรายเดือนได้ สถานะแรงงานคลุมเครือ รวมถึงสิทธิประโยชน์ไม่ตรงความต้องการ จึงนำเสนอให้กองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 2 ชุดสิทธิประโยชน์

โดยเพิ่ม ม.40(4) และ 40 (5) ซึ่งมีระดับสิทธิประโยชน์และเงินสมทบสูงกว่ามาตรา 40 ปัจจุบัน โดย ม.40(4) คือ 468 บาทต่อเดือน ม.40(5) คือ 681 บาทต่อเดือน ซึ่งยังต่ำกว่า ม.33 ปัจจุบัน ส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะได้มากกว่า ม.40 ก็คือ เงินชดเชยรายได้ตอนเจ็บป่วย , เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 800 บาท, คูปองศูนย์เด็กเล็กรายเดือนจนบุตรอายุ 6 ปี, เงินสงเคราะห์ลาคลอดสำหรับบิดาหรือมาดา, สิทธิในการเลือกบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเกษียณ, สิทธิค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน, เงินสมทบสำหรับการดูแลระยะยาว, เงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไปรักษา รพ.ไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังขยายความครอบคลุมสิทธิประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยขยายความคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทนโดยให้ผู้จ้างเป็นผู้จ่ายสมทบผ่านการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้ประกันตนเลือกความถี่ จำนวนเงินที่ต้องการสมทบได้เอง เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสิทธิประโยชน์ได้


ตั้งกองทุนปล่อยกู้ หน้าที่-ความเชี่ยวชาญกระทรวงแรงงาน ?

 อิสริยะยังขยายความถึงตั้งกองทุนมาเพื่อสร้างสวัสดิการว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นประเด็นหลักที่ไรเดอร์เรียกร้อง และบริษัทก็เห็นความสำคัญเช่นเดียวกัน แต่ร่างกฎหมายนี้กลับเขียนกำหนดเพดานว่า เงินกองทุนจะกันไว้สำหรับสวัสดิการ ‘อย่างน้อย 20%’ เท่านั้นทั้งที่สวัสดิการเป็นเรื่องหลัก

“ถ้ารัฐจะทำกองทุนสวัสดิการเรื่องอุบัติเหตุ เรื่องการทำงาน อันนี้คิดว่าโอเคในหลักการ แต่ถ้าจะเอาเงินที่เก็บจากไรเดอร์ เก็บจากผู้ประกอบการ เก็บจากลูกค้า ไปปล่อยกู้เป็นหลักแทน อาจมีคำถามเยอะ เพราะรัฐก็มีสถาบันการเงินอื่นอีกจำนวนมาก ตอนช่วงโควิด รัฐก็เคยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับร้านค้าหรือไรเดอร์นอกเหนือจากระบบกู้ปกติได้ แต่กระบวนการทั้งหมดทำผ่านธนาคาร”

“เราไม่รู้ว่าโมเดลธุรกิจมันเวิร์คไหม เก็บ 3% แค่เรื่องสวัสดิการก็ไม่รู้เงินจะพอไหม แล้วจะเอาไปให้ทุน-ปล่อยกู้ด้วย ผู้อนุมัติปล่อยกู้คือผู้บริหารกองทุน ต้องกลับไปถามว่า ฟังก์ชันของกองทุนนี้จะทำให้กระทรวงแรงงานกลายเป็นสถาบันการเงินหรือเปล่า มันใช่หน้าที่ของกระทรวงแรงงานหรือเปล่า การปล่อยกู้ต้องมีแผนกตามหนี้ หนี้เสียจะทำยังไง มันไม่น่าจะใช่ภารกิจและความเชี่ยวชาญของกระทรวงแรงงาน หรือถ้ารัฐอยากจะปล่อยกู้จริงๆ ตั้งธนาคารแรงงานแห่งชาติ ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวเลยดีกว่าไหม ให้เป็นสถาบันการเงินอย่างจริงจัง เพราะมันต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษในการจัดการเงินซึ่งมีดีเทลอีกเยอะมาก” อิสริยะแสดงความกังวล

 
ไม่กังวลจัดตั้งสหภาพ ปกติก็เจรจากันอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการตั้งสหภาพแรงงานนอกระบบซึ่งร่างกฎหมายนี้ผลักดันและให้ความคุ้มครอง รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai  กล่าวว่า 

Copy of ZU9A0782.JPG

“ทุกวันนี้ก็มีการคุยกันอยู่ตลอด มีกลุ่มแรงงานหลายกลุ่มที่รวมกลุ่มกันโดยธรรมชาติ แนวทางการรวมกลุ่มของไรเดอร์มีหลายแบบ ที่เจอบ่อยคือ รวมตามพื้นที่ทำงาน เช่น บางนา รังสิต ของแต่ละบริษัท กับอีกแบบคือ กลุ่มที่เป็นองค์กรหรือสมาคมที่เป็นทางการหน่อย เราก็คุยอยู่เรื่อยๆ อันไหนที่แก้ได้ก็แก้ อันไหนยังไม่ได้ก็มีการคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน” อิสริยะ กล่าว 

ทั้งหมดนี้คือคำถามจากมุมมองของผู้ประกอบการ ซึ่งเห็นตรงกันกับภาครัฐใน ‘หลักการ’ ของการจัดสวัสดิการให้แรงงานนอกระบบโดยเฉพาะไรเดอร์ แต่ยังมีข้อสงสัยมากมายถึง ‘การบริหารจัดการ’ โดยเฉพาะการบริหารกองทุนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง มีช่องโหว่ เต็มความเร่งร้อน

แม้โดยหลักการของร่างกฎหมายนี้จะช่วยเพิ่มความคุ้มครองให้แก่แรงงานอิสระ แต่มันจะเป็นจริง มีประสิทธิภาพ ตรงเป้าประสงค์หรือไม่ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะ ‘ปีศาจอาจอยู่ในรายละเอียด’