ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และสมาชิก OPEC อื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันมากกว่า 40% ของโลก ได้เข้าประชุมกันทางออนไลน์ เมื่อช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (30 พ.ย.) ก่อนที่ในการประชุมจะมีการออกแถลงการณ์สรุปการประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจของประเทศต่างๆ
นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการเชิญบราซิลเข้ามาเป็นสมาชิกของ OPEC โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานบราซิลคาดหวังว่า บราซิลจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก OPEC ในช่วงเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้
หลังจากการประกาศลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจของ OPEC ราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวลดลง หลังจากราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มาตรฐานสำหรับสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเดือน ก.พ. ปรับตัวลดลงกว่า 2% ที่ระดับต่ำกว่า 81 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2,850 บาท) ต่อบาร์เรล ณ เวลา 18:36 น.ตามเวลามาตรฐาน
สมาชิก OPEC เข้าพบกันเพื่อหารือเกี่ยวกับผลผลิตน้ำมันในปี 2567 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเกินดุลที่อาจเกิดขึ้น และเนื่องจากซาอุดีอาระเบียตัดสินใจ ที่จะลดปริมาณการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันที่จะสิ้นสุดลงในเดือนหน้า
OPEC ระบุในแถลงการณ์ว่า ชาติสมาชิกผู้ผลิตน้ำมัน 8 ชาติ ตกลงที่จะควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันทั้งหมดอยู่ที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นปริมาณส่วนขยายของการลดปริมาณน้ำมันโดยสมัครใจโดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ การปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม 900,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นไปตามคำมั่นสัญญาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการลดการส่งออกเชื้อเพลิงจากรัสเซีย 200,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณน้ำมันที่เหลือจะถูกแบ่งลดการส่งออกในอีก 6 ประเทศ
อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่าการลดปริมาณการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจของรัสเซีย จะรวมถึงน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวว่า ทางประเทศตกลงที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 163,000 บาร์เรลต่อวัน พร้อมกันนี้ อิรักกล่าวว่าพวกเขาจะลดปริมาณการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมอีก 220,000 บาร์เรลต่อวันในไตรมาสแรก
ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คูเวต คาซัคสถาน และแอลจีเรีย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่กล่าวว่าการปรับลดการผลิตน้ำมันจะค่อยๆ คลี่คลายลงหลังจากไตรมาสแรก ภายใต้สภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย
ตามประมาณการล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซาอุดีอาระเบียต้องมีรายได้จากการขายน้ำมันเกือบ 86 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,030 บาท) ต่อบาร์เรล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้จ่ายที่วางเอาไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียกำลังพยายามให้ทุนสนับสนุนการยกเครื่องเศรษฐกิจของประเทศ การลดการพึ่งพาน้ำมัน และการสร้างงานให้กับประชากรวัยหนุ่มสาว
ในขณะที่ผู้ซื้อน้ำมันจากประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ ต่างออกมาแสดงความยินดีกับราคาน้ำมันที่ลดลง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ต้องพึ่งพารายได้จากภาคพลังงานเป็นอย่างมาก กำลังพยายามหยุดยั้งการปรับตัวราคาน้ำมันขาลงเอาไว้ ทั้งนี้ การบรรลุฉันทามติในหมู่สมาชิก OPEC ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทางกลุ่มต้องเผชิญกับคำถามว่า พวกเขาควรแบ่งการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงในกลุ่ม 23 ประเทศสมาชิกอย่างไร
มีการคาดการณ์ว่า OPEC จะมีการประชุมอีกครั้งในเดือน มิ.ย.ปีหน้า และบราซิล ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกแล้วในการประชุมครั้งนั้น โดย อเล็กซองเดร ซิลเวรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานบราซิล กล่าวว่าบราซิลกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OPEC แม้ว่าลักษณะการมีส่วนร่วมของบราซิลจะไม่ชัดเจนในทันทีก็ตาม
ที่มา: