แน่นอนแล้วว่าต่อไปนี้อาหารหาบเร่แผงลอยเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะ กทม.ยืนยันจัดระเบียบทางเท้าให้เป็นพื้นที่ของคนทุกกลุ่ม คือต้องเดินได้สะดวกและปลอดภัย ส่วนหาบเร่รถเข็น Street Food นั้นมีแนวคิดให้ไปอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นย่านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพื่อสะดวกในการจัดการ แล้วก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปในตัว
ที่จริงแล้วก่อนคำว่า Street Food จะฮิต บ้านเรามีการลักษณะการกินอาหารอยู่สองอย่าง คือ การกินข้าวในบ้าน เป็นการกินแบบ Private ถือกันว่าเป็นการกินแบบผู้ดี มีการทำครัว มีสูตรอาหารประจำบ้านประจำตำหนัก ถือเป็นหน้าเป็นตาเวลาจัดเลี้ยงรับแขก ส่วนอีกอย่างคือ การกินข้าวนอกบ้าน ว่าง่ายๆ ก็คือกินตามตลาดนั่นแหละ ใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” เล่าว่าปลายสมัยอยุธยาทั้งนอกกรุงและในกรุงฯ ก็มีร้านขายขนม ผลไม้ ของสด ฯลฯ มากมายนับไม่ถ้วนให้เลือกสรรแล้ว
“ถนนย่านป่าขนมชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขาย แลนั่งร้านขายขนมชะมดกงเกวียนสามเกลอหินฝนทอง ขนมกรุบขนมพิมพ์ถั่วขนม สำปะนีแลขนมแห้งต่างๆ”
ซึ่งการกินข้าวนอกบ้าน หรือกินเอาที่ตลาด เป็นลักษณะของผู้ใช้แรงงาน หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเวลา หรือมีแรงคนครัวจัดหาสำรับอาหาร ทัศนะต่อการกินอาหารตลาด-อาหารริมทางว่า “ไม่ผู้ดี” มีมาจนถึงอย่างน้อยก็สมัยรัตนโกสินทร์ ดูอย่าง “ตำราเศษพระจอมเกล้า” หรือการพยากรณ์ตำราตรีภพ ที่เอาวันเดือนปีเกิดมาคำนวณจนได้เศษต่างๆ ตอนหนึ่งบอกว่า “เศษเก้ากินข้าวกลางตลาด เสมอชาติสุนักขา” คำทำนายฟังแล้วสะดุ้ง แค่กินข้าวในตลาดเป็นหมาเลยเหรอ แต่ก็สะท้อนแนวคิดการกินอาหารริมทางได้ดี
ที่บอกว่าการกินข้าวริมทางร้านตลาดเป็นเรื่องของคนจน หรือไม่ใช่เรื่องของผู้ดี น่าจะมีที่มาจากทำเลการตั้งร้านด้วยเหมือนกัน “พระยาอนุมานราชธน” บันทึกจากประสบการณ์ที่ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองตอนท่านเด็กๆ ราวสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า ที่ไหนมี “โรงบ่อน” ที่นั่นมีของกินขาย
"ถ้าต้องการอาหารและขนมรับประทาน ก็ต้องไปหาซื้อหรือรับประทานได้สะดวกตามร้านต่างๆ ถ้าไม่ไปซื้อที่ตลาดสำเพ็ง ก็ต้องไปซื้อตามร้านอยู่ใกล้กับโรงบ่อน ตลาดขายของสดก็มักตั้งอยู่ไม่สู้ห่างไกลกับโรงบ่อน จะไปเปิดร้านขายอาหารขายของที่อื่นก็ขายไม่ใคร่ได้เพราะถัดจากบริเวณโรงบ่อนไปแล้ว ลางแห่งก็หาคนเดินไปมาไม่สู้มากนัก" [1]
นั่นก็เป็นเพราะโรงบ่อนนิยมไปตั้งตามที่ชุมนุมชน และคนถ้าได้ลองเข้าบ่อนแล้วทุกนาทีมีความหมายมากๆ การกินการนอนก็อยากจะเสียเวลาให้น้อยที่สุด เพื่อเข้าไปถอนทุนต่อ สบช่องให้พ่อค้าแม่ค้ารู้พฤติกรรมมาตั้งร้านรวงดักนักพนัน ด้วยเหตุนี้เองของกินริมทางจึงมักอยู่คู่กับโรงบ่อนไปโดยปริยาย ตอกย้ำภาพการกินข้าวริมทางที่ดูไม่ค่อยผู้ดีนัก
อาหารริมทางที่คู่กับโรงบ่อนส่วนใหญ่เป็นร้านชาวจีนแต้จิ๋ว มีร้านข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม ส่วนร้านที่เป็นของคนไทยมักเป็นร้านขนม เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง จะมีก๋วยเตี๋ยวผัดของไทยก็นานๆ จะเห็นที
ร้านเหล่านี้ยังคงตอบโจทย์การกินแบบ “ถูกๆ” และกลุ่มเป้าหมาย “คนไม่ค่อยมีตังค์” อยู่เช่นเคย โดยพระยาอนุมานราชธน บันทึกว่า “ร้านขายข้าวแกงเหล่านี้ขายคนจีนชั้นกรรมกร แต่คนไทยก็เคยไปนั่งยองๆ แยงแย่อยู่บนม้ายาวกินเหมือนกัน เพราะเป็นอาหารคาถูก” [2]
ส่วนอีกที่ที่ของกินริมทางมากพอๆ กับโรงบ่อนก็คือ “โรงหวย” หลังตึกแถวทางฝั่งเหนือของ ถ.เจริญกรุง หรืออยู่ตรงข้ามวังเดิมของกรมพระยาดำรงฯ หันหน้าออกถนนรอบกำแพงเมือง ที่นั่นคนก็เยอะของกินก็เยอะ พระยาอนุมานราชธนท่านว่ามีทั้งข้าวต้มหมู ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวผัด ขนมจันอับ ทองหยิบ ฝอยทอง เต้าทึง เต้าส่วน ขนมอี๋ เหล้าโรงยาดอง เรียกว่ามีทั้งแนวอิ่ม แนวเมาในย่านเดียว
หลังรัชกาลที่ 5 เริ่มประกาศยกเลิกบ่อนเบี้ย ร้านอาหารริมทางก็เห็นทีจะไม่ต้องพึ่งพิงโรงบ่อนกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อประกอบกับสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมีการเลิกทาส หรือการที่คนมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น ทำให้คนหันมาประกอบอาชีพหลากหลาย ถึงตรงนี้ร้านอาหารริมทางกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพ การกินข้าวนอกบ้านเริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ “เสมอชาติสุนักขา” อีกต่อไป ยิ่งมีการเปิดร้านอาหารหรูแบบที่เรียกว่า “ขึ้นเหลา” การกินข้าวนอกบ้านจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความ “มีเงิน” ในที่สุด
หลายครั้งเลยทีเดียวที่ชนชั้นนำของสยามกล่าวถึงอาหารอร่อยตามย่านต่างๆ ที่เห็นบ่อยๆ เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เอ่ยถึง “หมี่ตลาดพลู” และ “หมี่ท่าช้าง” ในสาส์นสมเด็จ โดย “หมี่ท่าช้าง” นี่ทรงกล่าวถึงอย่างน้อย 2 ครั้ง สงสัยฮิตจริงในยุคนั้น และแสดงให้เห็นว่าแม้แต่เชื้อพระวงศ์ก็ไม่ปฏิเสธการเสวยอาหารนอกวัง
แต่ถ้าจะให้ลงความเห็นว่าอาหารริมทางที่ฮอตที่สุดในอดีต ส่วนตัวฉันคิดว่า “ขนมจีน” ต้องเป็นหนึ่งในท็อปฮิต มีเรื่องเล่าจาก “พระยาอนุมานราชธน” ท่านเดิมว่า ขณะรับราชการในกรมศุลกากร พวกที่เป็นนายตรวจสินค้าและประจำเรือสินค้าต้องมาทำงานกันแต่เช้า แต่ตามสไตล์หนุ่มไทยเที่ยวดึก มาสาย ก็ถูกสารวัตรใหญ่ที่เป็นฝรั่งซักถามเป็นภาษาอังกฤษว่าทำไมมาช้า โดยคนเหล่านั้นก็ตอบแก้ตัว แบบเตรียมคำตอบมาอยู่แล้วเป็นภาษาอังกฤษว่า
“My stomach falls down very down badly because I eat Chinese cake medicine water. - ข้าพเจ้าลงท้องอย่างหนักเพราะไปกินขนมจีนน้ำยา" ฝรั่งไม่เข้าใจซักจนรำคาญเลยปล่อยๆ ไปในที่สุด [3]
ฮิตจริงอะไรจริง แต่ถ้าถามว่าร้านไหนอร่อยไม่จกตาแล้ว เจ้าคุณฯ ท่านว่าเป็นร้าน “ยายนาคแถวบางลำภูล่าง” (สะกดตามอย่างท่านเจ้าคุณเขียน) คนซื้อกันแน่นขนัดขายดิบขายดี มีเรื่องเล่าว่าคราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเลียบพระนคร ทรงโปรยทานตลอดสองข้างทาง ปรากฏว่าทรงโปรยสาดเข้าไปในร้านขายขนมจีนน้ำยาของยายนาคด้วย
“...คนก็กรูกันเข้าแย่งเก็บเงินกัน ยายนาคร้องห้ามเอ็ดตะโรอยู่เปิงๆ เพราะหม้อข้าวหม้อแกงของแกที่ในร้านแตกป่นปี้หมด ...เมื่อทรงทราบความจริงแล้วก็พระราชทานเงินเป็นของขวัญชดใช้ค่าเสียหายให้ ...นี่ก็เป็นกุศลอีกอย่างที่ยายนาคได้รับจากพระมหากรุณาธิคุณ หนุนให้ขนมจีนน้ำยาของแกมีชื่อเสียง กระทำให้ยายนาคเป็นคนมีอันจะกิน...” [4]
แต่ถ้าเป็น “ขนมจีนน้ำพริก” แล้วหละก็ “อาจารย์เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูร” เขียนถึงกรุงเทพฯ เมื่อกว่า 100 ปีก่อนว่า ต้องไปกินที่ “ทุ่งภูเขาทอง” เริ่ดสุดอะไรสุด
“...ที่ทุ่งภูเขาทองเขาว่า ในบรรดาขนมจีนน้ำพริกกับข้าวเม่าทอดด้วยกันแล้ว เป็นไม่มีที่ไหนอร่อยเท่า และยิ่งมีแม่ค้าหน้าหวาน ๆ ร้องขายเป็นเพลงเป็นกลอน สำเนียงไพเราะเพราะพริ้งดุจจะเย้ยเสียงระฆังวัดสระเกศให้ได้อายด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มรสให้โอชาได้ดีพิลึก เสียงร้องขายขนมของแม่ค้าทุ่งภูเขาทอง เด็ก ๆ ในสมัยนั้นจำเอามาร้องกันออกขรมถมเถไป...”
ทุกวันนี้สตรีทฟู้ดไทยกลายเป็นที่นิยม สื่อต่างประเทศจัดอันดับให้เป็นอาหารที่คุ้มค่า อร่อย และหลากหลาย เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยว บล็อกเกอร์ ฯลฯ ให้มาชิมเสน่ห์แบบไทยๆ แต่แน่นอนว่าตอนนี้สตรีทฟู้ดกำลังมีนโยบายจัดระเบียบ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แม้นโยบายที่ออกมาจะยังมีความกังวลว่า ต่อไปเสน่ห์อาหารริมทางจริงๆ จะหายไปหรือไม่ เป็นธรรมกับผู้ค้าไหม หรืออาหารริมทางจะแพงขึ้นไหม?
ก็ขอให้ผู้มีอำนาจทำด้วยความตั้งใจ วางเป้าหมายที่ผลประโยชน์ของประชาชน ต่อลมหายใจให้สตรีทฟู้ดยังเป็นตำนานของเมืองไทย