ไม่พบผลการค้นหา
‘อมรัตน์’ย้ำจุดยืน ‘ก้าวไกล’ แก้ ม.112 ลดอัตราโทษหมิ่นพระมหากษัตริย์จากคุก 3 ปี เหลือไม่เกิน 1 ปีไม่มีกำหนดขั้นต่ำ ป้องกันใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง เว้นความผิดหากติชมโดยสุจริต วอนสภาฯ ร่วมมือหลังร่างแก้ไขถูกดองในสภาฯ

วันที่ 22 ม.ค. 2566 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงจุดยืนพรรคก้าวไกลต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ พรรคก้าวไกลจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแก้ไข มาตรา 112 โดยข้อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ของเราเป็นข้อเสนอที่พอจะพูดคุยกันกับทุกฝ่ายด้วยเหตุและผลได้ ทั้งนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าหากสภาผู้แทนราษฎรไม่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อช่วยกันแก้ไขให้กฎหมายนี้เป็นธรรมขึ้นได้ สังคมก็จะเหลือเพียงตัวเลือกสุดท้าย คือ การยกเลิก มาตรา 112 ไปอย่างถาวรตามข้อเรียกร้องของประชาชนนอกสภา

อมรัตน์ ระบุว่า หลังจากที่ร่างแก้ไข มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลถูกสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดองไว้เป็นเวลากว่า 9 เดือน (ยื่นเข้าสู่สภาฯ มาตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2564) มาวันนี้ สถานการณ์มีความหนักหนาสาหัส เร่งด่วนขึ้นจนถึงจุดวิกฤต ประชาชนถูกจับกุมคุมขัง เยาวชนถูกจับเข้าคุก ไม่ได้สิทธิประกันตัวนับร้อยคนด้วยข้อหา มาตรา 112 พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องขอให้ประธานสภาบรรจุวาระพิจารณาร่างแก้ไข มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเข้าสู่สภาเพื่อเริ่มการพิจารณาโดยทันที

สาระสำคัญการแก้ไข มา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการย้ายความผิดฐาน มาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

[1] ลดอัตราโทษลงอย่างมาก ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับแทนการจำคุก เพื่อให้ได้สัดส่วนกับความผิด 

  • ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี : แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 1 ปี หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์)
  • ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี : แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

[2] เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต

  • จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องคดีนี้ได้ : แก้ไข้ให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ รวมถึงกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

[3] บทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ

  • ยกเว้นความผิด หากเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • ยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ “และ” การพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน