รัฐธรรมนูญ 10 ธันวา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่เป็นฉบับที่ 2 ฉบับแรกนั้นเป็นเวอร์ชั่นของคณะราษฎร ยกร่างโดยปรีดี พนมยงค์ ส่วนฉบับที่ 2 นักประวัติศาสตร์ชี้ว่าเป็นเวอร์ชั่น 'ประนีประนอม' ระหว่างสถาบันกับคณะราษฎร และนัยของสองฉบับมีความต่างกันอยู่มาก
2.
หลังการปฏิวัติ 1 วันคณะราษฎร นำ พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม พร้อมพ.ร.ก.นิรโทษกรรมคณะราษฎร ทูลเกล้าฯ ให้ ร.7 ลงนาม พระองค์ลงนามให้แค่กฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนธรรมนูญปกครองแผ่นดินนั้นทรงขอพิจารณาก่อน หลังจากนั้นอีก 2 วัน พระองค์เติมคำว่า 'ชั่วคราว' ลงไปในธรรมนูญฯ และนั่นทำให้ต้องตั้งกรรมการเพื่อยกร่างฉบับไม่ชั่วคราว ก็คือ ฉบับ 10 ธันวา
ทำไมฉบับแรกไม่เรียก ‘รัฐธรรมนูญ’ - เพราะตอนนั้นยังไม่มีคำนี้ในสารบบ หลังจากนั้นไม่นานถึงมีการบัญญัติคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เพื่อใช้แทนคำว่า ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน’ โดยคนคิดคือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
3.
นักประวัติศาสตร์หลายคนยืนยันว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวามีการหารือกับ ร.7 ตลอดการร่าง และเป็นฉบับที่พระองค์พึงพอใจ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ เคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2557 ว่า
"พระยามโนปกรณ์นิติธาดาติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสม่ำเสมอ เฝ้าปรึกษาหารือ และมักดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชประสงค์ นับตั้งแต่เรื่องใหญ่โตอย่างการให้เจ้านายอยู่เหนือการเมือง ไปจนถึงเรื่องปลีกย่อยอย่างการเลือกใช้คำ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเมื่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเอนเอียงไปในทางอนุรักษนิยม ซึ่งนี่ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงท่าทีเชิงบวกอย่างเด่นชัด"
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร เขียนไว้หนังสือ ‘คณะราษฎรผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ ว่า คณะราษฎรได้ขอให้เป็นพระราชภาระของพระองค์ในการยกร่างเพื่อให้สมประสงค์ พระองค์จึงใส่พระทัยมากทั้งในเชิงประเด็นหรือแม้แต่ถ้อยคำ เช่น ทรงขอให้แก้คำว่า "กษัตริย์" เป็น "พระมหากษัตริย์" ทั้งหมด และทรงเห็นชอบข้อเสนอพระยาพหลฯ กับหลวงประดิษฐ์ฯ ที่ให้กษัตริย์เป็น ‘จอมทัพ’ ด้วย ส่วนเรื่องจะมีการบัญญัติว่า กษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระองค์เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะเมื่อได้พระราชทานรัฐธรรมนูญก็เท่ากับทรงให้สัตยาธิษฐานแล้ว
4.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ในหนังสือ ‘ปฏิวัติ 2475’ ว่า คณะกรรมการยกร่าง 9 คน (เพิ่มสัดส่วนตัวแทนสถาบันในภายหลัง) ส่วนใหญ่เป็นข้าราชาการอาวุโสจบกฎหมายจากอังกฤษ ทำให้ปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎรเป็นเสียงส่วนน้อยและด้อยอาวุโสกว่า กล่าวโดยภาพรวมคณะกรรมการร่างจึงเป็น ‘ตัวแทนของพลังข้าราชการผู้ใหญ่’
การต่อสู้กันระหว่าง ใหม่-เก่านี้ เริ่มกันตั้งแต่คำปรารภของรัฐธรรมนูญ หากไปค้น google ดูจะพบว่าความยาวและเนื้อหาของคำปรารภในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับต่างกันมาก โดยฉบับที่สองนี้ส่วนหนึ่งเป็นพระราชปรารภของ ร.7 ชาญวิทย์ชี้ว่า
"ถ้อยคำในพระราชปรารภ นอกจากนอกจากกจะเต็มไปด้วย "ภาษามคธและสันสกฤต" ตามวิธีการประกาศพระบรมราชโองการตราบทกฎหมายแบบในระบอบเก่าแล้ว ยังได้ลดถอนถ้อยคำที่สั้นและตรงไปตรงมาในคำปรารภของธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงถูกบังคับให้ 'ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร' ให้มีความหมายเพียง 'ข้าราชการพลเรือนและอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน"
และ
"ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้เสด็จเถลิงถวัลราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนินพระราโชบายปกครองราชอาณาจักรด้วยทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชาการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถนำประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการในภายภาคหน้า จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์....."
5.
สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนไว้ในหนังสือ 'นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง' ว่า ศึกทางความคิดระหว่างใหม่-เก่า ปรากฏในการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก เมื่อต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวา
6.
ชาญวิทย์ ระบุถึงรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา (มี 68 มาตรา) ที่แตกต่างจากธรรมนูญฉบับแรก (มี 39 มาตรา) เพิ่มเติมในหลายประการ อาทิ
7.
นักวิชาการหลายคนระบุว่า อันที่จริงแล้ว คณะราษฎรไม่ได้ตั้งใจให้ธรรมนูญฉบับแรกเป็น 'ฉบับชั่วคราว' เพราะหากดูเนื้อหาในนั้นจะพบว่าวางจังหวะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งทางตรง 100% ภายใน 10 ปี โดยวางแผนเป็นขั้นๆ เลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ และกำหนดให้ราษฎรต้องจบชั้นประถมศึกษาให้ได้ครึ่งหนึ่งของประเทศให้ได้ภายในเวลานั้น เพราะบริบทในยุคนั้นการศึกษายังไม่เป็นที่แพร่หลาย
8.
เรื่องรูปแบบการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็สำคัญ และกลายเป็นภาพจำมาจนปัจจุบัน ภูริระบุไว้ว่า งานวันที่ 10 ธ.ค.2475 “ถูกออกแบบมาด้วยความระมัดระวังช่วยให้พระมหากษัตริย์ครองสถานะเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับถาวร กฎหมายสูงสุดเป็น ‘ของพระราชทาน’ จากเบื้องบนจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หาใช่คณะราษฎร”
เช่นกันกับที่ทูตฝรั่งเศสในขณะนั้นก็ได้แสดงความชื่นชมในพระปรีชาสามารถของ ร.7 ในรายงานที่ส่งไปยังกรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ว่า
“พระราชอำนาจถูกเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง…วัตถุประสงค์ของพระราชพิธีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมคือ เพื่อทำให้เชื่อ (Faire croire) ว่า ได้ถูกพระราชทาน (Octroyée) จากองค์อธิปัตย์…หลังทรงลงพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ทรงยื่นรัฐธรรมนูญให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับมันไปขณะกำลังคุกเข่าอยู่กับพื้น"
“ดังนั้น ในหลายวาระตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พระราชอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นของพระองค์ได้ถูกยืนยัน พระองค์…ทรงก้าวเดินออกจากวิกฤตินี้พร้อมด้วยพระเกียรติที่ถูกฟื้นฟู และ…อำนาจทั้งปวงในประเทศนี้ที่ยังผูกอยู่กับแนวคิดว่าด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
9.
โดยสรุป รัฐธรรมนูญฉบับแรก เวอร์ชั่นคณะราษฎร มีอายุ 6 เดือน ตามมาด้วยฉบับ 10 ธันวา แต่ผ่านไปไม่เท่าไร ก็เกิดสิ่งที่ชาญวิทย์เรียกว่า 'การรัฐประหารทางกฎหมาย' ครั้งแรก เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ และยุบสภาเพื่อขจัดและลอดทอนอิทธิพลของคณะราษฎรที่มีอยู่ในรัฐบาล เหตุสืบเนื่องมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพระยามโนฯ และฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์'
หลังจากกนั้นการเมืองไทยก็ช่วงชิงอำนาจกันไปมาไม่หยุดหย่อนและมีรายละเอียดอีกมากกมายเกินจะกล่าวไหวในที่นี้