ไม่พบผลการค้นหา
ครม.มีมติอนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะทาง 355 กิโลเมตร 30 สถานี ผ่านบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.68 หมื่นล้าน คาดเริ่มก่อสร้าง ม.ค. 2564 เปิดบริการ ม.ค. 2568

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2561 - 2568) ด้วยวิธีประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 

ลักษณะของโครงการจะดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง เป็นคันทางระดับดิน และบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม 

พร้อมกับก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น) สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์ มีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ความกว้างของราง ขนาด 1 เมตร สามารถเชื่อมต่อกับระบบรางเดิมของ รฟท. ที่มีอยู่ รองรับการเดินรถขนาดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทางรถไฟเป็นแบบใช้หินโรยทางทั้งทางระดับพื้นดิน สะพาน และโครงสร้างยกระดับที่เป็นคอนกรีต คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือน ม.ค. 2564 แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือน ม.ค. 2568

ขณะที่ เอกสารผลประชุม ครม. 28 พ.ค. ระบุว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนของโครงการ โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาต่อไป และให้ รฟท. นำความเห็นของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟท.) ไปดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ในแผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาเส้นทางสายใหม่) ระยะที่ 3 และอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan) รวมทั้งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก – ตะวันตก (East-West Corridor) การพัฒนา โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก – ตะวันตก ตอนบน (Upper East – West Economic Corridor) ช่วงแม่สอด – พิษณุโลก – เพชรบูรณ์ – ขอนแก่น – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร 

รถไฟทางคู่ 30 สถานี ผ่าน 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด

โดยเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง ความกว้างของรางขนาด 1 เมตร ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร มีสถานีใหม่ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟ ช่วงชุมทางจิระ- ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และโครงการรถไฟ ช่วงแม่สอด – ตาก – กำแพงเพชร- นครสวรรค์ บ้านไผ่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ออกแบบโครงการ 

พร้อมกันนี้ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือละแหม่งในประเทศเมียนมาไปยังท่าเรือดานังและท่าเรือไฮฟองในประเทศเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน

คาดรองรับผู้โดยสาร 3.83 ล้านคน ภายในปี 2569

กระทรวงคมนาคม คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 3,835,260 คน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 2.37 ต่อปี และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 748,453 ตัน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 1.19 ต่อปี โครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางการเงินที่ ร้อยละ 0.42 และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่ ร้อยละ 13.49 

สำหรับค่าใช้จ่ายให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีให้กับ รฟท. เป็นค่าที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา วงเงินรวม 10,255.33 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้าง จำนวน 55,462.00 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 1,131 ล้านบาท (รวมเป็นเงิน 56,543.00ล้านบาท) ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และให้ รฟท. กู้ต่อโดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่ รฟท. เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินโดยตรง ทั้งในส่วนขอเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการและอนุมัติให้ รฟท. กู้เงินแล้ว ให้ รฟท. เสนอความต้องการกู้เงิน เพื่อบรรจุโครงการเงินกู้ไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :