เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ศาลจังหวัดพัทยาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3494-3495/2562 ความอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ บริษัทโรแยลคลีฟ บีช โฮเต็ล จำกัด เป็นโจทก์ร่วม โดยยื่นฟ้องนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช. จำเลยที่ 1 นายนพพรม นามเชียงใต้ จำเลยที่ 2 พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ จำเลยที่ 3 นายสมญศฆ์ พรมภา จำเลยที่ 4 ในความคิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทำให้เสียทรัพย์บุกรุกความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก
และคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ บริษัท โรแยลคลีฟ บีช โฮเต็ล จำกัด เป็นโจทก์ร่วม ระหว่างที่นายนิสิต สินธุไพร จำเลยที่ 1 นายสำเรง ประจำเรือ จำเลยที่ 2 พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ จำเลยที่ 3 นายธรชัย ศักดิ์มังกร จำเลยที่ 4 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน จำเลยที่ 5 นายศักดา นพสิทธิ์ จำเลยที่ 6 นายสิงห์ทอง บัวชุม จำเลยที่ 7 นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อยหรือเกิดดี จำเลยที่ 8 นายวรชัย เหมะ จำเลยที่ 9 พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ จำเลยที่ 10 นายพายัพ ปั้นเกตุ จำเลยที่ 11 นายวัลลภ ยังตรง จำเลยที่ 12 และนายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 13 ในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทำให้เสียทรัพย์บุกรุก ความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งเป็นความผิดที่เกิดจากการบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 9-12 เม.ย. ปี 2552 จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สำหรับ นายอริสมันต์ เป็นแกนนำผู้ชุมนุมที่เมืองพัทยา นำผู้ชุมนุมทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงและที่สมทบจากกรุงเทพฯ เพื่อปิดล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ได้เข้าปิดล้อมหน้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เพื่อเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนอาเซียน วันต่อมาได้กลับมาชุมนุมหน้าโรงแรมอีกครั้ง เพื่อกดดันรัฐบาลให้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มคนสวมเสื้อสีน้ำเงิน ในช่วงเช้า จนกระทั่งรัฐบาลขณะนั้นในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ขอเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด แล้วพาผู้นำประเทศต่างๆ เดินทางออกจากสถานที่ประชุม และขึ้นเครื่องบินกลับโดยทันที
ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีนี้โดยยืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุกนายอริสมันต์ กับพวก เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2558 ศาลจังหวัดพัทยาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาให้จำคุก 4 ปีโดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน
กระทั่งคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกนายอริสมันต์กับพวกรวม 12 คน เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ยกเว้น นายสมญศฆ์ พรมภา เนื่องจากฎีกาของนายสมญศฆ์ฟังขึ้น ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
โดยคำพิพากษาศาลฎีกาได้บรรยายพฤติการณ์เหตุการณ์ก่อนที่จะมีการล้มประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปี 2552 ว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า รัฐบาลไทยซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 9-12 เม.ย. 2552 ก่อนเกิดเหตุ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งมีนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธาน นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรองประธาน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเป็นเลขาธการกลุ่ม นปช. ได้จัดให้มีการชุมนุมใหญ่กลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 25523 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากการเป็นนายกฯ หรือยุบสภาฯ เพื่อให้มีการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ โดยให้เหตุผลว่า นายอภิสิทธิ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย และมีกลุ่มคนเเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไปุชุมนุมที่ลานประชาธิปไตยหลังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาพัทยาเหนือ
ต่อมาเช้าวันที่ 10 เม.ย. 2552 นายอริสมันต์ จำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปปราศรัยที่ลานประชาธิปไตย แล้วเคลื่อนขบวนคนเสื้อแดงไปตามถนนพัทยาสาย 3 มุ่งหน้าไปยังโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยอยู่บนรถบรรทุกและเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ตั้งด่านสกัด เพื่อขอให้เปิดทางให้ จนกระทั่งขบวนคนเสื้อแดงไปถึงบริเวณหน้าโรงแรม จำเลยที่ 1 กับพวกสลับขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาล กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. จำเลยที่ 1 กับพวกเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการประชุมโดยให้เหตุผลว่านายอภิสิทธิ์ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อมกับขอเข้าไปแถลงข่าวที่อาคารศูนย์ประชุมพีช ของโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท
ต่อจากนั้นได้เคลื่อนขบวนกลับไปยังลานประชาธิปไตย ระหว่างทางมีการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินและกลุ่มคนหลากสี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ต่อมาวันที่ 11 เม.ย. 2552 มีกลุ่มคนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งไปชุมนุมที่วงเวียนปลาโลมาในเมืองพัทยา โดยนำรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์ไปจดไว้บริเวณวงเวียนดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 09.00 น. จึงเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปยังโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งชุมนุมกันอยู่หน้าลานประชาธิปไตยก็เคลื่อนขบวนไปยังโรงแรมดังกล่าวเช่นกัน
โดยมีจำเลยที่ 1 ปราศรัยอยู่บนรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง อยู่ในขบวนผู้ชุมนุมและเป็นผู้เจรจาขอให้เจ้าพนักงานตำรวจและทหารที่ตั้งด่านสกัดเปิดทางให้กลุ่มผู้ชุมนุม ระหว่างทางมีการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินอีกครั้งหนึ่งและมีผู้ไดัรับบาดเจ็บ เมื่อไปถึงโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท
จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปแถลงข่าวในอาคารศูนย์ประชุมพีช ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงถูกกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมก้บเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามจับคนร้ายให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกออกมาสมทบกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณหน้าโรงแรม ต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงได้กรูกันเข้ไาปในอาคารศูนย์ประชุมพีช และกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ของโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียนค้นหาตัวนายอภิสิทธิ์
ส่วนรัฐบาลได้เลื่อนการประชุมและนำพาผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนเข้าประชุมสุดยอดอาเซียนหลบหนีกลุ่มคนเสื้อแดงออกจากโรงแรมไปทางทะเล และทางอากาศยาน แล้วรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตเมืองพัทยา ในการชุมนุมที่เมืองพัทยาดังกล่าว จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 6 จำเลยที่ 10 ถึง 13 และจำเลยที่ 15-17 เข้าร่วมชุมนุมด้วย คดีสำหรับจำเลยที่ 8 และ 14 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นอันยุติไปแล้วโดยโจทก์ไม่อุทธรณ์
สำหรับนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่ 1 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายอริสมันต์กับพวกวางแผนนำกลุ่มคนเสื้อแดงไปเดินขบวนชุมนุม โดยมีเจตนาขัดขวางการประชุมสุดยอดอาเซียนมาตั้งแต่แรก แล้วดำเนินการตามแผนโดยจัดการชุมนุมและเดินขบวนไปยังโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ซึ่งเป็นสถานที่จัดให้มีการประชุมและสั่งการให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในโรงแรม จนกระทั่งผู้แทนประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมต้องหลบหนีออกจากที่ประชุมเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับวามปลอดภัย
นายอริสมันต์ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าการกระทำของนายอริสมันต์ กับพวกเป็นการใช้สิทธิในการเดินทาง การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 34 45 และ 63
ฎีกาของนายอริสมันต์ ประการอื่นๆ ล้วนเป็นเรื่องพลความที่ไม่ทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของนายอริสมันต์ ฟังไม่ขึ้น
ส่วน พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ แกนนำ นปช. จำเลยที่ 3 ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดกับนายอริสมันต์ พ.ต.ท.ไวพจน์ อ้างว่า ไม่ได้เข้าร่วมหารือกับนายจตุพรเรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียน จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปราศรัยยั่วยุ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท แต่มาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมและยังห้ามไม่ให้คนเสื้อแดงเข้าไปในโรงแรม ตนจึงไม่ได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ต.ท.ไวพจน์ เบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ได้ลาออกจากราชการตำรวจเพื่อสมัครเป็น ส.ส. เมื่อปี 2539 เคยเป็น ส.ส. จ.กำแพงเพชร รวม 3 สมัย สังกัดพรรคไทยรักไทย และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเสื้อแดง ย่อมเป็นธรรมดาที่จำเลยที่ 3 จะสนใจในกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก
อีกทั้ง พ.ต.ท.ไวพจน์ เบิกความรับอีกว่า ได้ติดตามดูข่าวสารทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่พัทยา จึงเดินทางไปร่วมชุมนุมโดยขึ้นเวทีปราศรัยบนรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงในระหว่างการชุมนุม มีเนื้อหาสาระเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือยุบสภา โดยอ้างว่า นายอภิสิทธิ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งโดยไม่ชอบ และเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนไม่ยอมรับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ อันเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ประกอบกับการจัดการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมาก เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง "จำต้องมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน" เพื่อควบคุมฝูงชนไปปฏิบัติการให้บรรลุวัตถุประสงค์ นายอริสมันต์ย่อมไม่อาจกระทำตามลำพังได้เพียงคนเดียว
พ.ต.ท.ไวพจน์ ก็เบิกความรับว่า รู้จักกับนายอริสมันต์ว่า “ไอ้กี้” อันแสดงความสนิทสนมกับนายอริสมันต์ จำเลยที่ 1
และได้ขึ้นปราศรัญบนรถคันเดียวกับนายอริสมันต์ จำเลยที่ 1 อีกทั้งยังได้ปราศรัยหลายช่วงเวลา สลับกับการร้องเพลงและรำวง จนกระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกเข้าไปในโรงแรม พ.ต.ท.ไวพจน์ก็ยังคงอยู่บนรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 หลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว นายอริสมันต์ได้กลับไปขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพนักงานสอบสวนถอดข้อความคำปราศรัยของนายอริสมันต์ จากบันทึกวิดีโอทางสถานีโทรทัศน์ช่อง "ดีทีวี" มีใจความตอนหนึ่งว่า
“...กลับมานั่งคิดงานกัน เรียกประชุมทีมงานที่กำลังเดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นท่านไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นะครับ พายัพนะครับ และก็ท่านนิสิต สินธุไพร และก็อีกหลายๆ คน ได้ประชุมหารือกัน...ผมให้เวลารัฐบาล 1 ชั่วโมง ผมขอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์จับคนที่ยิงคนเสื้อแดงมาลงโทษภายใน 1 ชั่วโมง ให้เวลาตั้งแต่ 12 ถึง 13 นาฬิกา ผมสั่งให้คนเสื้อแดงกินข้าว กินน้ำ ทำตัวให้พร้อมแล้วก็ตั้งสมาธิให้ดี ช่วยดูข้างบนให้ด้วยว่าเขาประชุมกันห้องไหน เอาเจ้าหน้าที่โรงแรมมาอยู่กับเรา...ขณะนั้นเนี่ยพี่ไวพจน์ของเรากำลังเป็นคนปลุกใจพี่น้องประชาชน"
"ผมก็บอกว่าพี่ไวพจน์สั่งคนเสื้อแดงเดินเข้าห้องประชุมทันที เดินทางเข้าไปในโรงแรมทันที คนเสื้อแดงก็ฟังพี่ไวพจน์ พอเดินมาถึงครึ่งทางเกิดเปลี่ยนใจกะทันหันเล็กน้อยหันมามองหน้าผมเอางั้นเลยเหรอกี้ เอางั้นเลยเหรอ ผมบอกสั่งเอาเลย เอาเลย เอ้ากี้คุณเสียงดีกว่าผม คุณประกาศเลย”
นอกจากนี้นายอริสมันต์ยังกล่าวปราศรัยอีกตอนหนึ่งว่า “ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ พายัพ ปั้นเกตุ พี่ง้อ ด็อกเตอร์สิงห์ทอง เอ้าทุกคนมายืนมายืนตรงนี้กันหน่อยครับ ผมจำชื่อกันไม่ได้ นะครับ แต่ละคนนะครับ มีส่วนร่วมทั้งนั้นนะครับ”
ซึ่งได้มีการปรึกษาหารือกันในระหว่างการชุมนุม และกล่าวถึง พ.ต.ท.ไวพจน์ กับพวก ซึ่งมีส่วนร่วมกับนายอริสมันต์ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ และนายอริสมันต์ กล่าวถึงด้วย
นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงการกระทำของ พ.ต.ท.ไวพจน์ มิได้มีบทบาทสำคัญในฐานะทีมงานที่ช่วยกันดูแลและชี้นำกลุ่มคนเสื้อแดงในการชุมนุมที่พัทยา นายอริสมันต์ ก็คงไม่กล่าวยกย่อง พ.ต.ท.ไวพจน์ ต่อที่ชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงเป็นแน่แท้
ที่ พ.ต.ท.ไวพจน์ อ้างว่าได้ปราศรัยห้ามมิให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในโรงแรมเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ พฤติการณ์การกระทำของ พ.ต.ท.ไวพจน์ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ไวพจน์ ร่วมกับนายอริสมันต์ ในการชมนุมคนเสื้อแดงเพื่อขัดขวางการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยแบ่งหน้าที่กันทำ พ.ต.ท.ไวพจน์ จึงเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดกับนายอริสมันต์ จำเลยที่ 1
ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 - 3 ที่ 5 ที่6 ที่ 10 -13 และที่ 15 - 17 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของนายสมญศฆ์ พรมภา จำเลยที่ 4 ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
ข่าวที่เกี่ยวข้อง