กานต์ ไม่ได้เป็นศิลปินหน้าใหม่ในวงการช่างภาพ เขาเคยจัดแสดงงานภาพถ่ายเมื่อปี 2553 ช่วงปลายเดือน พ.ค. ครั้งนั้นเขานำภาพถ่ายระหว่างการชุมนุม และการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง มาจัดแสดงโดยตัดสินใจถอดสีภาพทุกใบให้เหลือเพียงสีขาวดำ และให้ชื่อนิทรรศการภาพถ่ายชุดนั้นว่า Gray “RED SHIRT” ด้วยหวังใจว่าการถอดสีออก อาจทำให้ผู้คนในสังคมมองเห็นความเป็นคนของคนเสื้อแดง ที่เพิ่งถูกปราบปรามโดยอาวุธสงครามกลางเมืองหลวง
เขากลับมาอีกครั้งหลังผ่านไป 12 ปี พร้อมกับนิทรรศการภาพถ่ายชื่อว่า POST 2011 รวมภาพถ่ายการต่อสู้ของประชาชนต่ออำนาจเผด็จการนับตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
จากหลายหมื่นภาพเขาคัดสรรให้เหลือประมาณ 112 ใบ พร้อมกับเรื่องราวต่างๆ เบื้องหลังภาพถ่ายเหล่านั้น ภาพทั้งหมดถูกจัดแสดงไว้ที่ Cartel Artspace เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 13.00 - 18.00 น. ทุกวันจนถึงวันที่ 12 ส.ค. 2565 และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่ง เมื่อกานต์เป็นผู้พาชมงานของเขาเอง
ผนังทั้งสามด้านถูกติดเต็มไปด้วยภาพถ่าย กานต์ผายมือไปทางฝั่งซ้ายพร้อมเล่าว่า เซ็ตภาพฝั่งนี้เริ่มต้นขึ้นหลังปี 2553 ซึ่งเขาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนที่เพิ่งมาติดตามการเมืองอาจจะยังไม่รู้ว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และผู้คนที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในปัจจุบันนี้ต่างก็มีบทบาทอยู่ในทั้งกลุ่มสีส้ม และสีแดง
หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของนิทรรศการนี้คือความพยายามย้อนทบทวนความทรงจำของผู้คนฝ่ายประชาชาธิปไตยว่า ที่ผ่านมา ‘เรา’ ต่างก็ต่อสู้ร่วมกันมาตลอด และจะยังต่อต่อสู้ร่วมกันต่อไปอีกในอนาคต
ทั้งภาพถ่าย โจ กอร์ดอน ลูกครึ่งเชื้อสายไทย-อเมริกัน ในชุดนักโทษถูกจับกุมดำเนินคดี ม.112 จากกรณีแปลหนังสือทางวิชาการชื่อเรื่องว่า The King Never Smiles ภาพฝ่ามือที่เขียนว่า ‘อากง’ ซึ่งคือชื่อของ อำพล ตั้งนพกุล ถูกจับกุมดำเนินคดี ม.112 จากการส่ง SMS ต่อมาเสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายโดยไม่ได้สิทธิประกันตัว หรือภาพของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต่างทำให้เห็นชัดว่า กฎหมายนี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไร้มนุษยธรรม
ขณะเดียวกันภาพในเซ็ตนี้ก็เผยให้เห็นการรวมตัวกันของผู้คนหลากหลายช่วงวัยที่ออกต่อต้าน จนเกิดการรณรงค์เข้าชื่อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในนามคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเวลานั้นสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 39,185 ชื่อ เมื่อคัดแยกแล้ว เหลือรายชื่อที่สมบูรณ์นำมายื่นต่อรัฐสภาได้ทั้งหมด 26,968 ชื่อ แต่ก็ถูกปัดตก และไม่ได้ถูกหยิบมาพูดถึงโดยสมาชิกรัฐสภาในเวลานั้น
กานต์ ชวนดูภาพถ่ายในฝั่งขวา เช็ตภาพกลุ่มนี้จัดอยู่ในช่วงปี 2557 - 2562 (ยุคเผด็จการทหาร) ภาพที่กานต์บันทึกเป็นหลักฐานว่า การต่อต้านการรัฐประหารเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ เขาชี้ให้ดูภาพการนัดรวมตัวกันของประชาชนบริเวณหอศิลป์ฯ ช่วงระหว่างวันที่ 20 และ 21 พ.ค. 2557 หลังกองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยแสดงออกถึงการต่อต้านอำนาจนอกระบบ แต่หลังจากเกิดการรัฐประหาร มีการปราบปรามอย่างหนัก ทั้งการเรียกปรับทัศนคติในค่ายทหาร จับกุมดำเนินคดี และคุกคาม ทำให้ไม่มีภาพการรวมตัวกันของประชาชนจำนวนมหาศาล
เขาชี้ต่อไปที่ภาพใบหนึ่งที่ตัดสินใจเพิ่มเข้ามา เป็นภาพ 'วาด รวี' และ 'รชา พรมภวังค์' สองนักเขียนกำลังหอบหิ้วดอกกุหลาบไปมอบให้กับกลุ่ม 14 นักศึกษา ที่ถูกออกหมายเรียกรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน เนื่องจากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารในช่วงวาระครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ถัดไปจากนั้นเป็นภาพการรวมตัวประท้วงหน้า สน.ปทุมวัน เรื่อยมาจนถึงวันที่กลุ่ม 14 นักศึกษาถูกจับเข้าเรือนจำ
กานต์ชี้ไปที่ภาพอีกใบ เป็นภาพหญิงชราคนหนึ่งกำลังถือเทียน พร้อมใช้มืออีกข้างบังลมไม่ให้เทียนดับ ภาพนี้ถ่ายที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ช่วงที่มีการรวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษา ทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของประชาชนนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง
เขาเห็นว่าในยุคเผด็จการทหารนั้นการรวมตัวกันของประชาชนเป็นไปได้ยาก แต่ก็พบว่ามีการเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ มีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวระลอกใหญ่อีกครั้งในปี 2563
ก่อนที่จะเริ่มต้นอธิบายที่มาที่ไปและความรู้สึกต่างๆ กับภาพเซ็ตสุดท้าย กานต์บอกว่า เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้หากย้อนกลับไปเพียง 5-6 ปีก่อน เขาเห็นว่าจุดตัดคือ การเปลี่ยนรัชสมัย และการเปลี่ยนของเจเนอเรชั่น หัวใจสำคัญที่สุดคือการที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมจึงพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไม่ได้
นอกจากนี้เขาเห็นว่ายังมีอีกหลายองค์ประกอบ ที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในเชิงประเด็นที่แหลมคมขึ้น
กานต์เดินเข้าไปชี้ที่ภาพใบภาพชายชราคนหนึ่งกำลังยืนเขียนจดหมายถึงเพนกวิ้น และรุ้ง สองนักกิจกรรมที่เคยอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวอยู่ในเรือนจำ เขาเล่าว่า เห็นลุงคนนี้ตั้งแต่ปั่นจักรยานเข้ามาในม็อบ พอเจอจุดที่เปิดรับจดหมายส่งให้นักโทษทางการเมือง ลุงก็หยุด และยืนเขียนจดหมายให้กับเด็กสองคน
นอกจากนี้ยังมีภาพอีกหลายใบที่บันทึกหมุดหมายสำคัญทางการเมือง กานต์พยายามเลี่ยงภาพแกนนำ แต่ให้ความสำคัญกับภาพเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น
สำหรับภาพทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงสามารถติดต่อซื้อได้ โดยจะมีภาพจำนวนหนึ่งที่จะถูกเก็บไว้สำหรับการประมูลเพื่อช่วยเหลือองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์กานต์ตั้งใจว่า จะเปิดพื้นที่ให้เป็นวงเสวนาทางการเมืองในประเด็นต่างๆ และพร้อมให้กลุ่มนักกิจกรรมเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อจัดวงเสวนา
สำหรับประเด็นเรื่องการนำถ้อยคำตอนหนึ่งในเพลงนักสู้ธุลีดิน ของ จิ้น กรรมมาชน มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิทรรศการ จนทำให้เกิดการทักท้วงเรื่องการขออนุญาตนั้น กานต์ ระบุว่า
"สำหรับเรื่องเพลงพี่จิ้น ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่เมื่อได้ทราบว่าทำให้พี่จิ้นเสียความรู้สึก ผมก็สำนึกเสียใจ และรีบโพสต์ขอโทษพี่จิ้นผ่านสาธารณะในทันที ด้วยความจริงใจอย่างที่สุด และพยายามติดต่อขอพบเพื่อขอโทษด้วยตัวเอง
ไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าอย่างไร แต่ผมขอยืนยันอีกครั้ง ว่าทุกคำอธิบายที่กล่าวไปทั้งหมด ผมพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว
ผมเชื่อว่าพี่จิ้นจะเข้าใจและให้อภัยผมได้ในวันหนึ่ง
และวันนี้ ผมก็พูดอีกครั้งว่า ผมขอโทษจริงๆ ครับพี่จิ้น"
=======
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา : เรื่อง
ฉัตรดนัย ทิพยวรรณ์ : ภาพ