ไม่พบผลการค้นหา
คอลัมน์อนาคตอยู่นอกกรุงเทพ ส่งท้ายปีด้วยประเด็นการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ วิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคของธุรกิจในมือชาวต่างจังหวัด ที่ต้องมีแกนนำชุมชนเข้มแข็งพอจะโน้มนำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมมือให้ได้

เมื่อลมหนาวพัดเข้ามาพร้อมกับฤดูเทศกาลวันหยุดยาว ก็เป็นเวลาที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนจะได้ทีออกไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัด พบกับอากาศเย็นที่หาได้ยากในกรุงเทพมหานคร รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่อาศัยวันหยุดยาวเข้ามาพักผ่อนในประเทศไทยเช่นกัน

จากผลสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า นักท่องเที่ยวในปัจจุบันแสวงหาการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience Tourism) มากขึ้นกว่าเดิม โดยยินยอมจ่ายเงินให้กับค่าประสบการณ์ต่างๆ เช่น การแสดง การฝึกงานหัตถกรรม การผจญภัย ซึ่งส่วนหนึ่งก็รวมถึงการเข้าพักในบ้านเรือนของคนท้องถิ่น หรือการพักโฮมสเตย์ (Homestay)

เชตะวันโฮมสเตย์ (แพร่)

โอกาสและอุปสรรคของโฮมสเตย์

การท่องเที่ยวแบบชุมชนโดยพักในบ้านคนท้องถิ่นหรือโฮมสเตย์ เป็นที่นิยมขึ้นในไทยเมื่อราว พ.ศ. 2537-2539 ยุคที่นักศึกษานิยมโบกรถไปท่องเที่ยวตามหมู่บ้านที่ห่างไกล และออกค่ายพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาทางภาครัฐได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ โดยออกกฎกระทรวงยกเว้นโฮมสเตย์ไม่ให้ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของธุรกิจโรงแรมตาม พ.ร.บ.โรงแรมที่เข้มงวดกว่า ทำให้ธุรกิจโฮมสเตย์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ห่างไกล จำนวนนักท่องเที่ยวยังน้อย ไม่คุ้มค่าต่อการเปิดโรงแรมของกลุ่มทุน รวมถึงชุมชนที่มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ เช่น ชนเผ่าชาวเขา ชาวภูไท ชาวชอง เป็นต้น

แต่ด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว ทำให้วิถีของโฮมสเตย์ต้องรับผลกระทบตามไปด้วย นักท่องเที่ยวในระยะหลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เช่น ต้องการเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ไวไฟอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ท้องถิ่นที่ไม่มีทุนสำรองมากพอที่จะลงทุนต่อเติมซื้อเครื่องอำนวยความสะดวก ก็จะถอดใจเลิกประกอบการไป

อีกทั้งยังเกิดภาวะการแข่งขันเชิงธุรกิจ โดยมีกิจการรีสอร์ทท้องถิ่นที่ใช้ชื่อว่าโฮมสเตย์ แต่บริการแบบโรงแรม อาศัยช่องว่างเข้ามาแย่งลูกค้าที่พักไปด้วยการประสานกับเว็บไซต์เอเจนซี่ท่องเที่ยวออนไลน์ เช่น agoda หรือ booking ทำให้โฮมสเตย์แบบเดิมที่ยังใช้การติดต่อโดยตรงเสียเปรียบ

เชตะวันโฮมสเตย์ (แพร่)

ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวกับโฮมสเตย์ ทั้งการบังคับใช้มาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน และการคุ้มครองนักท่องเที่ยว ก็ยังเป็นเพียงมาตรฐานที่ไม่มีผลบังคับใช้ในเชิงปฏิบัติ เพราะประกาศและระเบียบที่ออกมาใช้บังคับเฉพาะกับโฮมสเตย์ที่ต้องการรับรองมาตรฐานของสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวเท่านั้น หากโฮมสเตย์ใดไม่ปฏิบัติตาม ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการท่องเที่ยว ก็ยังสามารถเปิดบริการได้เป็นปกติโดยไม่มีบทลงโทษ และมีรีสอร์ทขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งที่พักรายวันประเภทใช้เป็นม่านรูด นำชื่อโฮมสเตย์มาใช้จนเสื่อมเสียชื่อเสียงและคุณภาพของโฮมสเตย์โดยรวมลดลงในสายตานักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กฎหมายเดิมที่กำหนดให้โฮมสเตย์สามารถเปิดให้บริการได้เพียงไม่เกินแห่งละ 4 ห้อง ก็ทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการโฮมสเตย์สูงกว่าที่พักประเภทอื่นเนื่องจากต้นทุนต่อหัวในการซื้อสินค้าและปรับปรุงคุณภาพที่พักสูงไม่คุ้มต่อรายรับที่คาดว่าจะได้ ในขณะที่มีการแข่งขันด้านราคาจากที่พักประเภทอื่น


ภาครัฐงงๆ ตกลงใครจะผลักดันโฮมสเตย์?

การทับซ้อนกันในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบกระเทือนการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เนื่องจากมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวสองหน่วยงาน คือ กรมการท่องเที่ยว สังกัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำงานทับซ้อนกันอยู่ การส่งเสริมและพัฒนาโฮมสเตย์จึงไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันนัก ทั้งยังต้องประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกำกับดูแลธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งหากพื้นที่ใดประสานงานได้ด้วยดีก็จะประสบความสำเร็จ แต่หากพื้นที่ใดเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างหน่วยงาน หรือมีการแทรกแซงอำนาจหน้าที่กัน ก็ทำให้โฮมสเตย์ได้รับผลกระเทือนจากการใช้กฎหมายและพบอุปสรรคจนต้องปิดตัวลงไป

ปัญหาอื่นที่พบคือ รายได้จากโฮมสเตย์ ยังไม่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านเพียงพอที่จะเป็นรายได้หลัก เนื่องจากรายได้เฉลี่ยของโฮมสเตย์ต่อปี จากการสำรวจของกรมการท่องเที่ยวนั้น เฉลี่ยเพียงปีละ 9,327 บาท อีกทั้งยังขาดการพัฒนาต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ให้มีสินค้าและบริการที่จะแสวงหารายได้จากนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้นกว่าการให้ที่พักและประสบการณ์ในท้องถิ่นเท่านั้น

Banban nanan 2 (1).jpeg

อย่างไรก็ดี มีโฮมสเตย์หลายแห่งที่ประสบความสำเร็จและสามารถขยายเครือข่ายในชุมชน สร้างงาน รายได้ และชีวิตชีวาให้กับท้องถิ่นที่มีคนชราจำนวนมากได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โฮมสเตย์ที่ให้บริการด้านอาหารควบคู่ไปด้วย เช่น โฮมสเตย์กินข้าวใหม่ร้อยเอ็ด โฮมสเตย์อาหารทะเลจังหวัดกระบี่ และโฮมสเตย์อาหารพื้นเมืองจังหวัดจันทบุรี


แต่ทุกกลุ่มเครือข่ายโฮมสเตย์ที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีแกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง มีความรู้ และมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะโน้มนำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมมือปฏิบัติสร้างโฮมสเตย์ให้มีมาตรฐานได้


ในหลายชุมชนก็อาศัยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนในเมืองแล้วกลับไปพัฒนาระบบโฮมสเตย์ โดยพาะการติดต่อจองที่พัก และการโฆษณาผ่านสื่อและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถ่ายภาพ ตัดต่อวิดีโอประชาสัมพันธ์ จนทำให้มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จัก รวมถึงการสร้างสินค้าเฉพาะท้องถิ่นให้เกิดรายได้เสริมโดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐส่วนกลางที่หาความแน่นอนได้ยากให้ช่วยเหลือสนับสนุนแต่เพียงอย่างเดียว

ธุรกิจโฮมสเตย์ในไทยจึงยังมีช่องว่างให้พัฒนา และเป็นทางออกของการหนีจากเมืองกรุงกลับไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด ของผู้ที่มีความคิดริเริ่ม ใช้ความรู้ความสามารถและความผูกพันกับท้องถิ่นบ้านเกิดให้เป็นเม็ดเงินพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่เสริมจากอาชีพหลักของท้องถิ่น และสร้างอนาคตที่สดใสของชนบทได้ด้วยสมองและการทุ่มเทลงมือทำ

น่าน

ขอบคุณภาพประกอบโฮมสเตย์จังหวัดแพร่และน่าน โดย vingtseven27