ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์กรุงเทพ-กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์-กรุงศรีอยุธยา ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลตั้งแต่ 24 มี.ค. ฟากทีเอ็มบี-ธนชาตประกาศลดมีผล 1 เม.ย. ฟากปธ.สมาคมธนาคารไทยยืนยันทุกแบงก์พร้อมช่วยภาระหนี้ลูกค้ารายย่อย-ผู้ประกอบการ แนะประชาชนใช้ระบบชำระเงินโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ลดเสี่ยงโควิด-19

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) ลงร้อยละ 0.125 อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) ลงร้อยละ 0.25 และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลงร้อยละ 0.125 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2563

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

"ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ" นายสุวรรณ กล่าว

กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ พ่วงดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารกสิกรไทยพร้อมตอบสนองนโยบาย เดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 6.62 และลด MRR ลงร้อยละ 0.12 เหลือร้อยละ 6.50 เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME และ บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด หากแต่ลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลงร้อยละ 0.05 และ เงินฝากประจำลงร้อยละ 0.10-0.25 มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 6.745 เป็นร้อยละ 6.495 และอัตราดอกเบี้ย MRR ลงร้อยละ 0.125 จากร้อยละ 6.87 เป็นร้อยละ 6.745 เพื่อประคองสภาพคล่องของลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 

นับเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจและลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า และโครงการปล่อยกู้สินเชื่อจากภาครัฐดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2

สำหรับในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่มีการปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลงร้อยละ 0.05 และเงินฝากประจำลงร้อยละ 0.10-0.25 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

การเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทแบบมีระยะเวลา (MLR) ลงร้อยละ 0.12 เหลือร้อยละ 6.23 ต่อปี และเงินกู้ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 6.70 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอัตราใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

สำหรับการลดดอกเบี้นเงินกู้ครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กระจายไปในวงกว้างและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ธนาคารจึงพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของภาครัฐ 

ทีเอ็มบี-ธนชาต ลดดอกเบี้ยกู้มีผล 1 เม.ย. ช้ากว่าแบงก์ใหญ่

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงินของลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย และตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 6.675ล และลด MRR (Minimum Retail Rate) ลงร้อยละ 0.12 เหลือร้อยละ 7.03 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป 

โดยธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต เชื่อมั่นว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยให้คนไทย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ และยังคงร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

สมาคมธนาคารไทยยืนยันเตรียมรับทุกสถานการณ์ ช่วยลูกค้าทุกรายพ้นวิกฤต

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ต้องมีการประกาศปิดสถานบริการและร้านค้าบางประเภทไปแล้ว ตามประกาศล่าสุดของกรุงเทพมหานคร ทางสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกทุกธนาคารได้มีการวางแผนการให้บริการที่ต่อเนื่อง เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และขอให้ความมั่นใจว่าธนาคารจะสามารถให้บริการลูกค้าและผู้มาใช้บริการของธนาคารตามปกติในทุกช่องทาง โดยเฉพาะบริการหลัก เช่น การรับฝากเงิน การถอนเงิน การโอนเงิน และบริการสินเชื่อต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ในส่วนของการให้บริการเงินสดสำหรับลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินสด ทุกธนาคารเตรียมเงินสดเพื่อรองรับให้เพียงพอทุกช่องทางทั้งสาขาและตู้เอทีเอ็ม แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ขอเชิญชวนให้ลูกค้าใช้บริการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโมบายแบงกิงและอินเทอร์เน็ตแบงกิงของทุกธนาคาร ซึ่งทุกธนาคารได้มีการดูแลให้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนดูแลธุรกรรมตลาดเงินให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น เพื่อให้มั่นใจว่าบริการทางการเงินหลักของประเทศจะดำเนินต่อไปได้แม้ในกรณีที่สถานการณ์การระบาดรุนแรงมากขึ้น

ธนาคารกสิกรไทย

สำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ธนาคารต่าง ๆ ได้มีมาตรการช่วยเหลือที่ทยอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. เช่น การให้ลูกค้าผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยยังไม่ต้องชำระเงินต้น หรือการปรับลดการชำระขั้นต่ำในแต่ละเดือน ซึ่งธนาคารต่าง ๆ อยู่ระหว่างการติดต่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้า แต่หากลูกค้าประสบปัญหาและยังไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร ท่านสามารถติดต่อธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ทันที 

ด้านการช่วยเหลือลูกค้าของสถาบันการเงิน พบว่าช่วงที่ผ่านมาธนาคารทั้งระบบได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แล้วประมาณ 30,000 ราย เป็นมูลค่า 234,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการพักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น เพื่อลดภาระให้กับลูกค้า

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2563 ธนาคารออมสินและ 17 สถาบันการเงิน ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 2 ปี ผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยจะได้รับเงินข่วงต้นเดือน เม.ย. เป็นต้นไป

นายปรีดี ดาวฉาย กล่าวทิ้งท้ายว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารทุกรายให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เรามีการประเมินสถานการณ์และปรับแผนการช่วยเหลือและสนับสนุนลูกค้าในด้านการเงินตลอดเวลา ดังนั้นจึงขอให้ลูกค้าทุกคนมั่นใจได้ สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทุกรายและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่าน Call Center ของทุกธนาคารได้ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :