ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ ‘อั๋ว จุฑาทิพย์’ ครบรอบ 111 ปี ‘เตียง ศิริขันธ์’ ผู้เป็นทวด และผู้สร้างเรื่องราวที่ให้แรงบันดาลใจ

"ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชา"

ข้อความนี้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เจ้าข้อความดังกล่าว คือ บรรณาธิการเสรีราษฎร หรือที่ทุกคนอาจจะรู้จักเขาในนาม เตียง ศิริขันธ์

เตียง เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 ในครอบครัวนายฮ้อยผู้รับซื้อวัวควายทางภาคอีสาน ส่งขายที่ประเทศพม่า แน่นอนเขาคือลูกของพ่อค้าคหบดี เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกุล จนจบมัธยมต้น และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศจนจบประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.-เทียบมัธยมปลาย) หลังจากนั้นเตียงได้ทุนศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม เป็นรุ่นแรกของคณะ เมื่ออายุ 22 ปี

เตียงเข้ารับราชการครูเมื่อปี 2472 ก่อนจะลาออกจากราชการเข้าเป็นนักหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2479  ถัดมาเพียงปีเดียวเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ตำแหน่งในทางการเมือง เตียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ทั้งหมด 5 สมัย และเป็นรัฐมนตรี 3 สมัย รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้ง ‘พรรคสหชีพ’ พรรคการเมืองที่ยึดแนวทางอุดมการณ์สังคมนิยม นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน

เตียงได้ร่วมกับงานด้านการบริหารราชการแผ่นดินกับปรีดี พนมยงค์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ทว่าหลังเกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ปรีดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ ที่สุดแล้วนำไปสู่การรัฐประหารรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นการกวาดล้างกลุ่มอำนาจของปรีดี จนที่สุดแล้ว เตียงถูกสังหารในช่วงปลายปี 2495 และหลังจากนั้นเรื่องราวของเตียงก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามสภาพบังคับ และกาลเวลา

เตียง ศิริขันธ์

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 คือหนึ่งบุคคลที่อยู่รวมสายเลือดเดียวกันกับเตียง โดยการลำดับวงศาคณาญาติ เธอมีศักดิ์เป็นเหลนของคุณทวดเตียง แม้ลำดับของความใกล้ชิดทางตระกูลจะไม่ได้อยู่ใกล้กัน แต่เมื่อเธอได้รับรู้เรื่องราวของคุณทวด จากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ทำให้ เตียง กลายมาเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ผลักให้เธอก้าวออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

ในวาระครบวันเกิด 111 ปี ของเตียง ศิริขันธ์  ‘วอยซ์’ ชวนเธอคุยถึงแรงบันดาลที่ได้รับจากเรื่องราวของเตียง และชวนจินตนาการต่อไปว่าหากเตียงยังอยู่วันนี้คิดว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน และการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรหากยังมีผู้แทนราษฎรที่ชื่อว่า เตียง

“ถ้าเตียงยังอยู่ เขาก็คงเป็นคนที่วิจารณ์ได้ และก็เป็นคนที่สามารถตรวจสอบได้ คงไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นทุกวันนี้ หลายๆ ปัญหา น่าจะถูกแก้ไข”

นี่คือคำตอบว่าเตียงจะเป็นคนแบบไหนหากเขายังมีชิวีตอยู่จากจุฑาทิพย์ เธอย้ำว่าในความเป็นจริงแล้วเธอไม่ได้รู้จักตัวตนของเตียงมาก่อนหน้านี้ จนกระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง และพบว่าคนในหนังสือมีนามสกุลเดียวกันกับเธอ กระทั่งนำไปสู่ความพยายามสืบสาวราวเรื่องว่าชายที่ชื่อเตียงนั้น เกี่ยวข้องอะไรกับเธอ และเขาเป็นคนอย่างไร

จากการสอบถามญาติพี่น้อง ทำให้ทราบว่า เตียงเป็นญาติของฝั่งพ่อที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร และไม่ได้เป็นทวดสายตรงของเธอ หากแต่เป็นคนนามสกุลเดียวกันที่เป็นเครือญาติกันเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้เธอไม่ได้ข้อมูลอะไรมากนักจากการสอบถามญาติ แหล่งข้อมูลถัดมา จึงเป็นหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จากการศึกษาค้นคว้าประวัติ และผลงานของเตียง จุฑาทิพย์ รู้สึกว่า ผู้มีศักดิ์เป็นทวด เป็นผู้ชายที่มีความหวังดีต่อประเทศมีความทุ่มเทในการทำงานเพื่อชาติอย่างมาก ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน นอกเหนือไปจากนั้น เตียงยังเป็นหนึ่งในคณะบุคคลที่เข้าพบ ปรีดี พนมยงค์ เพื่อเสนอให้มีการตั้งองค์กรต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเรียกภายหลังว่าเสรีไทย โดยกรณีนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ใช้ความกล้าหาญมาก เพราะเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหากบฏในราชอาณาจักร ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครองอำนาจอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีวีกรรมอื่นๆ อีกมากมายจนกระทั่งเขาถูกสังหารเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2495 จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ตั้งข้อหาให้กับเตียงว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เตียง ศิริขันธ์

หลังจากจุฑาทิพย์ได้ศึกษาเรื่องราวของเตียง ก็พบว่านี่คือหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่ให้เธออยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศ นอกจากความกล้าหาญแล้ว สิ่งที่สำคัญคือแนวคิดที่มีความก้าวหน้ามาก ทั้งอุดมไปด้วยสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

“เราคิดว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมันเป็นปัญหาเดิม และก็เป็นปัญหาที่คนรุ่นนั้น จนมาถึงคนรุ่นเรา ก็ยังเผชิญอยู่ มันชี้ชัดแล้วว่า ปัญหามาเกิดจากอะไร ต้นต่อมันมาจากไหน เรื่องของแนวคิด วิธีการแก้ปัญหา เราก็ไปหยิบจับมาและเอามาใช้ในแนวทางการเคลื่อนไหวของเรา…. ถึงแม้ตัวเขาจะไม่อยู่แล้ว แต่อุดมการณ์ของเขายังคงอยู่ เขาก็ยังเป็นราษฎรคนหนึ่ง เราก็เป็นราษฎร ที่ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมให้ได้ ”

“เรารู้สึกภูมิใจมาก ดีใจมาก เพราะในตำราเรียนไม่มีบอก มีแต่เศรษฐกิจพอเพียง มีแต่เรื่องที่ไม่ได้จำเป็นกับสังคม พอเรามีโอกาสได้อ่านหนังสือมากขึ้น เรามีโอกาสได้รู้เรื่องราวมากขึ้น เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของสังคมมากกว่าโครงการปลอมๆ ที่ใช้ภาษีของประชาชน”

อั๋ว จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

ในเชิงแนวคิดทางการเมืองแล้ว จุฑาทิพย์ จัดว่า เตียงเป็นฝ่ายซ้ายตัวจริง หรือเรียกอีกอย่างคือ มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์จริง ถึงอย่างนั้นการมีความคิดคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดบาปสำหรับเธอ เพราะคอมมิวนิสต์ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อล้มล้างใคร แต่เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางการเมืองอย่างแท้จริง นั้นคือทุกคนย่อมเป็นคนเสมอกัน และไม่ได้ปฏิเสธแนวทางประชาธิปไตย แต่สิ่งที่รัฐไทยทำในเวลานั้นคือ การผลักให้แนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างไปจากแนวคิดทางการเมืองของผู้ทรงอำนาจ กลายเป็นปีศาจ หรือ กลายเป็นสิ่งที่ผิดปกติ

เมื่อมองจากยุคของเตียง ยุคซึ่งรัฐไทยปักธงให้ศัตรูของชาติเป็นคอมมิวนิสต์ มาถึงยุคปัจจุบัน จุฑาทิพย์ เห็นว่า การสร้างศัตรูของชาติยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการกดปราบ จากเดิมที่คอมมิวนิสต์เคยเป็นศัตรูของชาติ เวลานี้ก็มีความพยายามสร้างให้กลุ่มผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวกลายเป็นศัตรูของชาติเช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือ มีการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง

“มันเป็นกงล้อ มันยังวนเวียนอยู่ ปัญหายังอยู่กับเรา การต่อสู้ก็ยังอยู่กับเรา…แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนไปคือ ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ถูกนำมาตีแผ่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สายธารแห่งความเปลี่ยนแปลงมันไหลเข้ามา เราคิดว่า ยุคนี้คงไม่สามารถปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงนั้นได้แล้ว ไม่สามารถที่จะซุกปัญหาไว้ใต้พรมได้เหมือนกับยุคก่อน”

อีกหนึ่งสิ่งที่จุฑาทิพย์จินตนาการถึงคือ หากคนอย่างเตียง อยู่ร่วมยุคสมัยในปัจจุบัน เขาน่าจะเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่สังกัดอยู่ในพรรคแรงงาน และประเทศไทยจะมีสหภาพแรงงานที่แข็งแรง และเชื่อว่าจะมีการผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมสิทธิแรงงาน และความเสมอภาคของมนุษย์ เธอเชื่อว่า เตียง คงไม่ลืมแน่นอนว่า แรงงานคือคนสร้างชาติ ไม่ใช่มหาราชองค์ใด เพราะที่ผ่านมา ประชาชน ราษฎร หรือแรงงาน ทุกคนล้วนร่วมกันประกอบสร้างชาติขึ้นมา แต่กลับถูกสิ่งที่อยู่บนสูงของห่วงโซ่การปกครองของไทยบดบัง

ในส่วนของบทบาทการเป็นผู้แทนราษฎร จุฑาทิพย์ มองว่า ในยุคสมัยนี้รัฐสภาไทยต้องการผู้แทนราษฎรแบบเตียงอย่างมาก เพราะถือเป็นตัวแทนของประชาชนที่พร้อมเข้าไปพูดถึงปัญหาของราษฎร และผลักดันให้มีการแก้ไข โดยที่ราษฎรไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องบนท้องถนน เตียงคือหนึ่งในอีกหลายคนที่พยายามทำให้ระบบรัฐสภาทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ คือการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อความเป็นธรรมกับผู้คน ซึ่งแตกต่างจากผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งในสมัยนี้ที่เลือกจะสยบยอมกับผู้มีอำนาจ แทนที่จะยืนหยัดเป็นกระบอกเสียงให้กับราษฎร

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/38/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C.jpghttps://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/7/76/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C_-_%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.jpg/800px-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C_-_%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.jpg
  • หนังสือ ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ).  รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ

ข้อมูลอ้างอิง : เตียง ศิริขันธ์ สามัญชนคนมีอุดมคติ เว็บไซต์ the101.world