ไม่พบผลการค้นหา
เทียบภาพให้เห็นกันชัดๆ อีกหน หลังนิด้าโพลทยอยปล่อยข้อมูลผลการสำรวจ คะแนนความนิยมพรรคการเมืองทั้งแบบ ส.ส.เขต-ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในภูมิภาคต่างๆ ยังขาดเพียงภาคตะวันออกภาคเดียว

ย้อนสรุปนิด้าโพลกันอีกสักรอบ คราวนี้ใส่น้ำหนักให้เห็นด้วยว่า แต่ละภาคนั้นมี 'ที่นั่ง ส.ส.เขต' รวมแล้วจำนวนเท่าไร ความนิยมของแต่ละพรรคในแต่ละภาคมีน้ำหนักแตกต่างกันอย่างไร

ส.ส.เขต 400 คนใน 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ประกอบด้วย

  • ภาคอีสาน 132 ที่นั่ง
  • ภาคกลาง (และตะวันตก) 109 ที่นั่ง
  • ภาคใต้ 58 ที่นั่ง
  • ภาคเหนือ 39 ที่นั่ง
  • กทม. 33 ที่นั่ง
  • ภาคตะวันอก 29 ที่นั่ง

เรียกว่า ภาคที่มีน้ำหนัก หรือจำนวนส.ส.มากที่สุดคือ ภาคอีสาน รองลงมาคือภาคกลาง

นิด้าโพลรายภาค

หากดูเฉพาะภาคอีสาน + ภาคเหนือ ที่พรรคเพื่อไทยค่อนข้างได้เปรียบก็กินน้ำหนัก ส.ส.เขตไปเกือบครึ่ง หากไม่โดนฤทธิ์ดูด ส.ส.บ้านใหญ่มากนักก็เรียกว่าอนาคตค่อนข้างมีลุ้น ที่น่าสนใจคือ ภาคใต้ คะแนนนิยมเพื่อไทยไม่ถึงกับเป็นหลักหน่วย โดยอยู่ที่ราว 15% ขี่คอไล่เลี่ยกับพลังประชารัฐ

พรรคก้าวไกลยังคงความนิยมเป็นอันดับสองในทุกภาค แต่แน่นอนว่า กทม.นั้นไล่บี้เบียดมากับเพื่อไทย ความนิยมอยู่ที่ราว 1 ใน 4 ของกทม. ส่วนภาคเหนือ อีสาน ใต้ กลาง ก้าวไกลรักษาระดับที่ 12-20% แต่พรรคภูมิใจไทยก็ยังได้ความนิยมในกทม.ตั้ง 2%

พรรคพลังประชารัฐ อนาคตไม่สดใสนัก คะแนนนิยมอีสาน - เหนือ - กทม.เรียกว่าหลักหน่วย ภาคกลางได้ราว 11% ส่วนภาคใต้ก็อยู่ที่ 12% หากผลโพลแม่นยำ และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงใด ดูท่าจะกลายเป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างเล็กไปเลยทีเดียว

พรรคประชาธิปัตย์ โดดเด่นที่สุดในภาคใต้ กินความนิยมไปถึง 1 ใน 4 ส่วนภาคอื่นๆ นั้นยังหืดขึ้นคอ ได้เพียงหลักหน่วย

พรรคภูมิใจไทย ใครๆ ก็วิเคราะห์ว่าดาวรุ่งเนื้อหอม แต่คะแนนในโพลไม่ค่อยสะท้อนนัก ทุกภาคได้คะแนนนิยมหลักหน่วย แม้แต่ ส.ส.เขต ในภาคอีกสาน

นิด้าโพลยังไม่ได้เปิดเผยผลสำรวจภาคเดียวคือ ภาคตะวันออก ซึ่งมีจำนวนส.ส. 29 ที่นั่ง คาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ การสำรวจนี้นิด้าโพลสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละภูมิภาคประมาณ 2,000 คน โดยกระจายตัวอย่างทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ใช้วิธีสุ่มโทรศัพท์เอาจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพลที่มีอยู่ราว 3 แสนชื่อ กำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

ทั้งนี้ การสำรวจในภาคอีสาน ทำระหว่างวันที่ 3-6 ต.ค., ภาคใต้ 17-20 ต.ค., กทม. 21-27 ต.ค., ภาคเหนือ 29 ต.ค.-2 พ.ย., ภาคกลาง 2-5 พ.ย. 2565

ต้องยอมรับว่าโพลลักษณะนี้กระจายกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างสูง ตัวเลขจึงอาจสะท้อนได้เพียงภาพคร่าวมากๆ โดยตัดปัจจัยทางการเมืองเชิงพื้นที่หลายประการ หรือในบางสำนักวิเคราะห์ก็อาจแยกเทรนด์การเลือกผ่าน generation โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 18-22 ปีหรือวัยรุ่นที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งหากดูระบบทะเบียนราษฎรของมหาดไทย (ก.ย.2565) จะพบว่ามีอยู่ราว 4 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดราว 52 ล้านคน

ในขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือการ 'เลือกพรรค' ในบัตรเลือกตั้งอีกใบ ก็พบว่าตัวเลขของแต่ละภาคก็ไล่เลี่ยกับ ส.ส.เขต เพื่อไทยยังคงทิ้งห่างพรรคอื่นๆ ในภาคเหนือและอีสาน ส่วนในภาคกลางเพื่อไทยก็ได้ความนิยมถึง 1 ใน 3

ขณะที่ก้าวไกลโดดเด่นในพื้นที่ กทม. เกือบแซงเพื่อไทย และภาคกลางก็ได้ไม่น้อยถึง 20%

สำหรับภาคใต้ยังคงอยู่ที่แชมป์เก่าประชาธิปัตย์ ได้ความนิยมไป 1 ใน 4 ถ้าไม่ถูกพลังประชารัฐกับภูมิใจไทยแชร์ความนิยมไป เปอร์เซ็นต์คงทิ้งห่างพรรคอื่นมากกว่านี้

พลังประชารัฐแม้ไม่โดดเด่น แต่ก็ได้คะแนนนิยมในภาค ใต้ - กลาง - กทม.ไม่น้อย ราวๆ 10%

พรรคภูมิใจไทย เหนือ-อีสานคงหวังยาก ยกเว้นพลิกสถานการณ์ได้ด้วยพลังดูดด แต่ภาคใต้และอีสานนั้นน่าจับตา

โพลแคนดิเดตนายกฯ

กระแสว่าที่ แคนดิเดตนายกฯ

แม้แต่ละพรรคยังไม่มีการเปิดรายชื่อ 'แคนดิเดตนายกฯ' อย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนนิด้าโพลก็พยายามจิ้มบุคคลเด่นของแต่ละพรรคมาหยั่งเสียงประชาชนกันแล้ว ยังขาดก็แต่ภาคตะวันออก เราลองมาดูละเอียดรายภาคกันอีกหน

  • แพทองธาร ชินวัตร กวาดอันดับ 1 ในภาคอีสาน-กลาง-เหนือ เฉลี่ยอยู่ที่ราว 31% แต่เมื่อดูเทียบกับคะแนนความนิยมของพรรค จะพบว่า คะแนนแพทองธารยังน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย
  • ประยุทธ์ จันทร์โอชา แมวเก้าชีวิต คว้าอันดับ 1 ในภาคใต้ ความนิยมกวาดไป 1 ใน 4 ส่วนอันดับ 2 และ 3 ไล่บี้กันอยู่ระหว่าง แพทองธาร-พิธา ในภาคกลางก็ไม่ธรรมดา ลุงตู่ยังคงได้คะแนนนิยมอันดับ 3 ไล่บี้พิธามาติดๆ
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นขวัญใจชาว กทม. ได้ความนิยมอันดับ 1 ราวหนึ่งในห้า แต่ชาวกทม.อีกจำนวนมากก็ 'รักลุงตู่' เพราะอยู่ในอันดับ 2 ตามมาติดๆ ด้วยแพทองธาร
  • เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ติดอันดับ 5 ในภาคกลาง-อีสาน-ใต้ แม้จะน้ำหนักความนิยมจะอยู่ที่หลักหน่วย แต่ก็แปลว่าคนหลายภูมิภาคมองเห็น
  • สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ขึ้นอันดับ 3 ในภาคอีสาน ไล่บี้อันดับ 2 อย่างพิธามาติดๆ ส่วนภาคเหนือและ กทม.อยู่อันดับ 5
  • ที่น่าสนใจคือส่วน "ยังไม่เลือก" ในภาคกลางมีถึง 14% ภาคเหนือ 13% ภาคใต้ 13% กทม. 12% อีสาน 10%