ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์จาก มอ. วิทยาเขตปัตตานี มองว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต้องอาศัยพื้นที่กลาง พร้อมย้ำหลักการเสรีภาพทางวิชาการต้องรักษาไว้สำหรับการพูดแสดงความคิดเห็น

Patani NOTES สัมภาษณ์ "ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี" อาจารย์สังกัดสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับมุมมองของคนที่ทำงานภายใต้เงื่อนไขความรุนแรงและความต้องการพื้นที่เสรีภาพในทางวิชาการและการแสดงออก โดยให้ความเห็นว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แยกเป็น 2 ประเด็นใหญ่คือ เรื่องกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ต้องอาศัยพื้นที่กลาง ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันในพื้นที่และต้องอาศัยเวลา และต้องมีความเชื่อมั่นเชื่อใจไว้วางใจกันจนนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงได้จริง ซึ่งที่ผ่านมา มีการกีดกันความคิดเห็น คือ อีกฝ่ายพูดได้ อีกฝ่ายพูดไม่ได้ ทำให้เกิดการกดทับ และเป็นที่มาของความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง 

ส่วนอีกประเด็นคือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย และการต่อสู่ในทางการเมืองของสังคมไทยขณะนี้ และตอนนี้ส่วนใหญ่คืออยู่ในอำนาจเดิม การออกกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันเก่าก็อยู่ในกรอบโครงสร้างเดิม จึงเกิดการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยพลังเสรีประชาธิปไตย 

ศรีสมภพ ยังบอกอีกว่า ประเด็นเรื่องจังหวัดชายแดนใต้ จึงทับซ้อนกันในทางการเมือง สิทธิการแสดงออก สิทธิการแสดงความคิดเห็น สิทธิทางประชาธิปไตย สิทธิทางวิชาการ เหล่านี้จึงสำคัญมาก ต้องเปิดพื้นที่ให้พูด แต่พอพูดแล้วกลับอ้างว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของมาตรา 1 ทำให้พูดไม่ต้องต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ความคิดแล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามพูด ถ้ายังอยู่ในกรอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ส่วนการถกเถียงเรื่องรูปแบบการปกครองสำหรับจังหวัดชายแดนใต้ทำได้แค่ไหนนั้น มาตรา 1 และ 112 มีคำอธิบายที่ฝ่ายความมั่นคงทำมารวมเข้าด้วยกัน โดยใช้คำว่าประเทศไทยมีรูปแบบการปกครองรูปแบบพิเศษไม่ได้ แต่มันเป็นสิทธิในการกระจายอำนาจเป็นสิทธิในการจัดการตัวเอง

โดยในตอนท้าย ศรีสมภพ บอกด้วยว่า ถึงแม้ ผบ.ทบ. หรือผู้มีอำนาจฝ่ายความมั่นคงจะพูดอะไรประชาชนก็ยังจะต้องสู้ต่อ ถ้ากฎหมายไม่ได้บอกว่าผิด ก็ไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่เช่นนั้นก็เปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้ระบุไปเลยว่าห้ามพูดถึงมาตรา 1 แต่ทำได้หรือไม่ได้ต้องว่ากัน เพราะตามหลักรัฐศษสตร์ หลักสากลของการปกครองของรัฐ ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยจะมีลักษณะพิเศษก็ได้ จะได้เป็นชาติเดียวในโลก และหลักการว่าเสรีภาพทางวิชาการต้องรักษาไว้ ตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ เรายังสามารถปกป้องตัวเองได้ในเงื่อนไขของกฎหมาย ในเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญ ในเงื่อนไขของประชาธิปไตย ให้มั่นใจว่าอยู่บนหลักพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ และก็การใช้เหตุผลในทางวิชาการ ข้อมูลการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัยที่ทำ ครบถ้วนถูกขั้นตอน และก็มีจริยธรรมในการวิจัย ตามหลักสากลที่นักวิชาการทั่วโลกเขาทำกัน มันจะเป็นอำนาจในการปกป้องเราเอง ผมเชื่ออย่างนั้นเพราะทุกวันนี้ที่ตัวเองอยู่ได้ เพราะยืนอยู่บนหลักนี้ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่คนด้วยว่าจะใช้พื้นฐานอันนี้ยังไง


สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ Patani NOTES