ไม่พบผลการค้นหา
โดมิโน่จากเหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา หลัง ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ลั่นวาจาเอาจริงจัดการ ‘ขุมทรัพย์ ทบ.’ โดยเฉพาะ ‘สวัสดิการเชิงพาณิชย์’ ที่สร้างรายได้ให้ ทบ. กว่า 40 แห่ง

เช่น สนามม้า ทภ.2 โคราช , บ้านพักรับรองสวนสนประดิพัทธ์ , สนามกอล์ฟ ทบ. รามอินทรา , สนามกอล์ฟลานนา , สนามกอล์ฟสวนสนฯ , สนามมวยลุมพินี รามอินทรา และ ปั้มน้ำมันกว่า 100 แห่ง เป็นต้น เป็นเนื้อที่รวมกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ของ ทบ. ทั้งหมดเป็นพื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์

การที่ ทบ. ลงนามกับกรมธนารักษ์ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อทำให้ระเบียบมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการปูพรมสแกนพื้นที่ 1 ล้านไร่ เพื่อจัดเก็บรายได้ส่งแผ่นดินอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ทุกอย่าง ซึ่งทาง ทบ. ระบุว่าเป็นที่มีประชาชนบุกรุก 7 แสนไร่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ทำสัญญาเช่าครั้งละไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้อยู่ในระบบและควบคุมไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่ม ทำให้มีรายได้เข้าแผ่นดินมากขึ้น สำหรับกิจการอื่นๆจะมีการพิจารณาคือหากมีประชาชนมีใช้บริการเกินร้อยละ 50 จะเป็น ‘สวัสดิการเชิงธุรกิจ’ จึงมีการมองว่าเป็นการดึงทุกอย่างมารวมศูนย์ที่ ทบ.ส่วนกลาง

ทั้งนี้มีรายงานว่า ทบ. จะประเดิมที่อาคารรับรองและสนามกอล์ฟ สวนสนประดิพัทธ์ โดยให้เอกชนที่เป็นมืออาชีพได้เข้ามาบริหารงาน ตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ โดยเป็นกลุ่มเอกชนที่มีประสบการณ์บริหารงานโรงแรมหรูมา

ทว่าโดมิโน่ ไม่ได้ตกเพียง ทบ. แต่สะเทือนไปยังเหล่าทัพอื่นด้วย โดย ‘บิ๊กกบ’ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ระบุว่า ทบ. มีกิจการสวัสดิการจำนวนมาก จึงมีการลงนามเอ็มโอยูกับกรมธนารักษ์ ขณะที่เหล่าทัพอื่นไม่จำเป็นต้องทำเอ็มโอยู เพราะได้ติดต่อโดยตรงกับกรมธนารักษ์อยู่แล้ว แต่จะมีการทบทวนให้ครบถ้วนว่ามีรายการตกหล่นหรือไม่

ประยุทธ์ อภิรัชต์ กองทัพ กระทรวงกลาโหม ทหาร 36-82BE-BC96891F1056.jpeg

อีกอาฟเตอร์ช็อก คือ การจัดระเบียบบ้านหลวง โดยพุ่งเป้าไปที่นายทหารเกษียณฯ ที่ยังอยู่ในกองทัพ ซึ่งไปเจอตอหลายจุดหนึ่งในนั้น คือ ‘เสธ.โหน่ง’พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่เผยกลางรายการหนึ่งว่ายังอยู่บ้านหลวง ซึ่งท้ายที่สุดพบว่าอยู่ที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) บก.กองทัพไทย หลังขอผ่อนผันอยู่มาตั้งแต่เกษียณฯ ปี 2559 โดย บก.กองทัพไทย ชี้แจงว่า เคยทำประโยชน์ให้กับกองทัพและยังไม่พร้อมย้ายออก แต่ล่าสุด พล.ท.พงศกร ได้ระบุว่าจะย้ายออกภายใน มี.ค.นี้ และประกาศลาออกจากรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

แต่ยังไม่จบเท่านี้ ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกมาแฉว่า พล.ท.พงศกร มาเป็นข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ปี 2555 ในตำแหน่งรองเลขาธิการ สมช. โดยยุคนั้น ‘เสธ.แมว’ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เป็นเลขาธิการ สมช. สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พร้อมตบท้ายระวังเข้าสำนวน ‘ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง’

แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้พรรคอนาคตใหม่กับแนวทางปฏิรูปกองทัพมีอาการ ‘เสียขบวน’ ไปไม่น้อย

ทำให้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรค ต้องออกมาขอโทษประชาชนและน้อมรับทุกคำวิจารณ์ แต่ยังคงชื่นชมในสปิริตของ พล.ท.พงศกร ที่ประกาศลาออกจาก กก.บห.พรรค

ทว่าอาฟเตอรช็อกตกมาที่รัฐบาลเช่นกัน โดยเฉพาะเป้านิ่งอย่าง ‘3 ป. บูรพาพยัคฆ์’

งานนี้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ สามารถลอยตัวได้มากที่สุด

โดย พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า เรื่องบ้านหลวง ตนทำถูกต้อง มีการทำเรื่องกับกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันเป็นมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ (ใน ร.1 รอ.) โดยทำตั้งแต่ตนเกษียณฯมาแล้ว 15 ปี ได้เช่าที่อย่างถูกต้อง และตั้งแต่ตนเกษียณฯ มาก็ไปอยู่บ้านพักส่วนตัว (ปัจจุบันคือย่านมีนบุรี) และไปทำงานที่มูลนิธิฯ

ส่วนอีก ป. ที่ใกล้หลุดบ่วง คือ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่มีบ้านพักอยู่ใน ร.1 รอ. ได้ระบุว่า กฎระเบียบออกมาอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตาม โดยตนเตรียมบ้านพักส่วนตัวไว้แล้ว แต่เพราะความสะดวกจึงยังอยู่ที่บ้านพักทหาร โดยเดิมทีนั้นตนไม่ค่อยได้อยู่บ้านพักสวัสดิการแล้ว แต่ตอนมาทำงาน ตนเดินทางไม่ไหว เพราะบ้านอยู่ไกล จึงมาอยู่ที่บ้านพักสวัสดิการ

วิสัยยศ-ประยุทธ์แถลงเหตุกราดยิงโคราชพร้อมอนุทิน อนุพงษ์-โรงพยาบาลมหาราช

ทั้งนี้มีรายงานงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ ได้ทยอยขนสิ่งของออกจากบ้านพักทหารมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อย้ายไปอยู่บ้านพักส่วนตัวย่านพุทธมณฑล

แต่ที่ยากจะชี้แจงคือ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่มีบ้านพักใน ร.1 รอ. เช่นกัน ได้ชี้แจงว่า เรื่องบ้านพักของตนนั้น ตนทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ทราบกฎระเบียบว่าเป็นอย่างไร แต่วันนี้ตนยังทำงานอยู่ ปัญหาของตนคือการเป็นนายกฯ จึงก็มีปัญหาเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย ต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมกับการรักษาปลอดภัย ในฐานะผู้นำประเทศ แต่ตนได้เตรียมไปอยู่บ้านพักส่วนตัวไว้แล้ว

แน่นอนว่าจึงเกิดกระแสตีมายัง พล.อ.ประยุทธ์ ที่นำไปเปรียบเทียบกับ นายกฯคนอื่นๆในอดีตที่ก็ไม่ได้อยู่ในค่ายทหาร

ทั้งนี้บ้านใน ร.1 รอ. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. เรื่อยมาถึงการเป็น หัวหน้า คสช. เข้าสู่การรับตำแหน่ง นายกฯ 2 สมัย และควบ รมว.กลาโหม ในปัจจุบัน แน่นอนว่าเรื่องนี้ยังคงเป็น ‘หนามยอกอก’ พล.อ.ประยุทธ์ ไปอีกนาน เพราะคำตอบเรื่องมาตรการ รปภ. ยังเป็นที่กังขาอยู่

ความชัดเจนเรื่องบ้านหลวงของ ทบ. มีมากขึ้น หลัง ‘บิ๊กเล็ก’ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผบ.ทบ. เปิดเผยถึงเรื่องบ้านหลวง ว่า แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องบ้านพัก มี 3 แนวทาง คือ 1.ต้องสร้างบ้านพักเพิ่ม ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอและสิ้นเปลืองงบ 2.การเช่าบ้านตามสิทธิ์ของแต่ละคน 3.โครงการบ้านสวัสดิการ ซึ่งเดิมเป็นโครงการที่ดี สำหรับผู้ที่ไม่มีบ้านหลวง เพราะเป็นการออมเงิน แต่เรื่องนี้ที่เป็นปัญหา ก็ต้องมาดูว่าเกิดจากอะไร เป็นที่คน หรือ ระบบ

ทั้งนี้ได้ขีดเส้นให้ทหารเกษียณฯส่งคืนบ้างหลวงภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ แต่ในบางกรณีต้องมีการผ่อนผัน โดยพิจารณาเป็นรายกรณีไป ในเบื้องต้นพบว่าใน ทบ.ส่วนกลางมีประมาณ 100 หลัง ตั้งแต่ระดับชั้นนายพลถึงพันเอกพิเศษ ที่เกษียณฯแล้วแต่ยังคงผ่อนผันในการอยู่ในบ้านพักทหาร

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า นายพลที่ยังอยู่บ้านหลวง ก็กระทบกับบ้านหลวงของชั้นนายพลด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับนายทหารชั้นประทวน เพราะบ้านพักแยกจากกัน

หากถามว่ามีแบบอย่างให้ ทบ. ได้เดินตามหรือไม่นั้น หนึ่งในนั้นคือกองทัพอากาศที่ไม่มีปัญหาทหารเกษียณฯอยู่บ้านหลวง โดยมีระบบที่ ทอ. ทำมาจนเป็นวัฒนธรรม

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ทอ. จะให้สิทธิเรื่องบ้านพักเด็กจบใหม่ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่มีรายได้น้อย เมื่อเติบโตขึ้นไปสักระยะ พอที่จะมีเงินมีทอง มีเงินเดือนสูงขึ้น ก็จะส่งเสริมให้มีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นลักษณะของการเช่าซื้อ จนกระทั่งบ้านเสร็จ อาจประมาณ 10-15 ปี จึงย้ายออกไปอยู่ ซึ่งที่เหลือจะเป็นเพียงบ้านประจำตำแหน่ง เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้วก็จะต้องออกจากบ้าน โดยได้ปูพื้นฐานกันมา ตามที่รุ่นพี่ได้วางระบบไว้

ส่วนการจัดสรรสวัสดิการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พล.อ.อ.มานัต กล่าวว่า ที่ดินที่ ทอ. ไปหามา จะเข้าสู่ระบบสวัสดิการ จากนั้นผู้บังคับบัญชาจะดูเรื่องการเงินของกำลังพล ให้พอดีกับฐานะการเงิน คือ ให้เหลือพอมีกิน และสามารถผ่อนที่ได้ เพื่อสร้างอนาค มีบ้านของตัวเองหลังเกษียณฯ ถือเป็นการมีวินัยในเรื่องการเงินและการสร้างตัว

อภิรัชต์

อีกอาฟเตอร์ช็อกเหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา ยังไม่จบเท่านี้ในรั้ว ทบ. หลัง พล.อ.อภิรัชต์ เคยลั่นวาจาช่วง 3 เดือนนี้ ก.พ.-เม.ย. จะมีนายทหารตั้งแต่ ‘นายพล-พันเอก’ หลายคนจะไม่มีงานทำ หลังได้ลงดาบแรกย้าย ‘พันเอก-พันโท’ ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังเกิดเรื่องร้องเรียนเรื่องเบี้ยเลี้ยงทหาร

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้เซ็นคำสั่งปรับย้ายนายทหารระดับพันเอก ก่อนร่วมประชุม ผบ.เหล่าทัพ ที่ บก.ทร.พระราชวังเดิม โดย ‘บิ๊กแดง’ ระบุว่า เซ็นย้ายจริงไม่ได้พูดเล่น เซ็นต่อหน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ใครทำอะไรไว้ต้องได้รับผล โดยเป็นเรื่องเกี่ยวข้องในหลายส่วนที่กำลังพลร้องเรียนมา โดยเฉพาะพื้นที่ ทภ. 2 หลังเกิดเหตุรุนแรง

ส่วนกรณีของ ‘บิ๊กอี๊ด’พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 จะถูกปรับย้ายด้วยหรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมเป็นกรณีไป ไม่ใช่เลือดเข้าตา ก็จะสั่งย้ายหมด

ทั้งนี้มีการมองว่าการที่ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ลงดาบ พล.ท.ธัญญา อาจเกรงจะเป็น ‘ดาบสองคม’ กลับมายังตนเช่นกัน หลัง พล.อ.อภิรัชต์ ประกาศชัดไม่ลาออกจาก ผบ.ทบ. เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว จากกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ‘ผู้พันและเครือญาติ’ ในกรณีบ้านพักสวัสดิการ อีกทั้งเป็นการก่ออาชญากรรม ซึ่งไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือปฏิบัติการทางทหาร ดังนั้นจึงทำให้ พล.ท.ธัญญา ยังได้ดำรงตำแหน่ง มทภ.2 ต่อไป ไม่ถูกเด้งเข้ากรุ ทบ.

อย่างไรก็ตามเอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา ที่มีต้นเหตุมาจาก ‘ความไม่เป็นธรรม’ และการ ‘ผิดสัญญา’ จนนำมาสู่กระบวนการเปิดโปงเรื่อง ‘ธุรกิจในกองทัพ’ ต่างๆ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องเร่งเรียกความเชื่อมั่นจากสังคม และใช้โอกาสนี้จัดแถวทหาร กำราบทหารนอกแถว โดยได้เปิดศูนย์คอลเซ็นเตอร์เพื่อมารับเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดย พล.อ.ณัฐพล รองผบ.ทบ. ได้ชี้แจงว่า ศูนย์ดังกล่าวใช้ จนท.เอกชนที่มีประสบการณ์เก็บข้อมูลมากำเนินการ และเป็นความลับเพราะเรื่องจะส่งตรงถึง ผบ.ทบ. โดยตรง

โคราช ปฏิรูปกองทัพ อนาคตใหม่ 08.jpg

แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ย่อมมี ‘คู่กรณี’ ที่อยู่ในหน่วยเดียวกัน โดย พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า จะต้องมีการย้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกจากหน่วยไป พร้อมกันนี้ได้ หากเรื่องใดใหญ่เกินอำนาจ ทบ. ก็จะมีการส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า ผบ.ทบ. ได้ให้ตนเดินสายไปยังแต่ละกองทัพภาคเพื่อพบกับ ‘ผู้พัน-ผู้การ’ เพื่อชี้แจงแนวนโยบายของ ผบ.ทบ. ซึ่งส่วนตัวคาดหวังในระบบสายบังคับบัญชาของทหารในการดูและกัน ซึ่งผู้บังคับหน่วยต้องเอาใจใส่ทุกข์สุขผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช้ระบบเจ้าคุณมูลนาย เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีโอกาสเข้าถึงนายได้มากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ จึงเพิ่มช่องทางคอลเซนเตอร์ขึ้นมา

ที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาระดับสูงปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เช่น ลดคณะผู้ติดตามให้เล็กลง มีความเป็นอยู่เรียบง่าย และอาศัยบ้านพักทหารอยู่กินกับกำลังพล แทนการไปพักที่โรงแรม ในส่วนปฏิบัติการทางทหารก็ยังคงไว้ซึ่งความเด็ดขาด ต้องผสมผสานกัน เพราะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ จะนำระบบเดิมมาใช้ไม่ได้ แต่ทหารก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้ระบบการบังคับบัญชาเพื่อปฏิบิการทางทหารหรือการรบ โดย ทบ. ยืนยันว่ารับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมที่มองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำภายในกองทัพบกหรือระบบศักดินาหรือไม่ เราพยายามปรับตัวอยู่

“ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆไม่ใช่การปาหี่อย่างที่ถูกฝ่ายการเมืองกล่าวหา อะไรที่เริ่มต้นจากเบอร์ 1 เป็นเรื่องที่จริงจังทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องปาหี่แน่นอน” พล.อ.ณัฐพล กล่าว

จึงเป็น ‘อาฟเตอร์ช็อก-โดมิโน่’ ที่เหล่าทัพต้องเผชิญ โดยเฉพาะ ทบ. ที่จะต้องฝ่าแรงเสียดทานนี้ไปอีกนาน ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ทราบดีถึงกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะแนวคิดการรื้อระบอบศักดินาในกองทัพและการเลิกระบบเจ้าขุนมูลนายในกองทัพ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ถูกพูดมาอย่างยาวนานในสังคมภายนอก

แต่การที่ ทบ. นำเรื่องนี้กลับมาพูดอีกครั้งอย่างเป็นทางการ ก็สะท้อนถึงแรงกดดันที่ ทบ. ไม่สามารถฝืนกระแสได้ แต่ก็ต้องผสมผสาน ‘ความเป็นทหาร’ ก็ต้องคงอยู่ เพราะทหารคือผู้ถืออาวุธ จะต้องมีระเบียบวินัย และเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ

ทั้งหมดนี้เพื่อสร้าง ‘ทหารอาชีพ’ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เชื่อได้ว่า ‘การปฏิรูปตัวเอง’ ของ ทบ. ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ จะถูกบันทึกไว้ ด้วยสถานะของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ไม่ต้องเกรงใจใคร และฟื้นศรัทธา ทบ.ให้กลับมาอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog