ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ รุกตามแก้น้ำท่วมอุบลฯ ย้ำรัฐบาลจะนำข้อมูลมาวางแผนแก้ปัญหา สั่งการพัฒนาระบบเตือนภัยแจ้งข่าวสาร ให้ตรวจสอบความมั่นคงโครงสร้าง เตรียมช่วยเหลือ-ฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 13.20 น. ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมสั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

ศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวรายงานสรุปสถานการณ์น้ำที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า มีปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 5 ตุลาคม จำนวน 2,049.3 มิลลิเมตร สถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบกับลำน้ำในลำน้ำมูล และลำน้ำชี ในพื้นที่เหนือจังหวัดอุบลราชธานีทำให้มีสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ไหลท่วมขัง ท่วมพื้นที่ลุ่มตับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 10 อำเภอ อาทิอำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ อำเภอม่วงสาม จำนวน 62 ตำบล 370 หมู่บ้าน กว่า 3,460 ครัวเรือน และพืชผลทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ตั้งแต่วันที่ 29 กค. จำนวน 10 อำเภอ 311 หมู่บ้าน คาดว่ามีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายกว่า 83,000 ไร่

IMG_20231006141747000000.jpg

หลังฟังการสรุปเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียง มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมท่วมแล้วท่วมอีกท่วมต่อไปจนกระทั่งเป็นที่ทราบกันดีตั้งแต่สมัยที่ตนอยู่ภาคเอกชนก็ทราบว่ามีน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี หนักมาก พอจะเดินเข้าสู่การเมืองก็ตระหนักดีเสมอ ถึงปัญหาที่เกิดการแก้ไขปัญหาระยะยาวแบบบูรณาการไม่ได้ ตนมีความเข้าใจและทุกข์ใจว่าปัญหาใหญ่และสะสมมานาน มันไม่สามารถถูกแก้ไข ด้วยระยะเวลาอันสั้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำท่วมที่ จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย เยอะมาก ซึ่งอยู่ในช่วงของการเยียวยาและก็แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ตามความเข้าใจของตนนั้น จ.อุบลราชธานี ยังไม่ถึงฤดูน้ำที่จะมามาก ยังไม่เข้าปีที่แล้ว ทางสำนักนายกก็มีข้อแนะนำมาหลายข้อว่าจะไปดูน้ำท่วมที่ภาคเหนือ หรือ ภาคอีสานก่อนดี ซึ่งตนมองว่าที่ จ.สุโขทัย นั้นมีการจัดการไปแล้ว อยู่ในหมวดของการเยียวยาและป้องกันสำหรับปีหน้ามากกว่า แต่ที่อุบลยังไม่ถึงช่วงเวลาที่มันวิกฤตจริงๆ ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรไว้ก่อน มันก็อาจจะเกิดวิกฤตเกิดขึ้นได้ วิกฤตน้ำท่วมที่อุบลราชธานีไม่ใช่แค่เป็นวิกฤตของความเสียหายในด้านของเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมอย่างมหาศาล น้ำที่ท่วมขังเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ มันมีทั้งเรื่องความปลอดภัยและความไม่สะดวกสบายเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเรื่องโรคระบาดที่จะตามมา เหล่านี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลนี้ ตระหนักดีว่ามันจะเกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ได้ เราเพิ่งเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ทำอยู่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เราต้องยอมรับจุดนี้ก่อน ทางฝ่ายบริหารก็ได้ไปกรมชลประทาน 2 หน ซึ่งทั้ง 2 ครั้งได้เน้นย้ำเรื่องที่อุบลราชธานี ตนชื่อว่าความสำคัญของจุดนี้จึงเป็นจุดที่สำคัญมาก และตนเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยังทำได้อีกและทำได้มากกว่าที่เคยทำและทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่เพราะว่าเราจะบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ถ้าเราทำอะไรกันได้เราก็อยากจะคุยและอยากจะฟังแผนระยะสั้น จะทำอย่างไรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเยอะเหมือนปีที่แล้วและต้องน้อยลงไปอีกเยอะๆด้วย

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้รับได้รับฟังรายงานจากหน่วยงานราชการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ก่อนจะมีข้อสั่งการเป็นลำดับต่อไป

โดยภายหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี กล่าวสั่งการว่า เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วต้องมีการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ขอให้พัฒนาระบบเตือนภัยและแจ้งข่าวสาร รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้าง เตรียมการช่วยเหลือประชาชน เตรียมการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย และรายงานความคืบหน้าให้รัฐบาลได้รับทราบ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นและมีความหวังว่าระหว่างนี้จนถึงฤดูฝน ทุกคนทำเต็มที่แล้วหรือยัง และทำอย่างไรให้ท่วมน้อยที่สุดและระบายน้ำได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสถานการณ์น้ำจะท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคม ดังนั้น จะต้องมาดูในเรื่องของมิติการระบายน้ำที่ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณทุกคน และอยากให้ลองใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาดูบ้าง

ด้าน เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีและในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการระบายน้ำโดยต้องเร่งระบายน้ำช่วงต้นฤดู คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพื่อระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ในพื้นที่ ให้มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำในฤดูฝน ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนใหญ่ ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกักเก็บน้ำไว้จำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบายน้ำออกใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเมื่อถึงฤดูฝน

195358_0.jpg

ต่อมา เวลา 14.10 น. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พบประชาชนพร้อมกับมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ พร้อมกับติดตามสถานการณ์น้ำ รับฟังการบรรยายสรุปและดูสถานที่จริงของระดับและปริมาณน้ำ ที่สถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดยระหว่างที่นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล โดยได้ให้แนวทางศึกษาการก่อสร้างโครงการเพื่อขยายทางน้ำทั้งการขุดลอกแม่น้ำและการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ช่วยระบายน้ำเมื่อน้ำหนุนที่บริเวณจ.อุบลราชธานี ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่า จะเป็นตัวที่เปลี่ยนทางเดินน้ำ ช่วยให้ช่วยให้น้ำไม่ท่วมอุบลราชธานี ในระยะยาว 

IMG_20231006154513000000.jpg

โดยเกรียง กล่าวเสริมระหว่างฟังรายว่า กรมชลประทานได้ศึกษาไว้แล้ว ถึงโครงการที่จะช่วยน้ำท่วมอุบล และช่วยภาคการเกษตรได้ด้วย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่ต้องใช้ระยะเวลา 8 ปี ตนเลยเสนอว่าให้แบ่งเป็น 8 โครงการ และย่นระยะเวลาเหลือเพียง 2 ปีได้ ตกโครงการละประมาณ 5,000 ล้านบาท นายกรัฐมนตรีจึงตอบว่า ตรงนี้ผมสนใจว่ามันต้องมีมติ ครม.ไหม ให้ลองปรึกษาท่านรัฐมนตรีฯดูก่อนละกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยตัดยอดน้ำและควบคุมปริมาณการไหล รวมถึงทิศทางได้ดีขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงหนึ่ง ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีกำลังเดินเข้าไป ได้หยุดพูดคุยกับ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มารอต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีถามถึงความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในพื้นที่ว่ามีรายได้มีงานทำหรือไม่ ผู้สูงอายุบอกว่าไม่มีนายกรัฐมนตรีจึงบอกว่าขอให้รอต้นปีหน้า ก็จะมีเงินดิจิตอล 10,000 บาท ก็จะมาช่วยเหลือแล้ว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กราบนมัสการ พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นตัวแทนคณะสงฆ์รับมอบถุงยังชีพเพื่อไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

IMG_20231006154548000000.jpg

ก่อนมอบสิ่งของช่วยเหลือให้กับตัวแทนผู้ประสบอุทกภัย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า วันนี้เป็นความตั้งใจสูงสุดที่จะต้องมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี โดยตั้งแต่เข้ามาบริหารราชการไม่ถึงเดือน ก็ได้พบเจอกับ ส.ส.อุบลราชธานีหลายเขต ซึ่งทุกคนล้วนบอกถึงปัญหาน้ำท่วม และจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็ได้มีการสอบถามอย่างต่อเนื่องว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าช่วงเดือนตุลาคมนับเป็นสถานการณ์วิกฤตของจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเกิดอุทกภัยก็ทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ก็จะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ได้ว่าจะแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมให้ดีที่สุด และส่วนตัวก็รู้สึกอบอุ่นที่ประชาชนให้การต้อนรับเป็นอย่างดี