ไม่พบผลการค้นหา
จาก นักกฎหมายมหาชน-แกนนำม็อบการเมือง-อัยการสูงสุด สู่บอร์ดปฏิรูปประเทศชุดใหม่ 'บวรศักดิ์' ดูแลกฎหมาย 'เสรี วงษ์มนฑา' คุมสื่อสารมวลชน 'สนธิญาน' นั่งกรรมการด้านการเมือง

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ (ฉบับที่ 2) ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และมีมติเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ลงวันที่ 15 ส.ค. 2560 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประทศ พ.ศ.2560 แล้วนั้น  

เนื่องจาก ต่อมาประธานกรรมการและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศบางคนพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 16 และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน เพื่อประโยชน์ในการประสานงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านอื่นเพิ่มขึ้นตามมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ประกอบกับอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 

คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการเดิมและกรรมการที่ไต้รับแต่งตั้งใหม่หรือสับเปลี่ยนคณะ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ และเพื่อให้คณะกรรมการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลงพร้อมกัน จึงให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ และใช้ประกาศฉบับนี้แทน 

อดีตกมธ.ยกร่างรธน. - แกนนำกปปส.-อัยการสูงสุด คุมปฏิรูปถึง 2565

โดยในประกาศดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่มี 11 คณะ เป็น 13 คณะ รวมมีจำนวนกรรมการทั้งหมด 185 คน สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 คณะ ได้แก่ 

1) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มีนายปกรณ์ ปรียากร (อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ) เป็นประธานกรรมการ จากเดิมคือนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์  

โดยมีรายชื่อที่น่าสนใจ ในด้านการเมืองคือ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวทีนิวส์) นั่งเป็นกรรมการ

2) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งเดิมคือนายกฤษฎา บุญราช 

3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ( อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) เป็นประธานกรรมการ  

อีกหนึ่งคณะกรรมการที่น่าสนใจคือ ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมขบวนด้วย

บวรศักดิ์.jpg
  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีนายเข็มชัย ชุติวงศ์ (อัยการสูงสุด) เป็นประธานกรรมการ เปลี่ยนจากนายอัชพร จารุจินดา  

5) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ มีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ (ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล) เป็นประธานกรรมการ เปลี่ยนจากเดิมคือนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล  

6) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนายรอยล จิตรดอน (ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ) เป็นประธานกรรมการ

7)คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข มีนายอุดม คชินทร ( อดีตสมาชิกวุฒิสภา) เป็นประธานกรรมการ เปลี่ยนจากนายเสรี ตู้จินดา  

8) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีนายเสรี วงษ์มณฑา (ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย ) เป็นประธานกรรมการ เดิมคือนายจิรชัย มูลทองโร่ย  

รวมถึง นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโสชื่อดัง เป็นกรรมการในคณะ

เสรี วงษ์วงฑา
  • เสรี วงษ์มณฑา

9) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ 

10) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน มีนายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานกรรมการ 

11) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งเดิมคือนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ  

12) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ 

13) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีนายนิธิ มหานนท์ เป็นประธานกรรมการ

นอกจากนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามประกาศนี้ มีวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 14 ส.ค. 2565 อันครบกำหนด 5 ปี นับจากวันแต่งตั้งครั้งแรก เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามกฎหมาย โดยให้ได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

อนึ่งสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานที่ประชุม ครม.มีมติตามที่ สศช. เสนอให้ปรับปรุงค่าตอบแทนของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 เพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ 

  • คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ระบุว่า คณะกรรมการจัดทำยุทธศาตร์ชาติ ประธานได้รับค่าตอบแทน 12,000 บาท รองประธาน 9,600 บาท กรรมการ 9,600 บาท เลขานุการฯ 4,800 บาท ผู้ช่วยเลขานุการฯ ไม่เกิน 2 คน คนละ 2,250 บาท
  • คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ระบุว่า การประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ ประธานจะได้รับค่าตอบแทน 9,000 บาท รองประธาน 9,000 บาท กรรมการ 9,000 บาท เลขานุการฯ 4,500 บาท ผู้ช่วยเลขานุการฯ ไม่เกิน 2 คน คนละ 2,250 บาท
  • คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ประธานได้รับค่าตอบแทน 9,000 บาท รองประธาน 7,200 บาท กรรมการ 7,200 บาท เลขานุการฯ ไม่ได้รับค่าตอบแทน และผู้ช่วยเลขานุการฯ ไม่เกิน 2 คน คนละ 3,600 บาท

อ่านเพิ่มเติม