ที่กระทรวงยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หลังจากกรมคุมประพฤติได้มีการทดลองระบบเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ที่ติดกำไลอีเอ็มแล้วจำนวน 39 ราย แยกเป็นผู้รอการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดฯ จำนวน 23 ราย ผู้ถูกคุมประพฤติ 7 ราย และผู้ที่ได้รับการพักโทษ 2 ราย และผู้ได้รับจากลดวันต้องโทษอีก 12 ราย
หลังจากนี้กรมคุมประพฤติจะทยอยติดกำไลอีเอ็มให้กับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม โดยคาดว่าจะใช้กำไลอีเอ็มปีละ 87,700 ราย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการนำกำไลอีเอ็มมาใช้นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาลดความแออัดในเรือนจำแล้วยังถือเป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม ดูแล ติดตามผู้กระทำผิด อีกทั้งยังทำให้สังคมมีความปลอดภัยด้วย
สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการพักโทษล็อตแรกทั้ง 3 กลุ่มจะมีจำนวน 3,000 คน มีทั้งผู้ต้องขังทั่วไปที่ได้รับการพักโทษ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติ และผู้ที่รอตรวจพิสูจน์ ซึ่งจะเป็นการทยอยปล่อย เพื่อติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการพิจารณาพักการลงโทษที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และยืนยันว่าการพักโทษจะไม่ใช้กับผู้ต้องหาในคดีที่ก่อความรุนแรง และเป็นอันตรายต่อสังคม
วิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาพักการลงโทษกล่าวว่า การพักโทษจะไม่ใช้กับนักโทษที่มีคดีอุกฉกรรจ์ และผู้ที่จะได้รับการพักโทษจะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงว่าจะกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกหรือไม่ และต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ เช่น ห้ามออกจากพื้นที่กำหนด ห้ามเข้าใกล้พื้นที่ต้องห้าม แต่การกำหนดเงื่อนไขจะไม่มีประสิทธิภาพเพราะต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมจำนวนมาก ดังนั้นกำไลอีเอ็มจึงสามารถนำมาใช้งานได้ โดยผู้ที่ถูกปล่อยตัวจะต้องติดกำไลอีเอ็มนาน 1 ปี ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะพบอัตราการกระทำผิดซ้ำมากที่สุด โดยปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 10 ในเวลา 3 ปี
รายงานข่าวระบุว่า รายชื่อเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับการพักโทษเพราะเงื่อนไขในคดีการเมืองมี 2 คน คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีต รมว.มหาดไทย และ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดว่า 12 ก.ย.นี้ สมศักดิ์จะลงนามในคำสั่ง
ทั้งนี้ ปลอดประสพ ปัจจุบันอายุ 75 ปี ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือนข้อหาโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค 2563 ขณะนี้ได้จำคุกแล้วเป็นเวลา 6 เดือน เป็นนักโทษชั้นดีและเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ
ส่วน ยงยุทธ ปัจจุบันอายุ 78 ปีเป็นผู้ต้องขังในคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2563 จำคุกมาแล้ว 8 เดือน เข้าเงื่อนไขได้ลดวันต้องโทษ เป็นนักโทษชั้นดีและเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ
โดย 12 ก.ย.นี้ ปลอดประสพ จะเข้ารับการติดกำไลอีเอ็ม จากสำนักงานงานคุมประพฤติเขต 7 ส่วนยงยุทธ จะเข้ารับการติดกำไลอีเอ็มที่สำนักงานคุมประพฤติเขต 1
ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ (9 ก.ย.) พบว่า จากเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ปัจจุบันไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 382,872 ราย แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด (คดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว) 315,643 คน ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา 32,500 คน ผู้ต้องขังระหว่างไต่สวนและอื่นๆ 34,729 คน โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนนักโทษในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และในจำนวนนี้เกือบ 4 แสนราย เป็นนักโทษคดียาเสพติดสูงถึง 302,781 คน
สมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม พบว่า เรือนจำมีพื้นที่รองรับเพียง 220,000 คน โดยช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เรือนจำได้ทำพื้นที่กักเชื้อ และทำเตียง 2 ชั้นเพิ่ม ทำให้ได้ที่นอนเพิ่มอีก 80,000 ตารางเมตร แต่ตอนนี้ก็ยังไม่พอรองรับที่เหลืออีก 80,000 คน โดยแนวทางที่ดีที่สุดต้องคัดชั้นนักโทษออกมา รวมถึงโทษที่เหลือน้อย แล้วคืนผู้ต้องขังสู่สังคมด้วยการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์
ภาพและข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: