ชาวบ้านจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายประชาชนผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการ ดูแล และใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติบริเวณภาคเหนือตอนบน จากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวนประมาณ 50 คน เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กรณีเร่งรัดการแก้ไขปัญหาในรูปแบบธนาคารที่ดิน ที่แม้จะมีการจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) และอนุมัติงบประมาณ 167 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ยังไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายและแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้
นายรังสรรค์ แสนสองแคว เกษตรกรวัย 64 ปีจากบ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หนึ่งใน 4 พื้นที่โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน กล่าวว่า ที่ตนและชาวบ้านพื้นที่อื่นต้องออกมาเรียกร้อง เป็นเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาการดำเนินการล่าช้าในการทำสัญญาซื้อขายกับ บจธ. โดยในความเป็นจริงชาวบ้านพยายามต่อรองราคาให้สมเหตุสมผลและตรงตามเจตนารมณ์ของ บจธ. ที่สุด
"ที่ผ่านมามีการทำแบบสำรวจรายได้ของเกษตรกรแล้ว ก็เห็นว่าเราไม่ได้มีรายได้จากพื้นที่ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เกษตรกรเลยไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ เราเสนอให้ลดราคาผ่อนเหลือครึ่งหนึ่งของราคาที่ดิน และให้ลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 0.5 เพราะที่ดินในบางพื้นที่ราคาสูงมาก เกษตรกรไม่สามารถผ่อนชำระผ่อนชำระหนี้ได้ตามที่ บจธ. ต้องการ" นายรังสรรค์กล่าว
นอกจากนั้น ภาคประชาชนยังเป็นผู้รวมตัวกันขับเคลื่อนให้เกิด บจธ. ขึ้นมา และเจตนารมณ์ที่ บจธ. ให้คำมั่นไว้ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติและแนวคิดของผู้บริหาร บจธ. กลับยังมองว่า ธนาคารที่ดินคือธนาคารที่แสวงหาผลกำไรจากผู้ยากไร้ไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์อื่น
"เจตนารมณ์ของธนาคารที่ดินจริงๆ คือเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินและให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดิน และไม่หวังกินกำไรกับเกษตรกรเหมือนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ แต่แนวคิดของผู้บริหารตอนนี้คิดแบบกลไกตลาด ไม่ต่างจากธนาคารทั่วไป ทั้งที่เราผลักดันให้เกิดพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งผลประโยชน์ของธนาคารที่ดินจะตกอยู่กับเกษตรกรไร้ที่ดินทั้งประเทศ หมายความว่าที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ก็ต้องให้ บจธ. ไปซื้อที่ดินเหล่านี้มาให้เกษตรกรเช่าซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาด มันไม่ใช่เราเรียกร้องแค่เพื่อพื้นที่นำร่อง แต่เพื่อเกษตรกรทั้งประเทศ" เกษตรกรชาวลำพูนย้ำ
นายดิเรก กองเงิน ชาวบ้านบ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่บ้านโป่งติดปัญหามากที่สุดในบรรดา 4 พื้นที่ เพราะที่ดินราคาสูง และยังมีพื้นที่ที่ บจธ. ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อได้ เช่น พื้นที่โรงเรียน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ที่นายทุนเจ้าของที่ดินบางแปลงไม่ประสงค์ขาย หรือตั้งราคาสูงเกินไป
"ถ้า บจธ. ให้ชาวบ้านโป่งผ่อน 100 เปอร์เซ็นต์ หนี้สินที่พวกเราต้องรับจะไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท ทั้งชุมชนมีกันอยู่ 70 ครัวเรือน เท่ากับว่าแต่ละครัวเรือนต้องแบกรับภาระหนี้สินบ้านละ 1 ล้านกว่าบาท เราไม่สามารถรับไหว" นายดิเรกกล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอของ สกน. ต่อผู้บริหาร บจธ. คือ ให้ทบทวนแนวคิดและการทำของ บจธ. ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันมาหรือไม่ และให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในรูปแบบธนาคารที่ดินให้ประชาชนในทุกพื้นที่ หากยังไม่มีความคืบหน้าภายใน 15 วัน ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจะยกระดับการติดตามการแก้ไขปัญหาให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :