ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ กล่าวปราศรัยวันสหประชาชาติ ประจำปี 66 ย้ำไทยมุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจ และความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ร่วมสร้างสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 24 ต.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวคำปราศรัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติ ประจำปี 2566 โดย ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ ซึ่งเป็นวันก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและผสานความร่วมมือด้านการพัฒนาของประชาคมโลก

ซึ่งในเดือนธันวาคม 2566 นี้ จะครบรอบ 77 ปีของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย และปีนี้ยังครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติได้มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบมาโดยตลอด เช่น ความมุ่งมั่นของไทยที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025 – 2027

นายกรัฐมนตรีมีความภาคภูมิใจที่ไทยเป็นที่ตั้งของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และสำนักงานหน่วยงานของสหประชาชาติกว่า 40 หน่วยงาน สะท้อนว่า ไทยเป็นที่ยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและเสริมสร้างโอกาสสำหรับสินค้าและบริการของไทยให้กับสหประชาชาติ โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมช่วงสัปดาห์ผู้นำของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งภารกิจครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก คือ การสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อประเทศไทย โดยย้ำการยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนบทบาท ของสหประชาชาติ ในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ทุกประเทศเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการรับมือกับวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพโลกและต่อความมั่นคงทางพลังงานและอาหารของโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุก ๆ คน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเร่งขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ประการที่สอง ไทยได้ผลักดันความร่วมมือในด้านที่ไทยเรามีบทบาทโดดเด่นและได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ซึ่งยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อาทิ สาธารณสุขภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “30 บาทรักษาทุกโรค” หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน 

ประการที่สาม การสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศต่าง ๆ และภาคเอกชนเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนพบปะผู้แทนชุมชนไทยและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทย ซึ่งคือหน่วยงานราชการไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำสหรัฐอเมริกา

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันต้องอาศัย ความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ระบบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นเสาหลัก โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและวิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งต้องการให้สหประชาชาติสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาคมระหว่างประเทศในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี บรรเทาสถานการณ์ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลไทยมุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจของสหประชาชาติและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้างสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนไทยและประชาคมโลก และสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับอนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ ไป