หากมองกันอย่างผิวเผินตามที่ชนชั้นนำปรารถนา กฎหมายเป็นเพียงบทบัญญัติที่เข้ามาจัดระเบียบความเรียบร้อยให้สังคม ทว่าภายใต้โครงสร้างการปกครองที่ซ้ำซ้อนและซ่อนเงื่อน กฎหมายกลับเป็นหลักฐานสำคัญของการคงอยู่ซึ่งความบิดเบี้ยวของสังคม และ มาตรา 44 ทวิ ของพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 คือหนึ่งตัวอย่างสำคัญ
เนื้อความในมาตราดังกล่าวระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าหรือชาวไทยไม่อาจวิจารณ์พระสังฆราชได้เลยหรือ
'สุรพศ ทวีศักดิ์' นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เผยกับ 'วอยซ์' ว่า การคงอยู่ของกฎหมายข้างต้นผิดวิสัยทั้งในโลกเสรีประชาธิปไตยและโลกของพระธรรมวินัย-คำสอนของศาสดา ในสังคมที่มนุษย์ทุกคนเท่ากัน กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาทั้งที่บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาหรือที่ขึ้นกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายพิเศษขึ้นมาปกป้องประมุขสงฆ์ไทยเพิ่มอีก
นอกจากนี้ ยังไม่มีคำสอนใดหรือหลักธรรมพิเศษของศาสนาที่ระบุว่า หากมีการวิจารณ์พระพุทธเจ้า, หลักธรรมคำสอน หรือพระสงฆ์แล้วต้องเอากฎหมายมาลงโทษ สิ่งที่ชัดเจนตามคำสอนของศาสดาคือ หากมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นจริง ทั้งพระสงฆ์และชาวพุทธต้องมีสติ ไม่โกรธเคืองต่อผู้ตั้งคำถามและท้าทายคำสอน แต่ให้ชี้แจงกลับด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล
"พระสังฆราชจะเป็นกษัตริย์ของพระของชาวพุทธหรือไง เป็นคนที่แตะไม่ได้หรือยังไง"
เจ้าของนามปากกา 'นักปรัชญาชายขอบ' สะท้อนว่า แม้โทษจาก ม.44 ทวิ ไม่นับว่ารุนแรง อีกทั้งยังไม่นับเป็น 'ความผิดอาญาแผ่นดิน' ที่อนุญาตให้พนักงานสอบสวนที่พบการกระทำผิดหรือบุคคลทั่วไปทุกคนสามารถเป็นผู้กล่าวโทษได้อย่างกรณีของ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทว่าการมีกฎหมายพิเศษเช่น ม.44 ทวิ สะท้อนปัญหาในเชิงการบังคับใช้ว่า หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการกระทำบางอย่างแล้ววิจารณ์ออกสู่สาธารณะ จะนับเป็นการกระทำผิดหรือไม่
"ภายใต้ระบบที่สามารถออกกฎหมายให้ขัดกับธรรมวินัยที่สอนชาวบ้านได้ โครงสร้างแบบนี้มันทำให้อะไรบิดเบี้ยวไปหมด"
เมื่อย้อนกลับไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ กฎหมายในทำนองปกป้องพระสังฆราชอย่างกรณีข้างต้น เพิ่งปรากฏใน พ.ร.บ.ฉบับล่าสุด หรือ ของปี 2535 ขณะที่เนื้อความใน พ.ร.บ.ฉบับก่อนหน้าปี 2505 ในมาตราเดียวกันระบุเพียงว่า
"ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ" คล้ายคลึงกับบทลงโทษในมาตรา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 55 ซึ่งระบุว่า "ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย หรือพระภิกษุสงฆ์คณะใดคณะหนึ่ง อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี"
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ดั้งเดิม สมัยรัชกาลที่ 5 (พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121) ไม่ปรากฏเนื้อความที่สะท้อนการให้อภิสิทธิ์ปกป้องการหมิ่นประมาทคณะสงฆ์หรือพระสังฆราช ไม่มีแม้แต่เนื้อความที่สะท้อนถึงการคงอยู่ของตำแหน่ง 'พระสังฆราช' ตั้งแต่ต้น แต่สะท้อนการคงอยู่ของราก 'มหาเถรสมาคม'
งานศึกษาของ ธนากร พันธุระ และ ผศ.อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้หัวข้อที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของศาสนาและอำนาจการเมืองประเทศไทย ด้วยกรณีศึกษาจากคำสอนของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) สะท้อนการคงอยู่ของศาสนาพุทธในฐานะเครื่องมือการครอบครองอำนาจทางการเมืองของชนชั้นปกครอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรวมสถาบันศาสนาเข้ามาอยู่ในระบบราชการของรัฐ และมีการแต่งตั้งสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า 'การปฏิรูปพุทธศาสนา'
งานศึกษาข้างต้นอ้างอิงคำวิจารณ์ต่อการปฏิรูปดังกล่าวของ 'วิจักขณ์ พานิช' นักวิชาการด้านศาสนา ที่มองว่า "เป็นจุดเริ่มต้นที่พุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจรัฐ จนศาสนามีความใกล้ชิดและยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐอย่างแนบแน่น ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางสังคม"
ในมุมมองของวิจักขณ์นั้น สถานะทางสังคมของพระสงฆ์ที่สูงขึ้นทั้งยังมีอำนาจทางสังคมไปจนถึงการเมืองการปกครอง ส่งให้ ศาสนาที่เคยงอกงามในพื้นที่ท้องถิ่นกลายเป็น "พุทธศาสนารูปแบบราชสำนัก" โดยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสู่ ระบอบประชาธิปไตยในปี 2547 แต่ความสัมพันธ์ของสถาบันศาสนากับชนชั้นปกครองกลับไม่ได้สูญหายไป เพียงแต่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และบริบททางสังคม
สืบเนื่องจากงานศึกษาดังกล่าว 'สุรพศ' ย้อนไทม์ไลน์ศาสนาและการเมืองว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตรากฎหมายพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้นมา สืบเนื่องมากถึงปัจจุบัน การมีอยู่ของคณะสงฆ์ที่เรียกว่า 'มหาเถรสมาคม' รวมไปถึงตำแหน่ง 'พระสังฆราช' อาจพูดง่ายๆ ว่าเป็น 'ศาสนจักรของรัฐ' ซึ่งดำเนินเช่นนั้นมาตลอด
แม้มีการปฏิวัติเปลี่ยนการปกรอง แต่ 'คณะราษฎร' หรือ สมาคมคณะราษฎร กลุ่มสำคัญในการปฏิวัติประเทศตอนนั้นไม่ได้มีแนวคิดแยกศาสนาออกจากรัฐเช่นเดียวกัน
"ประวัติศาสตร์บ้านเรา ไม่มีความคิดแบบ secularism (โลกวิสัย หรือ แนวคิดที่ปฏิเสธอำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา ) มาท้าทาย มาตั้งคำถามเลย มีความคิดว่าในเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลต้องมาอุปถัมภ์พุทธศาสนา (แต่เดิมอยู่ที่กษัตริย์) แต่ว่าเนื่องจากเรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งและมีกษัตริย์ มันเลยไม่ลงตัว"
ในช่วงแรกของการปฏิวัติ 'สุรพศ' ชี้ว่า คณะราษฎรภายใต้ ปรีดี พนมยงค์ ยกเลิกระบบมหาเถรสมาคมที่กษัตริย์ตั้งขึ้น แล้วเปลี่ยนเป็นระบบสภาสงฆ์หรือ 'สังฆสภา' ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ต่อมาเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามายึดอำนาจ จึงยกเลิกระบบของปรีดีแล้วดึงให้พุทธศาสนากลับมาอยู่ภายใต้สถาบันสูงสุดของประเทศเช่นเดิม
'นักปรัชญาชายขอบ' ขยายความเพิ่มว่า ในอดีตศาสนจักรขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์เนื่องจากเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอาจเทียบได้กับสมัยยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5-15) ของยุโรป ซึ่งเป็นยุคสมัยที่หากศาสนจักรไม่ขึ้นอยู่กับกษัตริย์ ก็คานอำนาจซึ่งกันและกัน ทว่าความแตกต่างของศาสนจักรในฝั่งยุโรปกับไทยคือ ศาสนจักรของไทยไม่ได้คานอำนาจสถาบันสูงสุดแต่อยู่ใต้อำนาจของสถาบันมาตลอด
"มันเป็นระบบที่ตกทอดมาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมเรียกว่า ‘พุทธราชาชาตินิยม’ คือ พุทธเป็นกลไกในการสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม มันเป็นระบบแบบนี้ มันแทบจะเรียกว่าเป็นรัฐศาสนาก็ได้"
'สุรพศ' เสริมว่า การที่ไทยอาจถูกเรียกว่าเป็น 'รัฐศาสนา' ได้ เป็นเพราะรัฐบาลต้องอุ้มชูศาสนาพุทธด้วยเม็ดเงินผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถึงปีประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยตัวเลขในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 4,930.51 ล้านบาท ขณะที่งบของปี 2563 อยู่ที่ 4,854.16 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับงบประมาณประจำปีของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ 5,478.16 และ 5,363.85 ล้านบาท ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ
"มันแปลกอย่างหนึ่ง คือคนไทยไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้จ่ายภาษีให้ศาสนา คือเราไม่รู้ตัวว่าเราได้จ่ายภาษีให้กับศาสนา แต่จริงๆ เราจ่าย แล้วมันก็มีปัญหาในแง่ที่ว่า ภายใต้ระบบแบบนี้ ถ้าพระอย่าง 'แก๊งแครอท' (พระสงฆ์และสามเณรที่ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย) หรืออย่างพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไปออกรายการจอมขวัญ เขาก็จะเอาผิด สำนักงานพระพุทธศาสนาจะเอาผิดว่าไปแสดงความเห็นทางการเมืองขัดกับมติมหาเถรสมาคม แต่พอ ว.วชิรเมธี ไปออกรายการเดินหน้าประเทศไทย สนับสนุนค่านิยม 12 ประการมันกลับไม่ใช่การเมือง มันเป็นรัฐศาสนาหรือรัฐอะไรก็ไม่รู้"
ตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองขอพระสงฆ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจปกครองยังมีเพิ่มเติมจากกรณีของ ว.วชิรเมธี ผ่านงานศึกษาเดิมจาก ธนากร พันธุระ และ ผศ.อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ ที่พบว่า เมื่อ 9 เม.ย. 2553 ว.วชิรเมธี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (Vajiramedhi) ว่า "ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน" หรือ "ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน" ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเพียง 1 วัน ก่อนเกิดเหตุสลายชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว อันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องไปสู่การสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ใน สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ผู้วิจัยชี้ว่า วาทกรรมข้างต้นแม้ดูเป็นเพียงคำสอนธรรมดา แต่เมื่อพิจารณาสถานการและห้วงเวลาแวดล้อมสามารถ "เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าพระ ว.วชิรเมธี กำลังประกอบสร้างวาทะบางอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง"
นอกจากนี้ผู้วิจัยยังเสริมว่า แม้ ว.วชิรเมธี อ้างได้ว่าไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงปราบปรามคนเสื้อแดง ทว่า ขณะที่สังคมที่ความขัดแย้งสูง ว.วชิรเมธีกลับไปจัดรายการทาง ASTV พร้อมเขียนบทความสนับสนุนการเลือกข้างว่า “ธรรมอยู่ฝ่ายไหน พระต้องเลือกอยู่ฝ่ายนั้น” ในบริบทที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศใช้ “ธรรมนำหน้า” ในการต่อสู้ทางการเมือง
งานศึกษาปิดท้ายประเด็นดังกล่าวว่า "วาทะของพระ ว.วชิรเมธี ถือได้ว่าเป็นการผลิตซ้ำในโลกออนไลน์ของการสร้างคุณค่าและตอกย้ำความชอบธรรมของฝ่ายชนชั้นปกครอง นั่นคือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น แม้พื้นที่ในการเผยแพร่ของวาทะทั้งสองจะแตกต่างกันโดยเปลี่ยนไปตามความทันสมัยของสังคม หากแต่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ซึ่งก่อให้เกิดการรับรู้ การตีความ และผลทางสังคมที่ตามมาไม่ว่าจะ เป็น “like” “ถูกใจ” “สาธุ” “สะใจ” “แชร์นะคะ” รวมถึงสร้างความโกรธแค้น ไม่พอใจให้กับผู้รับสารกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตผูกโยงอยู่กับ “การฆ่า” ของเจ้าหน้ารัฐภายใต้บริบททางการเมืองที่แย่งชิงอำนาจกันของทั้งสองฝ่าย"
ภายใต้โครงสร้างพุทธศาสนาที่ผ่านมาเช่นนี้ 'สุรพศ' ชี้ว่า โอกาสมีน้อยมากที่สังคมจะมองเห็นการปรับตัวของศาสนา อาทิ กรณีเปรียบเทียบกับ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ป ฟรานซิส ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกคนปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2556 ที่แสดงออกค่อนข้างชัดเจนในการ สนับสนุน LGBTQ แม้คำสอนของคาทอลิกระบุ "พฤติกรรมรักเพศเดียวกัน คือความผิดปกติโดยเนื้อแท้ ซึ่งเมื่อมองกลับมาในบริบทของไทยอาจเป็นการเปิดโอกาสให้พระสงฆ์สามารถแสดงออกทางการเมืองได้โดยไม่นับเป็นการผิดมติมหาเถรสมาคม
"ถ้าอยู่ภายใต้โครงสร้างอย่างนี้ ไม่เห็นแน่นอน เพราะว่าเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง ยิ่งมีตำแหน่งสูงเท่าไหร่ยิ่งระมัดระวัง ยิ่งไม่พูดอะไรตามความคิดอิสระของตัวเอง คือระบบที่เป็นอยู่มันเป็นระบบที่บั่นทอนศักยภาพ ความสามารถทางสติปัญญาของปัจเจคบุคคล ของพระสงฆ์ที่เป็นปัจเจกบุคคล ยิ่งใหญ่ยิ่งโตขึ้นไปก็คล้ายๆ กับทหารเลยระบบของพระเรา คือถ้าคุณใหญ่ขึ้น คุณก็เป็นกลไกอำนาจของฝ่ายกษัตริย์เป็นหลัก คุณไม่สามารถที่จะมีความคิดอิสระเป็นของตัวเองแล้วก็ คุณก็สามารถใช้อำนาจในฐานะเป็นมหาเถรสมาคม ออกมติทำให้พระหนุ่มๆ อย่างแก๊งแครอทไปทำอะไรก็ผิดไปหมด"
ด้วยเหตุนี้ ทางออกของปัญหาพุทธศาสนาจึงไม่อาจแก้ได้โดยปราศจากการการปรับตัวจากฝั่งสถาบันบริหารประเทศ 'สุรพศ' ชี้ว่า หากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ ถ้ากษัตริย์ถูกตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบได้แบบอังกฤษ การแยกศาสนาออกจากรัฐเป็นไปได้
ทั้งยังเป็นเรื่องที่ดีกับทั้งฝ่ายรัฐที่จะเดินหน้าสู่การเป็น 'รัฐโลกวิสัยเสรีประชาธิปไตย' ที่แยกศาสนาออกจากการเมืองชัดเจน ขณะที่ฝ่ายสงฆ์จะมีอิสระให้พระสงฆ์ในการปกครองตัวเอง ปรับเป็นองค์กรเอกชนที่สามารถเติบโตได้ด้วยตนเองโดยไม่โดนแทรกแซงจากรัฐ "ยกเว้นในเรื่องที่มันผิดกฎหมายทางโลก เพราะว่ามันไม่มีกฎหมายทางสงฆ์โดยเฉพาะ"
สุรพศ ปิดท้ายว่า 'รัฐฆราวาส' คือ ภาวะที่ไม่ว่าองค์กรศาสนาไหนก็แล้วแต่ ไม่มีสิทธิที่จะเอาอำนาจรัฐไปใช้เพื่อปกป้องความเชื่อทางศาสนาของตัวเอง หรือว่าปกป้ององค์กรหรือกลุ่มศาสนาของตัวเอง ตัวเองก็อยู่แบบองค์กรเอกชน กำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ขึ้นมาในการบริหารจัดการองค์กร จะเอากฎหมายไปใช้ไม่ได้ แล้วเอางบประมาณแผ่นดินไปใช้ไม่ได้ ซึ่งท้ายสุดแล้ว ภาวะดังกล่าวไม่อาจเกิดได้ "ถ้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ การแยกศาสนาจากรัฐมองไม่เห็นเลย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;