วันนี้ (30 กันยายน 2567) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นและร่วมแสดงวิสัยทัศน์เพื่อผลักดันประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน ในงาน ESG Symposium 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่ง “เร่งเปลี่ยน” ยิ่ง “เพิ่มโอกาส” โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) หน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
รองนายกฯประเสริฐ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนและคนรุ่นใหม่ มารวมตัวรวมพลังระดมสมองอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่สําคัญที่สุด คือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงกว่า 137 ครั้ง จนส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจและถูกจัดให้อยู่ในลําดับที่ 9 ของประเทศทั่วโลก ที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด ที่ผ่านมาในช่วงเดือนเมษายน ประเทสไทยก็เผชิญความร้อนรุนแรง ทำให้ภัยแล้งขยายตัวในวงกว้างหลายจังหวัด จนเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำสําหรับทําการเกษตร และในช่วงนี้เกิดภาวะฝนตกหนักผิดปกติจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เป็นต้น ประสบกับวิกฤตการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
รองนายกฯประเสริฐ กล่าวเพิ่มว่ารัฐบาลได้ติดตามดูเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลําปาง ซึ่งได้เห็นด้วยตัวเองถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งเห็นความลําบากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทําให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป รัฐบาลตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระระดับโลก และเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะ 10 ปี ข้างหน้า
จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้มีการกําหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส สำหรับประเทศไทยมีแผนที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสําคัญกับการปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเร่งด่วนโดยเน้น 6 สาขาหลัก ได้แก่ การจัดการทรัพยากรน้ำ/เกษตรและความมั่นคงทาง อาหาร/การท่องเที่ยว/สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ พร้อมกําหนดแผนงานและยุทธศาสตร์ในระดับประเทศและพื้นที่ โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนสอดคล้องกับตัวชี้วัดระดับโลก และจะเร่งพัฒนาข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนํามาใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลเพื่อวางแผนออกแบบ และยกระดับระบบการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า (Early Warning System) ให้สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างทันท่วงที
รองนายกฯประเสริฐ กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำว่า รัฐบาลมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยจะมีการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บและระบบกระจายน้ำทั่วประเทศ พร้อมกับการขยายเขตชลประทาน เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทําให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดภายในเวลา 3 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนนโยบาย Green Economy เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งระบบเศรษฐกิจสีเขียวนี้ “เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน” จากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก รวมทั้งการเตรียมพร้อมรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเกิดขึ้น เช่น กลไกปรับราคาคาร์บอน ข้ามพรมแดน หรือ CBAM (ซี-แบม) ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2569 - 2570 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ พร้อมกับพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้า เสรีและตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะสนับสนุนการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และธุรกิจบริการ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนด้านกฎหมาย รองนายกฯประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกําหนด เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมจัดตั้ง กองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) และพัฒนานิยามการเงินสีเขียว (Green Taxonomy) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในภาคธุรกิจก็จะต้องปรับตัว แสวงหาโอกาส และเสริมสร้าง ขีดความสามารถในการตอบสนองต่อเป้าหมาย Net Zero เน้นบูรณาการมาตรการเพื่อความยั่งยืน (ESG) เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน พร้อมกล่าวเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อนทุก ๆ นโยบายสําคัญเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง