ไม่พบผลการค้นหา
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบ - ประกาศ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. 9 ฉบับแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ 12 ม.ค. โดยมีกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 1.5 ล้านบาท พรรคการเมืองใช้จ่าย 35 ล้านบาท ขณะที่การหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ห้ามปลุกระดมหรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 9 ฉบับในวันนี้ (11 ม.ค.) โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 12 ม.ค.นี้เป็นต้นไป

โดย 9 ฉบับประกอบด้วย 1.ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561

2.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ พ.ศ.2561 

3.ระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

4.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

5.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป พ.ศ.2561

6.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

7.ประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

8.ประกาศ กกต. เรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 

และ 9.ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561

สำหรับประกาศ กกต. เรื่องกำหนดเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มีสาระสำคัญระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ใช้บังคับ ระยะเวลาการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ให้นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เกิน 35 ล้านบาท

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายการเลือกตั้งใหม่ โดยเขตที่ต้องรับสมัคร ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัคร แต่ละคนใช้จ่ายไม่เกิน 750,000 บาท ส่วนเขตเลือกตั้งใดที่ไม่ต้องรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครแต่ละคนใช้จ่ายไม่เกิน 500,000 บาท

ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท

สุดารัตน์ พรรคเพื่อไทย เลือกตั้ง หาเสียง MG_0222.jpg

ส่วนประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะจัดทำประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งนั้น โดยกำหนดเป็นแนวตั้ง มีขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร ขนาดความสูงไม่เกิน 42เซนติเมตร (กระดาษขนาด เอ3) พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต

การกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ผู้ว่าราชจังหวัดกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งแก่ผู้สมัครที่จะปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเขตจังหวัดนั้น ณ ศาลากลางจังหวัด 

กำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงผู้สมัคร - พรรคการเมือง

ขณะที่การจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครจัดทำแผ่นป้ายได้จำนวนไม่เกิน 2เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และให้พรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต  

ทั้งนี้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องไม่ติดแผ่นป้ายทับซ้อนหรือปิดบังแผ่นป้ายของผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น

การกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายจะต้องเป็นบริเวณพื้นที่สาธารณสถาน เช่น ถนนสาธารณะ ที่สาธารณะ หรือสาธารณสถานอื่นของรัฐที่เห็นสมควร เพื่อติดแผ่นป้ายเกี่ยวการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งให้เพียงพอและเท่าเทียมกัน

เข้มห้ามหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลด้วยถ้อยคำก้าวร้าว - พาดพิงสถาบัน

ส่วนระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กำหนดการดำเนินการเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง โดยเมื่อมีความปรากฎต่อ กกต.ว่าผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดกระทำการที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง หรือเป็นการต้องห้ามข้อ 17 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง หรือหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม ให้ กกต.สั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลนั้น และให้เลขาธิการ กกต.แจ้งคำสั่งให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง ผู้ใดที่กระทำไม่เป็นไปตามระเบียบนี้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยเร็ว

การแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล ไม่ลบล้างความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว และสามารถเป็นเหตุให้กกต.สืบสวนไต่สวนตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาดได้

การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือผู้ใด สามารใช้วิธีหาเสียงผ่านทางอิเล็กทรอนิสก์ได้ด้วยตัวเอง หรือมอบ หรือว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลดำเนินการแทน ผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชัน อีเมล์ เอสเอ็มเอส สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท