ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ดิจิทัลไต้หวัน หนุนใช้ AI-กูเกิลแมป ทำข้อมูลอำนวยความสะดวกประชาชน เช็กยอดหน้ากาก-อุปกรณ์ป้องกันโรคในร้านค้าใกล้เคียง เพื่อจัดหามาใช้ พร้อมตั้งศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อต้านข้อมูลบิดเบือนเรื่องโควิด-19 จนได้รับคำชมจากสื่อสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น

'ออเดรย์ ถัง' วัย 38 ปี รัฐมนตรีที่ไม่สังกัดกระทรวงของไต้หวัน แต่ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้รับคำชมจากสื่อญี่ปุ่นและสื่อสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้สนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาระบบติดตาม-ตรวจสอบหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันด้านสาธารณสุขตามร้านค้าต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอที่จะจัดซื้อจัดหา โดยระบบดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างนักพัฒนาแอปพลิเคชันเอกชน โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานของกูเกิลแมป เพื่อให้บริการข้อมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์

The Japan Times สื่อของญี่ปุ่นเผยแพร่บทความ How democratic Taiwan outperformed authoritarian China โดยระบุว่า 'ออเดรย์ ถัง' ในฐานะ รมว.ดิจิทัล มีความโดดเด่นด้านการประสานงานระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งยังนำไปสู่การจัดตั้ง 'ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงออนไลน์' หรือ fact-checking เพื่อสื่อสารและชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 แก่ประชาชน รวมถึงต่อสู้ข่าวบิดเบือนในสื่อออนไลน์ ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา และศูนย์ดังกล่าวดำเนินงานในฐานะ 'องค์กรอิสระ' ที่รัฐไม่อาจแทรกแซงได้

บทความของเจแปนไทม์สรายงานว่า การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและติดตามสถานการณ์รอบตัวประชาชน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในไต้หวันมีจำนวนไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีนแผ่นดินใหญ่ โดยสถิติล่าสุดวันที่ 5 มี.ค.2563 ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อ 42 ราย และผู้เสียชีวิต 1 ราย

AFP-ออเดรย์ ถัง-Audrey Tang-รมว.ดิจิทัลไต้หวัน-ส.ส.ข้ามเพศคนแรก.jpg
  • ออเดรย์ ถัง หญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีไต้หวัน ได้รับคำชมเรื่องการรับมือโควิด-19

นอกจากนี้ สื่อญี่ปุ่นยังเปรียบเทียบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าข้อมูลส่วนใหญ่ของไต้หวันเป็นการสื่อสารหรือบอกกล่าวกับประชาชนเป็นหลัก ได้แก่ การสำรวจพิกัดและประวัติการเดินทางของผู้ติดเชื้อไวรัส รวมถึงอาชีพ บุคคลใกล้ชิดที่มีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน รวมถึงละแวกที่ผู้ติดเชื้อทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งยังต้องแบ่งปันข้อมูลการรักษาพยาบาลระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลกลาง และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการประมวลผลที่รวดเร็ว

ส่วนกรณีของจีนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์-รัฐบาลพรรคเดียว การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมักจะมุ่งเน้นที่การประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าและผลงานเชิงบวกของภาครัฐ รวมถึงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต่อการป้องกันการแพร่ระบาด แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลที่สื่อสารกับประชาชนทั่วไปว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาด จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการเปิดเผยข้อมูลว่ามีความโปร่งใสและทันเวลาหรือไม่

ขณะที่ VOA สื่อของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า รัฐบาลไต้หวันพบเบาะแสบ่งชี้เรื่องไวรัสโคโรนาซึ่งแพร่ระบาดในจีนตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 และรัฐบาลได้ประกาศมาตรการตรวจสอบบุคคลที่เดินทางมาจากจีน ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. โดยรัฐบาลไต้หวันประกาศว่า ช่วงนั้นมี 14 เที่ยวบิน และผู้โดยสาร 1,317 คนจากจีนที่ถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ก่อนที่จะมีคำสั่งระงับเที่ยวบินจากจีนเข้าไต้หวันอย่างเป็นทางการ หลังจีนประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 23 ม.ค.

ไต้หวัน เชื้อไวรัส.jpg

จนกระทั่งต้นเดือน ก.พ. อาคารที่ทำการของรัฐบาล โรงเรียน และพื้นที่สาธารณะทั่วไต้หวัน เริ่มให้บริการน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรคแก่ประชาชน ส่วนผู้ที่จะเข้าไปในอาคารต้องถูกตรวจวัดอุณหภูมิก่อนว่ามีไข้หรือไม่ ถ้ามีไข้ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอาคาร ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวันก็เผยแพร่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นประจำวัน และจัดสรรปันส่วน รวมถึงควบคุมการซื้อหน้ากากอนามัย เพื่อพยายามป้องกันภาวะแตกตื่นกักตุนสินค้าจนขาดตลาด

เมื่อถึงเดือน มี.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตของไต้หวันไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศก็เป็นคนขับแท็กซี่วัย 60 ปี ซึ่งมีอาการป่วยประจำตัวอยู่แล้ว

แม้การประกาศระงับเที่ยวบินจากจีนจะส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไต้หวันที่พึ่งพาจีนค่อนข้างมาก แต่รัฐบาลไต้หวันเร่งอนุมัติงบประมาณช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจราว 1,960 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 58,800 ล้านบาท เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจซบเซา

นอกจากนี้ ไต้หวันไม่ได้เป็นภาคีขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพราะจีนซึ่งเป็นสมาชิกรายใหญ่ ยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนของรัฐบาลไต้หวันใน WHO และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO ไม่ได้คัดค้าน แต่การจัดการตนเองของไต้หวันก็มีประสิทธิภาพมากพอ อีกทั้งผลสำรวจความเห็นประชาชนไต้หวันที่มีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่มีจุดยืนสนับสนุนอิสรภาพไต้หวัน ยังได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น จากเดิม 56.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือน ม.ค. กลายเป็น 68.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือน ก.พ.อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: