แจ็ค หม่า ประกาศไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ปีที่แล้วว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหารกลุ่มอาลีบาบาในวันเกิดปีนี้ แต่จะยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการบริหารต่อไป พร้อมระบุด้วยว่าจะนำทรัพย์สินประมาณ 41,000 ล้านดอลลาร์ไปใช้ในโครงการส่งเสริมด้านการศึกษา เพื่อตามรอย 'บิล เกตส์' มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ซึ่งผันตัวไปทำงานการกุศล และเป็นผู้ที่หม่าชื่นชมมาตลอด
นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว สื่อสายเศรษฐกิจของญี่ปุ่น รายงานว่า ตามปกติแล้ว ข่าวคราวการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ มักส่งผลกระทบรุนแรงในตลาดหลักทรัพย์ แต่กรณีของอาลีบาบาไม่ประสบกับปัญหานี้ เพราะหุ้นของเครือบริษัทอาลีบาบาในสหรัฐฯ ตกลงเพียง 0.24 จุดเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ซึ่งมีข่าวออกมาระลอกแรก หลังจากนั้นก็กลับมาอยู่ในภาวะปกติ
นอกจากนี้ ก่อนที่หม่าจะก้าวลงจากตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง เพิ่งลงนามในสัญญาซื้อหุ้นมูลค่า ราว 2,000 ล้านดอลลาร์ของ 'โคอาล่าดอทคอม' (koala.com) บริษัทผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซในเครือ 'เน็ตอีส' (NetEase) ซึ่งเติบโตจากธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ และแตกไลน์ไปยังธุรกิจอีคอมเมิร์ซค้าปลีกที่เป็นรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของจีน โดยการเข้าถือครองหุ้นของโคอาล่าจะทำให้อาลีบาบามีความเข้มแข็งด้านธุรกิจเพิ่มยิ่งขึ้น ทิ้งห่างจากบริษัทคู่แข่งอย่างเจดี.คอม
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีคาดว่าการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานบริหารของอาลีบาบาจะดำเนินไปอย่างราบรื่น และเปิดทางให้หม่าได้กลับไปทำงานที่ตนเองรัก นั่นก็คืองานส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาความรู้ เนื่องจากหม่าเคยเป็นครูภาษาอังกฤษมาก่อนที่จะผันตัวเป็นนักธุรกิจผู้ก่อตั้งอาลีบาบา
ส่วน 'เจฟฟรีย์ ทาวสัน' ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุนประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า หม่าประสบความสำเร็จด้านการบริหารและเปลี่ยนผ่านองค์กรดีกว่าสตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล เจอร์รี หยาง ผู้ร่วมก่อตั้งยาฮู หรือแม้แต่ 'บิล เกตส์' ตอนที่ประกาศอำลาตำแหน่งในไมโครซอฟท์ เพราะทั้งสามคนทำให้องค์กรยึดติดและพึ่งพิงกับผู้นำองค์กรมากจนเกินไป
ทาวสันระบุว่า หม่ามีจุดแข็งที่การส่งเสริมบรรยากาศสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรมภายในองค์กรอยู่เสมอ และเขายังทำลายภาพลักษณ์เคร่งขรึมจริงจังที่เคยเป็นภาพจำของของซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ ในจีนก่อนหน้านี้ด้วยการแต่งเป็น 'ไมเคิล แจ็คสัน' ขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีในงานประชุมใหญ่ของบริษัทเมื่อ 2 ปีที่แล้วด้วย
ทั้งนี้ หม่าก่อตั้งอาลีบาบาเมื่อปี 1999 ด้วยเงินลงทุนที่กู้ยืมมาจากเพื่อน 60,000 ดอลลาร์ จนกระทั่ง 'อาลีบาบา กรุ๊ป' กลายเป็นเครือบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 750 ล้านดอลลาร์ต่อวันในปัจจุบัน ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนชุดนี้ที่ต้องการให้ธุรกิจในประเทศพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับการนำเข้าหรือส่งออก
เมื่อปีที่แล้ว หม่าประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเขาจะวางมือจากตำแหน่งนี้ พร้อมทั้งเปิดทางให้ 'แดเนียล จาง' รองประธานคนปัจจุบัน ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ และรับตำแหน่งประธานบริหารทันทีที่หม่าอำลาตำแหน่งอย่างเป็นทางการส่วน 'โจเซฟ ไช่' ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบาอีกราย จะเข้ารับตำแหน่งรองประธานแทนจาง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ปรากฏการณ์วัตถุนิยมและบริโภคนิยม ทั้งยังเป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาขยะทั่วประเทศจีน เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมุ่งซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่จัดโปรโมชันส่งเสริมการขายทางสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา และการบริโภคสินค้าเหล่านี้ทำให้ต้องมีการบรรจุหีบห่อและการแข่งขันด้านการขนส่ง ซึ่งแม้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็กลายเป็นต้นทุนที่รัฐบาลและสังคมจีนต้องแบกรับภาระในการบริหารจัดการผลกระทบที่ติดตามมาในอนาคต
ที่มา: AFP/ CNA/ Nikkei Asian Review
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: