ไม่พบผลการค้นหา
รู้จัก 'เอ็บบราฮิม ไรซี' ตุลาการศาลฎีกาอิหร่าน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ ผู้พัวพันวิสามัญนักโทษการเมือง - นักวิเคราะห์คาดอิหร่านภายใต้การนำของไรซีจะเป็นสังคมปิดมากขึ้น

เมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา อิหร่านจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ เพื่อเฟ้นหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อจาก ฮัสซัน โรฮานี ซึ่งอยู่ในวาระจนครบสองสมัยติดต่อกันแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ โดยผลการลงคะแนนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาพบว่า เอ็บบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ประธานศาลฎีกาอิหร่านคนปัจจุบัน ผู้มีมุมมองที่อนุรักษ์นิยมเป็นพิเศษ และอยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรของสหรัฐ กำลังจะได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนต่อไป 

ชัยชนะของไรซี ถูกมองว่าเป็นกติกาเลือกตั้งที่ออกแบบเพื่อเขา เนื่องจากก่อนหน้านี้ชื่อของเขาได้ปรากฎอยู่ในรายงานของทั้ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่ระบุว่าไรซี พัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐหลายร้อยคน รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และสมาชิกของชนกลุ่มน้อยที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกควบคุมตัวไปโดยพลการ

ส่งผลให้ชื่อของ ไรซี อยู่ในลิสต์บุคคลสัญชาติอิหร่านที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยสหรัฐฯ ขณะเดียวกันไรซี ยังถือเป็นบุคคลใกล้ชิดกับอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ซึ่งการคว้าชัยชนะประธานาธิบดีครั้งนี้ ส่งผลให้เขามีแนวโน้มสู่การกรุยทางไปสู่การก้าวขึ้นสืบทอดอำนาจเป็นผู้นำสูงสุดต่อจากคาเมเนอีในอนาคต 

การเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นับเป็นการลงคะแนนเสียงที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศ โดยมีผู้มาลงคะแนนเสียงเพีบง 48.8% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อเทียบกับมากกว่า 70% สำหรับการลงคะแนนครั้งก่อนในปี 2560 โดยไรซีได้คะแนนมากกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ อยู่ที่ราว 62% 


'เอบราฮิม ไรซี' คือใคร

ชื่อของไรซี เริ่มเป็นที่จับตามองตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบาทที่จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายภายในประเทศและการต่างประเทศ ทว่าในระบบการเมืองของอิหร่าน แม้จะมีตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ผู้นำสูงสุดของประเทศคือ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี นักบวชผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้ายในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐ

เอบราฮิม ไรซี วัย 60 โลดแล่นในเส้นทางด้านกฎหมายมาตลอดอาชีพของเขา เมื่ออายุได้ราว 20 ต้นๆ เขาก็สามารถดำรงตำแหน่างหัวหน้าอัยการของศาลในเมืองการาจได้แล้ว จากนั้นเติบโตมาทางด้านสายกฎหมายเรื่อยมา กระทั่งปี 2652 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าตุลาการศาลสูงสุดของอิหร่าน บุคลิกของไรซี มีลักษณะเป็นคนเคร่งศาสนาดังจะสังเกตได้การสวมผ้าโพกศีรษะสีดำตามธรรมเนียมของชาวมุสลิมชีอะห์ 

ในการปราศรัย ไรซีให้คำมั่นว่าจะจริงจังในการต่อสู้กับการทุจริตและความไม่เท่าเทียม รวมถึงแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐอิสลามแห่งนี้จะยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เนื่องจากบุคคลที่ได้รับเลือกมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่นั้นมีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ จากการที่พบว่าไรซีเมื่อวัย 27 ปี มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารนักโทษการเมืองจำนวนมากเมื่อปี 2531 

ในรายงานของแอมเนสตี้ยังกล่าวอีกว่าในฐานะหัวหน้าฝ่ายตุลาการ ไรซี ได้กำกับดูแลการไม่ต้องรับโทษสำหรับเจ้าหน้าที่และกองกำลังรักษาความปลอดภัยที่มีส่วนในปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในอิหร่านจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปี 2562 ด้วย

หลังผลการเลือกตั้งประกาศไม่นาน ด้านกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐให้ความเห็นต่อการเลือกตั้งของอิหร่านครั้งนี้ "ยังไม่โปร่งใสเพียงพอ" เนื่องจากมีผู้สมัครอีกหลายคน "ถูกเพิกถอนสิทธิอย่างไร้เหตุผล"

คาซรา นาจี (Kasra Naji) นักวิเคราะห์ของบีบีซีเปอร์เซียมองว่า ชัยชนะของไรซีซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมศานาขวาจัด จะยิ่งทำให้อิหร่านเป็นสังคมปิดมากขึ้น โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงคะแนนในกติการที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นายไรซี คว้าชัยชนะ สิ่งนี้ส่งผลให้ชาวอิหร่านจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ ดังจะเห็นได้จากการไปลงคะแนนเสียงที่น้อยกว่าครั้งไหนๆ ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาในระบบเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยังรวมถึงการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลเตหะราน 

นักวิเคราะห์ของบีบีซีมองงว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้ช่วยคลายความกังวล หรือนำไปสู่ความมั่นคงภายในได้ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิหร่านได้เห็นการประท้วงที่รุนแรงทั่วประเทศอย่างน้อย 2 รอบ และทุกครั้งมีผู้ถูกสังหารหลายร้อยคน บางคนบอกว่าหลายพันคนเสียชีวิต

เมื่อนายไรซี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พวกหัวรุนแรงขวาจัดก็จะเข้ายึดศูนย์กลางอำนาจทางกรเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อิหร่านจะเป็นสังคมที่ปิดมากขึ้น เสรีภาพน่าจะถูกลดทอนลงมากกว่าเดิม

อิหร่านภายใต้การนำของไรซี มีแนวโน้มจะหันเหไปพึ่งพาจีนมากขึ่น เพื่อหวังให้พ้นจากวิกฤตด้านเศรษฐกิจ และจะมีความตึงเครียดกับชาติตะวันตกมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ท่ามกลางข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: