ไม่พบผลการค้นหา
ลองคำนวณจำนวนหน้ากากอนามัย 330 ตัน ที่มีรายงานว่าไทยส่งออกไปต่างประเทศ พบผลลัพธ์แตกต่างไปตามขนาดและน้ำหนักของหน้ากากแต่ละรูปแบบ แต่มียอดสูงตั้งแต่ 80-400 ล้านชิ้น อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรออกมาชี้แจงภายหลังว่า ตัวเลข 330 ตัน รวมสินค้าอื่นๆ ด้วย

ภายหลัง นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 150 ตัน และเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 180 ตัน รวมแล้ว 2 เดือน มีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท

โดยนายชัยยุทธ ยืนยันว่ากรมศุลกากรเปิดให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการส่งออกดังกล่าวเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ไปในหลายประเทศทั้ง จีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา

"การส่งออกเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าห้ามส่งออก เว้นแต่ได้รับการอนุญาต ถ้าผู้ประกอบการมีใบอนุญาต กรมศุลกากรก็คงไปห้ามไม่ให้ส่งออกไม่ได้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น ยอดการส่งออกหน้ากากอนามัยจะชะลอตัวลง" นายชัยยุทธ กล่าว

คำถามสำคัญก็คือ น้ำหนัก 330 ตันนั้น คิดเป็นจำนวนหน้ากากอนามัยกี่ชิ้น ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยของผู้ผลิตหลายแห่ง พบว่า หน้ากากอนามัยนั้นมีหลากหลายรูปแบบและขนาดเเตกต่างกันออกไปตามคุณภาพ วัสดุ และการใช้งาน

โดยขนาดกล่องบรรจุ 50 ชิ้น พบเห็นได้ตั้งแต่น้ำหนัก 35 กรัม ไปจนถึง 200 กรัม

เมื่อทดลองคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ได้คำตอบหลากหลายแบบดังนี้

เมื่อ 1 ตันเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม, 1 กิโลกรัม เท่ากับ 1,000 กรัม และ 1 ตัน เท่ากับ 1,000,000 กรัม

ฉะนั้น หากหน้ากากอนามัยมี 330 ตัน ก็เท่ากับ 330,000,000 กรัม

  • หน้ากากน้ำหนัก 0.7 กรัม

ถ้าหน้ากากอนามัยกล่องบรรจุ 50 ชิ้น หนัก 35 กรัม หน้ากาก 1 ชิ้น จะหนักแค่ 0.7 กรัม นั่นแปลว่าไทยส่งออกไปถึง 471,428,571 ชิ้น

  • หน้ากากน้ำหนัก 1.2 กรัม

ถ้าหากหน้ากาก 50 ชิ้น หนัก 60 กรัม หรือ ชิ้นละ 1.2 กรัม แปลว่าไทยส่งออกไปถึง 275,000,000 ชิ้น

  • หน้ากากน้ำหนัก 4 กรัม

ถ้าหาก 50 ชิ้นหนัก 200 กรัม แปลว่า ไทยส่งออกไปถึง 82,500,000 ล้านชิ้น

ทั้งนี้ นายชัยยุทธ ระบุว่า ในกระบวนการนำเข้าและส่งออก การประเมินจำนวนหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนชิ้น ทำได้ยาก เพราะการสำแดงสินค้ากำหนดให้ทำตามน้ำหนัก

ไทยขอซื้อหน้ากากจากจีน 

วันที่ 11 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข, นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน หารือกับ นายหยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

ภายหลังการหารือ นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งกับจีนว่าสิ่งที่เราอยากไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือหรือการที่จะซื้อจากจีนคือ 

1.หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากที่ใช้ทางการแพทย์ที่เรามีกำลังการผลิตเพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น

2.หน้ากากแบบ N95 (ขนาดหนา)

3.ชุด PPE (Personal Protection Equipment) หรือชุดคลุมทั้งตัวที่ต้องใช้ในห้องติดเชื้อ ซึ่งมีความจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย

4.ชุดคัดกรองไวรัส โควิด-19 ที่สามารถตรวจในสถานที่ต่างๆ ได้เลยไม่ต้องรอส่งไปห้องแล็บ

5.ขอให้จีนผ่อนคลายเรื่องการส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ที่เรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ รวมทั้งเรื่องราคาที่ขยับขึ้นไปสูงมาก

330 ตัน ไม่ได้มีแค่หน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออก 330 ตัน ได้มาจากการแถลงข่าวของนายชัยยุทธ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งมีการชี้แจงกรณีที่มีเฟซบุ๊กเพจให้ข้อมูลว่าพบตู้สินค้าที่นำหน้ากากอนามัยเข้ามาทุกตู้ โดนกักจำนวน 5 ล้านชิ้น และศุลกากรขอแบ่ง 2 ล้านชิ้น และทางศุลกากรยืนยันว่า ไม่เป็นเรื่องจริง

นายชัยยุทธเปิดเผยด้วยว่า ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา มีการส่งออกหน้ากากอนามัยมูลค่าทั้งสิ้น 160 ล้านบาท หรือ คิดเป็นปริมาณ 330 ตัน แบ่งเป็นเดือน ม.ค. จำนวน 150 ตัน เดือน ก.พ. จำนวน 180 ตัน และยืนยันว่ากรมศุลกากรเก็บข้อมูลเอกสารส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการส่งออกดังกล่าวเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ไปในหลายประเทศทั้ง จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ

ขณะที่การนำเข้าหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 145 ตัน มูลค่า 55 ล้านบาท และเดือน ก.พ. อยู่ที่ 71 ตัน มูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าที่สำแดง โดยการนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศ หรือเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออกต่อนั้น กรมศุลกากรไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และประเมินได้ยากว่าจำนวนหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาคิดเป็นจำนวนกี่ชิ้น เพราะการสำแดงสินค้าให้ทำตามน้ำหนัก

"การส่งออกเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าห้ามส่งออก เว้นแต่ได้รับการอนุญาต ถ้าผู้ประกอบการมีใบอนุญาต กรมศุลกากรก็คงไปห้ามไม่ให้ส่งออกไม่ได้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น ยอดการส่งออกหน้ากากอนามัยจะชะลอตัวลง" นายชัยยุทธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 20.45 น.วันที่ 11 มี.ค. กรมศุลกากรได้ส่งเอกสารชี้แจงถึงสื่อมวลชน พร้อมกับเผยแพร่คำชี้แจงในเฟซบุ๊กเพจ 'กรมศุลกากร : The Customs Department' ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าว (330 ตัน) เป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น

กรมศุลกากรได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยนับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกน้อยมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :