ไม่พบผลการค้นหา
‘กงแบ็ง’ ในภาษาเกาหลีใต้แปลว่า สตรีมมิ่งเตรียมการสอบ (Study Broadcast) เทรนด์ใหม่ที่ฮิตในวัยรุ่นเกาหลีใต้ โดยพวกเขาจะตั้งกล้องถ่ายทอดสดตัวเองนั่งอ่านหนังสือเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง โดยทั้งผู้จัดทำวิดีโอและผู้รับชมวิดีโอบอกว่า วิธีนี้ทำให้พวกเขาโฟกัสกับการติวหนังสือได้นานขึ้นและมีสมาธิมากขึ้น

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสุดโหด และแข่งขันสูงมาก เรียกว่า ‘ซูนึง’ หรือการสอบแห่งชาติ นักศึกษาทั้งหลายต่างตั้งความหวังกับการสอบครั้งสำคัญ เพราะการเข้ามหาวิทยาลัย และคณะดีๆ เป็นใบเบิกทางสู่อนาคตอันสดใส ซึ่งนั่นทำให้วัฒนธรรมการเรียนหนักของคนเกาหลีกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามสภาพสังคมอย่างช่วยไม่ได้

‘กงแบ็ง’ (Gongbang) จึงกลายเป็นเทรนด์ฮิตที่บรรดาเหล่าวัยรุ่นสรรหาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือ และสร้างสมาธิ ผ่านรูปแบบวิธีการ 'ตั้งกล้องถ่ายทอดสด' ระหว่างที่ตัวเองอ่านหรือติวหนังสือ ซึ่งบางคลิปได้รับความนิยมมากโดยมียอดคลิกมากถึงล้านๆ วิว ผู้ชมส่วนใหญ่ก็คือคนที่อยู่ในระหว่างเตรียมสอบเหมือนกัน และต้องการหาเพื่อนที่จะอยู่ด้วยกันในระยะเวลาที่พวกเขาต้องจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือ

มันคือรูปแบบวิธีการติวแบบไม่โดดเดี่ยวเพียงแค่เพื่อนร่วมวงอ่านหนังสืออาจจะเป็นคนแปลกหน้าใครก็ได้จากที่ไหนก็ได้นั่นเอง

ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีใต้รายหนึ่ง ใช้ชื่อแชนแนลว่า 'TheMan Sitting Next to Me' ซึ่งมีผู้ติดตามราว 20,000 คน ได้รับความนิยมมากในกลุ่มวัยรุ่นเตรียมสอบในเกาหลีใต้ เขาสตรีมวิดีโอโดยปกปิดตัวตน เปิดเผยเพียงว่าเขากำลังอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อเตรียมที่จะสอบเป็นนักบัญชีภาษีอากร บอกว่า การอ่านหนังสือคนเดียวมันเหงามาก และมันดีกว่ามากๆ ที่จะมีคนมานั่งอ่านด้วยกัน

studywithme South Korea.jpg
  • Youtube/The Man Sitting Next to Me

“ผมจะถ่ายถอดสดแล้วแต่เวลาการอ่านหนังสือของผม ส่วนใหญ่จะระหว่าง 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน”

แชนแนล The Man Sitting Next to Me อ่านหนังสือเป็นรูทีนทุกวันโดยไม่มีวันหยุด และระบุเวลาพักกลางวันไว้ที่ 12.00-13.10 น. และช่วงเวลามื้อเย็น 18.00-19.10 น. 

เมื่อเข้าไปเยี่ยมเยือนหน้าแชนเนลเขาพบว่า The Man Sitting Next to Me มักจะถ่ายทอดสดตัวเองอ่านหนังสืออย่างจริงจังเสมอในด้านซ้ายของสกรีน ส่วนด้านขวาซอยเป็นช่องเล็กๆ เพื่อให้คนที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ได้ถ่ายทอดสดตัวเองแจมเข้ามาด้วย เขาปิดช่องคอมเมนต์ในบางเวลา เข้าใจว่าเพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิ แต่บางครั้งก็เปิดให้คนคอมเมนต์ได้ เพื่อให้กำลังใจกันและกัน รวมถึงแชร์ทิปเล็กๆ น้อยๆ ในการอ่านหนังสือ 

บิซิเนส อินไซเดอร์ ระบุว่า ยุคที่ไลฟ์วิดีโอมากมายเกิดขึ้นและได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์วิดีโอโชว์การกินอาหารน่ารับประทาน แต่สิ่งที่โดดเด่นของไลฟ์วิดีโอกงแบ็งก็คือ การนำเสนอจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและเอาจริงเอาจัง ความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในการโฟกัสกับการเตรียมสอบ

“สำหรับคนดู พวกเขาจะได้รับแรงบันดาลใจในการที่เห็นคนอื่นก็อ่านหนังสือเหมือนกัน สำหรับผม การได้มีคนดูมาอยู่ด้วยกัน ทำให้ผมไม่มีความคิดที่จะขี้เกียจและเดินหน้ากับการเรียนของผมไปได้เรื่อยๆ เพราะรู้ว่ามีคนคอยติดตามและคอยดูอยู่” เจ้าของแชนแนล The Man Sitting Next to Me บอก

ด้านยู มิน ยอง นักศึกษามหาวิทยาลัยบอกว่า ไลฟ์สตรีมมิ่งเตรียมสอบนี้ ช่วยทำให้เธอสามารถอ่านหนังสือล่วงเวลาได้หลายชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

“ฉันรู้สึกว่ามันท้าทาย เมื่อคนบนหน้าจอนั่งลงอ่านหนังสือกว่าหลายชั่วโมงต่อวันโดยไม่หยุดพัก เมื่อฉันรู้สึกอยากเลิกอ่าน ฉันจะจ้องมองพวกเขาผ่านจอแล้วบอกตัวเองให้ไปต่อ

“แต่ขณะเดียวกัน เวลาต้องอ่านหนังสือตอนดึกๆ กลางค่ำกลางคืน ฉันรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เพราะรู้ว่ามีคนอื่นเหมือนกันที่อดหลับอดนอนทำในสิ่งเดียวกัน ฉันไม่เคยเจอชาวกงแบ็งหรอกค่ะ แต่พวกเขาเหมือนเป็นบัดดี้การอ่านหนังสือของฉันไปเสียแล้ว” ยู บอก

ในปี 2018 ยูทูบระบุตัวเลขว่า มีวิดีโอสตรีมมิ่งอ่านหนังสือสอบแบบนี้ อัพโหลดขึ้นบนแพล็ตฟอร์มกว่า 4,000 ตัวในเกาหลีใต้ และยอดวิวดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม แม้กงแบ็งจะเป็นสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมในฐานะบัดดี้การเตรียมสอบ แต่ขณะเดียวกัน เด็กนักเรียนหลายคนใช้กงแบ็งเป็นเครื่องมือแสดงให้พ่อแม่รับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้ออกนอกลู่นอกทาง และอ่านหนังสือในเวลาว่างเสมอ

Korea Exam1.jpg

ช่วงพฤศจิกายนของทุกปี นักเรียนมัธยมปลายกว่า 650,000 คนจะเข้าสอบ College Scholastic Ability Test (CSAT) เพื่อชิงเก้าอี้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้ พวกเขาเตรียมตัวนานนับปี หรืออาจจะมากกว่านั้น โดยบางคนใช้เวลาเตรียมสอบกว่า 18 ชั่วโมง/วัน ซึ่งความกดดันสูงมาก เพราะที่นั่นไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชนรองรับ หากสอบไม่ติดจะต้องรอสอบรอบใหม่ เรียนต่อต่างประเทศ หรือไม่เรียนต่อเลย

ขณะที่เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม จัดอันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพดีที่สุดเมื่อปี 2017 ระบุว่า เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก

ทั้งนี้ เทรนด์กงแบ็งไม่ได้เกิดขึ้นแค่เกาหลีใต้เท่านั้น ในญี่ปุ่นก็มีเทรนด์คล้ายๆ กันเรียกว่า ‘เบ็นเคียว โตวกะ’ หรือสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่ระบบการศึกษาไม่ได้เคร่งเครียดเท่าเกาหลีใต้ ก็มีการทำวิดีโอรูปแบบคล้ายกันเรียกว่า ‘Study with me’

On Being
198Article
0Video
0Blog