นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลการสำรวจอัตราความต้องการของ "ตลาดแรงงาน" ในปัจจุบัน พบว่า 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ งานขายและการตลาด ร้อยละ 22.65 งานบัญชีและการเงินร้อยละ 12.16 งานวิศวกรและการผลิตร้อยละ 8.62 งานไอทีร้อยละ 8.11 งานธุรการ ร้อยละ 7.15 งานบริการลูกค้า ร้อยละ 6.39 งานระยะสั้นต่างๆ ร้อยละ 6.28 งานระดับผู้บริหาร ร้อยละ 5.63 งานทรัพยากรบุคคล ร้อยละ 5.02 งานโลจิสติกส์ ร้อยละ 3.04
10 อันดับแรกสายงานที่เป็นที่ต้องการของ "แรงงาน" ได้แก่ งานขายและการตลาดร้อยละ 22.57 งานวิศวกรร้อยละ 13.42 งานธุรการ ร้อยละ 11.48 งานทรัพยากรบุคคลร้อยละ 8.66 งานบัญชีและการเงินร้อยละ 8.57 งานบริการลูกค้าร้อยละ 8.26 งานโลจิสติกส์ ร้อยละ 6.42 งานไอที ร้อยละ 4.73 งานระดับผู้บริหาร ร้อยละ 4.18 และงานด้านการผลิต ร้อยละ 4.14
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ , ค้าปลีกค้าส่ง, บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษาด้านต่างๆ รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ , วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับสาม คือ กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานแม้จะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบระหว่างปี 2561 กับ 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.04 โดยมีปัจจัยบวกจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิรูปประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
ขณะที่ เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า นายวรรณชัย ไพบูลย์บารมี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมตลาดแรงงานในประเทศไทยในปีนี้อาจอยู่ในภาวะชะลอตัวและคาดว่าอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1-1.2 หรือราวกว่า 4 แสนคน จากจำนวนผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ราว 38 ล้านคน โดยมองว่าการว่างงานยังต่ำกว่าอเมริกาที่อยู่ราวร้อยละ 10
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกและบริการโดยตรง อีกทั้งในหลายอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี ซึ่งช่วงดังกล่าวอัตราการว่างงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ แต่คาดว่าตลาดแรงงานจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :