ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมนัดแรก 'คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ' เดินหน้าผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไทย มุ่งขับเคลื่อน 5G ทุกภาคส่วน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า การประชุมวันนี้ (14 ส.ค.) เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 133/2563 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ

พร้อมกับตั้ง กรรมการจากภาครัฐและเอกชน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยในส่วนของการต่อยอด การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีการประมูลคลื่นความถี่และมีการลงทุนขยายโครงข่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G  

สำหรับการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอด 5G ของประเทศไทยในภาคส่วนต่างๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมการจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน 5G ของประเทศ พร้อมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้บรรลุตามทิศทางการพัฒนาที่ได้กำหนดไว้ 

รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่มีวิสัยทัศน์คือ ประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กำหนดเป้าหมายการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564-2565) และระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งสอดคล้องกับภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทยในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย (ร่าง) แผนฯ มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ โครงข่าย 5G มีความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ในเขตพื้นที่เทศบาล และ 50 Mbps ในทุกพื้นที่ รวมถึงมีโครงข่าย 5G ที่เข้าถึง 98% ของประชากร ทุกพื้นที่ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC และประชากรทั้งหมดในแต่ละจังหวัดที่ได้รับการประกาศเขตให้เป็น Smart City 

พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการโครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระยะสั้น ประกอบด้วย 1. โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ได้แก่ โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี อ.ดอยตุง จ.เชียงราย และโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ โครงการร้อยใจรักษ์ อ. แม่อาย จ.เชียงใหม่ 2. โครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยเป็นโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และ Critical Technology เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ ตั้งแต่กระบวนการพยากรณ์ความเสี่ยง การป้องกันโรค และการรักษาทั้งการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCD ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาล 

ที่ยังประชุมยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม ที่มี Promotion Packages ประกอบด้วย 

1.มาตรการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่กำหนดให้การวางระบบโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับระบบน้ำและไฟ 

2.มาตรการยกเลิกและลดข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ประโยชน์ โดยพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ สามารถลดขั้นตอนการติดตั้งสถานีฐานในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย โดยไม่บังคับให้ทำประชาพิจารณ์ 

3.มาตรการภาษีในการส่งเสริมการวางโครงข่ายไฟเบอร์ ส่งเสริมการลงทุนขยายโครงข่าย เช่น การลดภาษีเงินได้ (Corporate Tax) สำหรับการลงทุนในโครงข่าย และอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงงาน อาคาร หมู่บ้าน 

4.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ควรมีมาตรการ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ 

"เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G อย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้การดำเนินงานใด ๆ ในระบบ 5G ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด" รัชดา กล่าว