ภาคประชาชนด้านสิทธิมนุษยชนและที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม 25 องค์กร อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อ กฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวมถึง กลุ่ม "เพื่อนวันเฉลิม" ร่วมกันจัดเวที "ตามหาวันเฉลิม : ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน จากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)" ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
โดยนายชยุตม์ ศีรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่ม "เพื่อนวันเฉลิม" กล่าวว่า เคยร่วมงานด้านความหลากหลายทางเพศกับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เหยื่ออุ้มหายรายล่าสุด ซึ่งนายวันเฉลิม ทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เป็นคนแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นต้นกล้าของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งการขับเคลื่อนสังคมเลี่ยงไม่ได้ ที่จะไม่พูดถึงหรือเชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง จึงถูก คสช. เรียกตัว ขณะที่นายวันเฉลิมและอีกหลายคน ไม่มั่นใจในความปลอดภัยและไม่ยอมรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร จึงเลือกที่จะลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ว่านายวันเฉลิม ที่คิดต่างรัฐหรือจะเป็นอาชญากรร้ายแรง ก็ไม่ควรมีใครสมควรที่จะถูกอุ้มฆ่า เพราะทุกประเทศมีกระบวนการทางกฎหมายอยู่
รัฐไม่ควรนิ่งเฉยต่อชีวิตคนไทย
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีบังคับให้สูญหายไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปแจ้งความ เมื่อรัฐรู้แล้วจะต้องติดตามหาตัว ในฐานะที่นายวันเฉลิมเป็นคนไทย รัฐไทยต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะมีส่วนร่วม ในการค้นหาและประสานความร่วมมือ ส่วนประเทศกัมพูชาที่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศมากมายและเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในประเทศ เมื่อรับรู้แล้วก็ต้องตรวจสอบและสืบสวนสอบสวน แต่กระบวนการทั้งหมดยังไม่ได้เริ่มต้น ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ความจริงใจของภาครัฐที่ต้องมีก่อน
นางอังคณา กล่าวว่ากรณีอุ้มหายนั้นมักมีการสร้างคลุมเคลือจากรัฐว่า "อยู่หรือตาย" มีกระบวนการปิดปากเหยื่อไม่ให้เรียกร้องความเป็นธรรมและกระบวนการทำให้ถูกลืม ซึ่งครอบครัวเหยื่อจะต้องอยู่กับความไม่มั่นคง ผู้โดนอุ้มหาย ถูกทำให้เป็นคนไม่ดีไม่มีคุณค่าไม่ควรใส่ใจ ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณ สิ่งเรียกร้องตลอดมา คือ การเยียวยาเหยื่อ ที่ไม่ใช่จ่ายเงินอย่างเดียว แต่ต้องคืนความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ตลอดจนสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครสูญหายอีก โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายและให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสหประชาชาติให้ความสำคัญกับครอบครัวเหยื่อ ที่อย่างน้อยต้องมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ของไทยให้มีตัวแทนภาคประชาชนบางกลุ่มได้เท่านั้น และยังกีดกันญาติของเหยื่ออุ้มหายด้วย จึงหวังว่าเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ควรที่จะมีญาติผู้สูญเสียไปเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายด้วย เพราะไม่มีใครเข้าใจปัญหานี้มากกว่าครอบครัวที่เผชิญชะตากรรม
เร่งผลักดันกฎหมายป้องกันบังคับสูญหาย
ด้าน นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (กฎหมาย) จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีนายวันเฉลิม กรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ ได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งให้ความร่วมมือและได้ประสานไปที่สถานทูตไทยในกัมพูชาแล้ว เพื่อติดตามเรื่องนี้ ซึ่งมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่านายวันเฉลิมถูกอุ้มไป ส่วนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ต้องผลักกดันออกมาก่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องนั้น ได้เสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อนำสู่กระบวนการตรากฎหมายต่อไป
น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่านายวันเฉลิม ไม่ใช่คนแรกที่ถูกอุ้มหายและเห็นว่า "เราอยู่ในดินแดนที่มีทั้งกฎหมายที่ปิดปาก แสดงออกอะไรไม่ได้ ทุกๆวันอยู่ในความคลุมเครือ ก้าวขาออกจากบ้านไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไร จากที่พูดไปจะโดนไหม มือที่โพสต์ลงไปหรือแค่คิดต่างก็โดนเตือนแล้ว" พร้อมกันนี้ เรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้จากทางการทั้งสองประเทศ ด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด พร้อมย้ำว่า การผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายนั้น จะต้องมีหลักการ "ไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง" และต้องนำตัวผู้ก่อการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญ ภาครัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนไม่ใช่เอาเวลามา พาดพิงหรือให้ร้ายคนเห็นต่างหรือที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรม
หยุดป้ายสีบิดเบือนลดความเป็นมนุษย์ผู้ลี้ภัย
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ประเทศไทย ยืนยันว่า นายวันเฉลิม คือผู้ลี้ภัยตามนิยามสากล ที่ครอบคลุมถึงผู้มีความกลัวว่าจะถูกสังหารด้วยเหตุแห่ง ความเชื่อและอุดมการณ์จนทำให้อยู่ในบ้านเกิดไม่ได้ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ซึ่งชัดเจนว่า สิ่งที่ทำให้นายวันเฉลิมต้องลี้ภัยคือคำสั่ง คสช. ซึ่งนายวันเฉลิมไม่ยอมรับและหวั่นเกรงอันตราย จึงแปลกใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จึงบอกว่านายวันเฉลิมไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งถือเป็นการทำให้นายวันเฉลิม "ด้อยค่า" ลงไป
นายสุณัย ย้ำว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองคนไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าคนๆนั้นจะรู้จักกับผู้มีอำนาจหรือผู้มีอำนาจจะรู้จักเขาหรือไม่ จะเบี่ยงประเด็นจากความรับผิดชอบของรัฐบาลไม่ได้ ที่สำคัญไม่ควรบอกว่าองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาเรียกร้องกรณีนี้ต้องการสร้างกระแส และไม่คิดว่าจะได้ยินคำว่าองค์กรสิทธิมนุษย์ชนออกมาเรียกร้องให้รัฐไทยกระตือรือร้น ที่จะคุ้มครองคนไทยผู้ลี้ภัยว่าอยากสร้างกระแสหรือเรียกร้องความสนใจ มันเจ็บเข้าไปในอกว่าผู้มีอำนาจคิดอย่างนี้ได้อย่างไร
อีกทั้ง การเหน็บแนมในโซเชียลมีเดียทำลายความน่าเชื่อถือทำให้นาย วันเฉลิมไร้ค่ามีมลทิน และปฏิบัติการ IO ต่างๆ ยังส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาบ่ายเบี่ยงหรือไม่ให้ความสำคัญ ดังนั้นทุกฝ่ายควรมีการสื่อสารโดยตรงกดดันรัฐบาลกัมพูชาให้มีคำตอบ โดยสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้และนำตัวนายวันเฉลิมกลับมา เพราะการถูกอุ้มนั้นหายอุ้มฆ่าเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การจัดฉากอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง ส่วนจะเกิดจากแรงจูงใจอะไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เปิดโฉมหน้าเบื้องหลัง ผู้ไล่ล่าคนเห็นต่าง
ส่วน นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่ iLaw กล่าวว่า การคุกคาม ทำร้ายนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหลังการรัฐประหาร 2557 มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สังคมอาจเข้าใจได้ว่าการหายตัวไปของนายวันเฉลิม อาจเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐ ดังนั้นในฐานะประชาชนสิ่งที่ต้องการเบื้องต้น คือ ความจริง ซึ่งกรณีนายวันเฉลิม ไม่ว่าเบื้องหลังจะเกิดจากอะไร ถ้าเอาความจริงออกมาก็จะเป็นผลดีกับภาครัฐเอง เพราะสังคมจะไม่สงสัยว่าผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง แต่เมื่อไม่มีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ก็ปฏิเสธข้อกังขาและความสงสัยของคนในสังคมไม่ได้ ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทยก็ได้ แต่ปัญหาเกิดจากการไม่มีความชัดเจนในท่าทีของรัฐไทยต่อกรณีการอุ้มหาย รวมถึงรัฐบาลกัมพูชาด้วย ที่หากยังเป็นเช่นนี้อยู่จะไม่มีใครมั่นใจว่าเข้าไปในประเทศกัมพูชาแล้วจะได้รับความปลอดภัย
'ฝ่ายค้าน' ประสานเสียง รับลูกไล่บี้ในสภาฯ
โดยเวทีเสวนามีช่วง "ฟังคำมั่นจากพรรคการเมืองในการแก้ไขปัญหาผ่านกลไลรัฐสภา" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นพ้องกันที่จะผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย แต่ถ้าจะมีประสิทธิภาพได้นั้นขึ้นอยู่ที่คนบังคับใช้ ซึ่งคนไทยเคยมีหวังองค์กรอิสระ ที่จะมาลดการทุจริต แต่กลับมีการทุจริตเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการผูกขาดการจัดการ หรือหวังให้มีมนุษย์พิเศษ หรือเทวดามาอำนวยความยุติธรรมให้ แทนที่จะเขียนกฎหมายให้ชัดเจน ให้ประชาชนรับรู้ได้ ไม่ควรปล่อยให้การออกกฎหมายหรือตีความ การบังคับใช้ตกอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มใด ที่จะกลายเป็นเผด็จการได้
ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐไทยโดยเฉพาะคนในกระบวนการยุติธรรม มองว่ากฎหมายที่ดีจะควบคุมปราบปรามอาชญากรรมเป็นสำคัญ ถ้าเป็นนักสิทธิมนุษยชนและในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะเน้นหนักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการให้ความสำคัญของกระบวนการต่างๆ ส่วนอาชญากรรมนั้นต้องเป็นภยันอันตรายต่อสังคม ไม่ใช่ภยันตรายต่อชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่ง หรืออารมณ์ของคนใดคนหนึ่ง
พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า ปกติชนชั้นใดเป็นผู้ออกกฎหมาย กฎหมายก็จะผู้รับใช้ชนชั้นนั้น ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย มุ่งป้องกันประชาชนที่ถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกระบวนการปกติอาจดำเนินการไม่ได้ จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมา แต่ร่างกฎหมายวิ่งไปวิ่งมาระหว่าง สนช.กับสำนักงานกฤษฎีกากว่า 7 ครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ สนช.ออกกฎหมายมาได้หลายร้อยฉบับ สะท้อนว่าไม่ได้มีความจริงใจ และวันนี้ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่โดยนายกรัฐมนตรีคนเดิม แสดงว่ากฎหมายอาจจะไม่สามารถรับใช้คนสั่งให้ร่างได้ เพราะว่าอาจจะมีมุมมองเรื่องความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ ความมั่นคงของรัฐบาล อยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ จะต้องทำให้ กฎหมายเป็นประชาธิปไตยและให้ประชาชนเป็นเจ้าของกฎหมายให้ได้
ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 2557 มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลังจากกรณีอาชญากรรมรัฐและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันรัฐมองประชาชนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เหมือนประเทศไทยอยู่ในยุค "สงครามเย็นแบบเก่า" ที่มองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู และกรณีนายวันเฉลิมถูกอุ้มหาย สำคัญมากเป็นพิเศษคือ มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกสงสัยว่าเข้าไปเกี่ยวข้อง และไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัว และยิ่งตอกย้ำให้สังคมตระหนักว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นภัยความมั่นคงของประชาชน ที่ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรืออยู่ต่างประเทศ ก็ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในร่างกาย และเชื่อว่าความรู้สึกของประชาชนเช่นนี้มีอยู่จำนวนมากและเกินกว่า 100 คนตามที่รัฐมนตรีต่างประเทศพูดในสภาอย่างแน่นอน
แม้หลังรัฐประหาร 2557 มีภาคประชาชนจำนวนมาก หวังผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับให้สูญหาย ภายใต้รัฐบาลคสช.และสนช.ซึ่งตนไม่เคยเชื่อ และเห็นว่าตราบใดที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังมี ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งอยู่ในสภา กฎหมายนี้จะไม่ผ่านสภาหรือถูกประกาศใช้ อย่างแน่นอนนอกจากนี้กฎหมายป้องกันการทรมานและยังคับให้สูญหาย มุ่งเน้นการทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ครอบคลุมถึงคนสั่งการ ผู้รู้เห็นหรือแม้แต่ผู้ที่ให้การสนับสนุนการอุ้มหายอุ้มฆ่า ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้มติจากที่ประชุม ส.ส. ว่าจะผลักดันเรื่องนี้แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและแม้ มี ส.ส.เพียงพอที่จะเสนอร่างกฎหมายได้ แต่ก็อยากให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกันผลักดัน
อ่านเพิ่มเติม