1.ลอบสังหารโต๊ะอิหม่าม สะมาแอ เจะมะ ประจำมัสยิดบ้านท่าราบ จ.ปัตตานี
2.ยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกาหนั๊วะ จ.นราธิวาส
3.ลอบสังหารโต๊ะอิหม่าม ดอเลาะ สะไร ประจำมัสยิดปูโปะ จ.นราธิวาส
4.การปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มก่อการในเขตโรงเรียนบ้านตือกอ จ.นราธิวาส
และ 5.บุกเข้าไปในวัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก จ. นราธิวาส สังหาร พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง เวทหามะ) เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพและเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และพระลูกวัดจนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
นำไปสู่การตั้งคำถามถึงต้นสายปลายเหตุว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร เพราะเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนใหม่ เพิ่งพบกับ มร.ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย อย่างเป็นทางการครั้งแรก
(รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch)
'วอยซ์ ออนไลน์' สัมภาษณ์ นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch อธิบายถึงเหตุไฟใต้ที่ลุุกโชนขึ้นอีกครั้ง โดยเขาเริ่มจากการตั้งสมมติฐาน ตามที่นักวิเคราะห์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนใต้ประเมินกันในภาพรวมว่า มี 5 สาเหตุหลักคือ
1.การปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยและโครงสร้างการทำงานของฝ่ายรัฐไทยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 ท่าทีของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข คนใหม่ ก็อยากเปิดกว้างการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ กับกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วมพูดคุย
“ประกอบกับกระแสข่าวในพื้นที่ รายงานถึงแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ให้กลุ่มบีอาร์เอ็นบางส่วนที่ยังไม่เข้าร่วมการพูดคุยมาร่วมพูดคุย แม้การให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการจะระบุว่า รัฐไทยและมาเลเซีย ไม่ต้องการให้มีการกดดันก็ตาม”
2.เหตุรุนแรงเป็นไปตามวงรอบตามปกติ ของลักษณะการโจมตีแบบกองโจร
3.คล้ายสมมติฐานที่ 2 แต่เป็นการใช้กำลังโต้ตอบเอาคืนกันไปมา
4.นัยยะทางการเมือง ผ่านสัญลักษณ์ของรัฐไทย ด้วยการโจมตีเจ้าหน้าที่และเป้าหมายอยู่ทีพลเรือนอ่อนแออย่างครู ซึ่งความโน้มเอียงของเหตุรุนแรงในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เห็นแบบแผนว่าอยู่ละแวกโรงพยาบาล ซึ่งกติกาสงครามสากล โรงพยาบาลคือข้อยกเว้น จึงอาจตีความไปยังข้อเรียกร้องหนึ่งที่สำคัญคือ กลุ่มก่อความไม่สงบ อยากเร่งเปิดกว้างให้ตัวแทนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเทศที่สาม หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานการพูดคุยมากกว่านี้
และ5.พลวัตตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ที่อุดมด้วยความขัดแย้งอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ในความขัดแย้งใหญ่นี้
รอมฎอน อธิบายว่า สมมติฐานทั้ง 5 คือความเป็นไปได้ของวงรอบเหตุรุนแรงช่วงต้นปีนี้ แต่ยังไม่อาจชี้ชัดหรือให้น้ำหนักไปยังด้านในด้านหนึ่งได้เป็นพิเศษ การก่อความรุนแรงแต่ละครั้งไม่มีการสื่อสารหรือคำอธิบายตามมา จึงต้องประเมินตามบริบทและเหตุรุนแรงในช่วงนั้นๆ ประกอบกับข่าวสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
เมื่อให้วิเคราะห์ในมุมมองผู้เกาะติดกระแสข่าวความไม่สงบอย่างตอเนื่อง รอมฎอน ตีความว่า เรื่องใหญ่อย่างหนึ่งของรัฐบาล คสช.ในการพูดคุยคือ การเปลี่ยนชื่อจากการพูดคุย "สันติภาพ" เป็น "สันติสุข" เพื่อจำกัดไม่ให้ทิศทางการพูดคุยไปสู่ทิศทางการยกระดับให้ต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศนอกจากรัฐบาลมาเลเซีย มาร่วมอำนวยความสะดวก ซึ่งสวนทางกับข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่อยากให้มีองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นคนกลางรับฟังอีก
“นี่คือความไม่ลงตัวของทีโออาร์ร่วมกับระหว่าง รัฐไทย ปาร์ตีเอ และ มาราปาตานี ปาร์ตี้บี อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ safety zone ที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา”
(มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซีย เมื่อครั้งเยือนไทย เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2561)
สำหรับการพบปะระหว่างฝ่ายไทยและมาเลเซียเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น บรรณาธิการ DSW มองว่า นายตัน สรี หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวก เร่งรีบขีดเส้นตาย 2 ปีจบ จากฝั่งรัฐบาลมาเลเซีย ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้เช่นเดียวกันว่า เรื่องนี้ก็อาจถูกนำมาเป็นเรื่องการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งข้อความการสื่อสารการพบกันอย่างเป็นทางการของรัฐไทยและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เรื่องการยุติปัญหาสงครามตัวแทน ที่มาเลเซีย ต้องเผิชญกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งลงนามกันที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 2532 ก็สะท้อนได้ 2 มุมคือ
มุมหนึ่ง นี่จะเป็นตัวแบบความร่วมมือยุติปัญหาความไม่สงบในครั้งนี้ โดยไม่ต้องพึ่งโมเดลของอาเจะห์ หรือไอร์แลนด์เหนือ
และ อีกมุมหนึ่ง นี่คือการทวงบุญคุณหรือต่างตอบแทนกัน เมื่อครั้งก่อนที่ตอนนั้น ไทยคือผู้อำนวยความสะดวก ในการจบปัญหาให้มาเลเซีย ซึ่งในยุคนั้น นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็เป็นนายกฯอยู่ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านายมหาเธร์ก็ได้ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับรัฐไทยอย่างเต็มที่เมื่อครั้งที่ มาเยือนไทยครั้งล่าสุด เข้าพบเพื่อนเก่าอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีนัยยะถึงการขอให้รัฐไทยไว้วางใจ
"บางฝ่ายก็มองว่า มหาเธร์ขีดเส้น 2 ปี ให้พอดีกับการลงจากอำนาจ ถือเป็นการทิ้งทวนตำนานทางการเมือง ทว่าก็นำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจให้กลุ่มก่อความไม่สงบ ที่กระแสข่าวในพื้นที่ระบุว่า แกนนำเริ่มลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ซึ่งก็อาจนำไปสู่การยกระดับปัญหาให้ซับซ้อนมีประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่เป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ต้องการ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง