ไม่พบผลการค้นหา
'วรวลัญช์ ทวีกาญจน์' หรือ หนาม ดีกรีรองอันดับสองมิสทิฟฟานี 2018 กับความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบครุศาสตร์ เธอตระเวนสมัครครูตามโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ แต่ถูกปฏิเสธเพราะเพศสภาพ เพราะอาจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับนักเรียน

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nada Chaiyajit เผยแพร่เรื่องราวของสาวข้ามเพศ ที่มีดีกรีเป็นถึงรองอันดับ 2 มิสทิฟฟานี ปี 2018 จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการตระเวนสมัครเป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องด้วยเพศสภาพ

โดยใจความในโพสต์ดังกล่าวระบุว่า เธอฝันอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กๆ และเป็นครูสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์มาตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำหรับเส้นทางการตามล่าความฝันสู่จุดหมายการเป็นครู เธอได้ไปสมัครที่โรงเรียนเครือคริสตจักรถึง 4 แห่ง แต่ถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย เพราะเธอเป็นครูข้ามเพศ โดยให้เหตุผลว่าผู้บริหารคงไม่ปลาบปลื้มเท่าไหร่ อาจมีปัญหาเรื่องชู้สาวและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับนักเรียนในโรงเรียน

หลังจากนั้นเธอมุ่งหน้าสู่เวทีประกวดนางงามข้ามเพศระดับประเทศ คว้าตำแหน่งรองอันดับ 2 เพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นบุคคลต้นแบบ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทีบมกับคนอื่น ซึ่งหลังจากได้รับตำแหน่ง เธอก็ไม่หยุดตามความฝัน สมัครอาชีพครูอีกครั้ง จนได้เข้าไปถึงกระบวนการสัมภาษณ์ แต่คำถามที่ได้รับกลับมากลายเป็นว่า "เป็นถึงรองมิสทิฟฟานี ทำไมไม่เดินสายนักแสดง นางโชว์ หรือเป็นพนักงานขายเครื่องสำอางค์ ที่นี่โรงเรียนคริสเตียนอาจจะไม่เหมาะสม"

ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวระบุว่า วันที่ 2 พ.ค.นี้ หนาม วรวลัญช์ จะเดินทางไปยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม ภายใต้กลไกการคุ้มครอง คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กับอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

ซึ่งหลังจากโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกโซเชียล มีคนจำนวนมากได้มาให้กำลังใจ และตั้งคำถามว่าทำไมเธอถึงเลือกแต่สมัครเป็นครูในโรงเรียนคริสต์เท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีคนแนะนำว่าให้เธอสอบบรรจุครูผู้ช่วยให้ได้

โดยต่อมาเธอชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนคริสต์ และเธอไม่ได้สมัครแต่โรงเรียนชายล้วนเท่านั้น แต่ยังสมัครทั้งโรงเรียนหญิงล้วน และสหศึกษา ขณะเดียวกันเธอคิดว่าการสมัครแต่โรงเรียนเอกชนนั้น เป็นทางเลือกที่ดีให้กับตัวเอง แม้จะมีโรงเรียนที่มีครูที่เป็นสาวข้ามเพศหลายที่ หรือการที่สามารถสอบบรรจุก็สามารถเป็นครูได้ทุกที่ แต่เธอคิดว่าสิ่งที่เจอเป็นการเลือกปฏิบัติ ขณะที่มีกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ พ.ศ.2558 คิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเราก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีกฎหมายคุ้มครอง มีสิทธิ์และความเท่าเทียมที่ควรได้รับ