ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารกสิกรไทย ดันบริษัทลูกพัฒนาเทคโนโลยีไร้สัมผัส หวังต่อยอดนวัตกรรมข้อมูลเพื่อระบบธนาคารในอนาคต ย้ำต้องพัฒนาถึงจุดที่รู้ใจลูกค้ามากกว่าตัวลูกค้าเอง

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เปิดเผยว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนที่ไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยหนึ่งในปัจจัยสะท้อนแสดงจากจำนวนการเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน K+ (เคพลัส) ของธนาคารกสิกรที่เพิ่มสูงขึ้น 16 เท่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นตัวเลขการเปิดบัญชีเพิ่มราว 100,000 บัญชีต่อเดือน

ด้วยเหตุนี้ KBTG ในฐานะบริษัทด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย จึงได้พัฒนา 6 เทคโนโลยีไร้สัมผัส ประกอบไปด้วย

  • 1. Face Check-in เทคโนโลยีการสแกนตรวจสอบใบหน้าที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้แม้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ พร้อมแจ้งเตือนหากผู้ใช้งานไม่สวดใส่หน้ากากอนามัย
  • 2. KLox บริการตู้ล็อกเกอร์ที่ให้ผู้ใช้สามารถเปิด/ปิดล็อกเกอร์ได้โดยสแกนการตรวจสอบใบหน้าแบบไร้การสัมผัส ซึ่งเปิดให้ใช้งานจริงแล้วที่อาคาร K+ สามย่าน
  • 3. Eat by Black Canyon ซึ่ง KBTG ร่วมกับร้านอาหาร Black Canyon อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารและชำระเงินผ่านตู้อัตโนมัติโดยไม่ต้องสื่อสารกับพนักงาน ซึ่งตู้ดังกล่าวถูกออกแบบให้ใช้ระบบ Contactless Menu ที่อาศัยความเคลื่อนไหวของมือในการสั่งการ จึงไม่จำเป็นต้องสัมผัสโดนหน้าจอ
  • 4. Contactless Menu ระบบสั่งอาหารผ่านหน้าจอแทบเล็ตที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของมือให้ลูกค้าทำรายการได้โดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ 
  • 5. Face Pay รูปแบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านการตรวจสอบสแกนใบหน้า เพื่อยืนยันการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้งาน
  • 6. ReKeep บริการใบเสร็จรับเงินในรูปแบบดิจิทัลสำหรับร้านค้า ที่ให้ลูกค้าสามารถรับใบเสร็จในรูปแบบดิจิทัลผ่านการสแกน QR Code 

นายเรืองโรจน์ กล่าวเพิ่มว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาตั้งอยู่บนแนวคิดของ Ambient intelligence หรือความฉลาดในการคำนวณสภาพแวดล้อมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่สุดเป็นไปเพื่อพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า โดยสะท้อนออกมาผ่านเทคโนโลยี 6 ตัวข้างต้น อาทิ การจ่ายเงินผ่านระบบยืนยันตัวตนทางใบหน้า (Face Recognition) ที่หวังสร้างความปลอดภัยจากการไม่ต้องถอดหน้ากาก หรือการจัดเก็บใบเสร็จผ่านรูปแบบดิจิทัลแทนการต้องสัมผัสแทน

ประธาน KBTG เสริมว่า เมื่อระบบได้เรียนรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ารายนั้นๆ แล้ว ก็จะทำให้เทคโนโลยีได้เรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยให้ธนาคารหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปนำเสนอกับลูกค้าได้

ซึ่งนายเรืองโรจน์ย้ำว่าจะเป็นรูปแบบของสถาบันการเงินในอนาคตที่ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองสู้กับคู่แข่งทั้งในและนอกวงการผ่านการ "รู้ใจลูกค้ามากกว่าตัวลูกค้าเอง"

ขณะที่ประเด็นการเรื่องการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้จริงกับภาคธุรกิจ ประธาน KBTG ชี้ว่า เนื่องจากเทคโนโลยีบางอย่างไม่ได้เรียกร้องการติดตั้งที่ซับซ้อนหรือต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการลงทุนจึงเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา ประกอบกับตนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคตดังนั้นหากอุปกรณ์ต่างๆ จะมีราคาสูงบ้างก็น่าจะเป็นแค่ในช่วงแรกเท่านั้น

ท้ายสุดสำหรับประเด็นความอ่อนไหวเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล KBTG ย้ำว่าระบบไม่มีการเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ที่ตนเองตามรูปแบบของสถาบันการเงินแต่ธนาคารจะสามารถเก็บข้อมูลที่ไม่มีการระบุตัวตนมาพัฒนาอัลกอริทึม และย้ำว่าทุกขั้นตอนจะปฏิบัติตามกฎหมาย