ในการประชุม คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน มีวาระการหารือถึงประเด็นวุฒิการศึกษาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยเชิญ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าให้ข้อมูล เริ่มจากเรื่องมหาวิทยาลัยปลอมนั้น มีคำนิยาม 2 ลักษณะคือ 1.มหาวิทยาลัยที่ไม่มีตัวตน มีแต่ชื่อที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต มีลักษณะที่สร้างหลักฐานเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงผู้คน ทำให้คนเกิดความเชื่อถือไปสมัครเรียน
2.คือพวกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ปริญญา แต่ไร้มาตรฐาน การเรียนการสอนที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ มีการเรียนเป็นพิธี จ่ายค่าหน่วยกิจ แต่ก็ไม่สนใจในรายละเอียดการเรียนการสอนที่เข้มข้นเท่าไร ขอแค่จ่ายเงิน เรียนครบตามเงื่อนไขก็จบแล้ว หลักสูตรของมหาวิทยาลัยปลอมนั้นจะเป็นหลักสูตรออนไลน์ ซึ่งหลักสูตรออนไลน์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็ล้วนมีหลักสูตรออนไลน์กันมากขึ้น และบางทีก็มีหลักสูตรเรียนฟรีด้วย ซึ่งก็รวมไปถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เริ่มจะนำหลักสูตรออนไลน์เข้ามาในการสอนแล้วเช่นกัน
นายสมชัย กล่าวว่า แต่หลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยปลอมนั้นจะมีจุดที่แตกต่างมหาวิทยาลัยที่เป็นมาตรฐานคือ 1.ใช้เวลาเรียนสั้นมาก 2.ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเรียนจริง โดยใช้เงินเพียงไม่กี่แสนบาทก็สามารถจบได้แล้ว 3.ให้เทียบหน่วยกิจได้โดยอาสัยประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆ ทำให้จบได้เร็ว และลักษณะเด่นอีกอย่างของมหาวิทยาลัยปลอมอีกอย่างก็คือไม่มีสถานที่จริง ชอบไปตั้งอยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่สลับซับซ้อน หรือบางทีก็ไปตั้งกันในประเทศหมู่เกาะต่างๆ อย่างประเทศวานูอาตู เป็นต้น หรือบางทีก็ใช้ตู้ไปรษณีย์ปลอมๆ โดยไปมุ่งเน้นที่ประเทศที่เจริญแล้ว เพื่อใช้เป็นแหล่งติดต่อทางไปรษณีย์
“การตรวจสอบมหาวิทยาลัยปลอมนั้นสามารถตรวจสอบได้โดยใช้ google ค้นคำว่า Unaccredited University ซึ่งแปลว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้การรับรอง ก็จะพบว่าในทั่วโลกนั้นมีมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองอยู่เป็นพันๆแห่ง” นายสมชัยกล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่เชื่อมโยงกันคือ 'วารสารนักล่า' ซึ่งเป็นวารสารที่ดูมีลักษณะเหมือนกับวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียง แต่ความเป็นจริงแล้ววารสารเหล่านี้กลับไม่ได้ตีพิมพ์จริงๆ หรืออาจจะตีพิมพ์ได้แต่ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ อาทิ การจ่ายเงินเพื่อให้วารสารลงบทความออนไลน์ หรือไม่ก็จ่ายเงินหากผู้ใช้บริการต้องการตัวเล่มเป็นหลักฐานยืนยันให้กับตัวเอง เนื่องจากในปัจจุบันนั้นการเรียนปริญญาเอกให้สำเร็จการศึกษานั้นจะมีการระบุเงื่อนไขชัดเจนว่าผู้เขียนจะต้องมีงานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสารเชิงวิชาการด้วย
"ดังนั้นจึงมีวารสารปลอมๆ ที่ไม่ได้รับการยอมรับ เก็บเงินค่าลงบทความที่มาได้รับการอ้างอิงทางวิชาการลงในวารสารนักล่าดังกล่าวนี้ โดยค่าลงก็จะประมาณ 9,000 บาท ลักษณะการติดต่อสำนักพิมพ์วารสารปลอมๆ เหล่านี้ ก็จะติดต่อได้แค่ตามตู้ไปรษณีย์เท่านั้น ซึ่งวิธีการค้นหาวารสารปลอมๆ เหล่านี้ก็ใช้เว็บไซต์ Google ค้นหาคำว่า Predatory Journal หรือแปลเป็นไทยว่า 'วารสารนักล่า' เพื่อค้นว่าวารสารที่ใช้เป็นที่ลงงานเขียนนั้นเป็นวารสารที่ได้รับการรับรองทางวิชาการหรือไม่" อดีตกกต.กล่าว
นายสมชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ ธุรกิจของหน่วยประเมินวิทยฐานะ จะมีการปลอมแปลง ตั้งบริษัทขึ้นมารับรองให้วุฒิเทียบเท่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ แต่ไม่มีมาตรฐาน อย่าง California University FCE ใช้ชื่อมหาวิทยาลัย เอารูปตึกใหญ่ที่ดูน่าเชื่อถือมานำเสนอ 2 แห่ง แต่เมื่อใช้กูเกิลแมปก็จะพบว่า แห่งหนึ่งคือ โรงเรียนอนุบาล มีอาคาร 4 หลัง แอดมินเพจ CSI LA ไปตรวจสอบก็พบไม่มีการเรียนการสอนจริง อีกแห่งหนึ่งคือ โรงเรียนมัธยม เช่าเพียงห้องเดียวร่วมกับบริษัทอื่นๆ ในตึกแห่งหนึ่ง
นายสมชัย ขยายความถึงการรับรองการประเมินให้เทียบเท่าปริญญา พร้อมนำภาพกระดาษจาก California University FCE ที่ร.อ.ธรรมนัสเคยนำมาแสดงต่อสื่อมวลชน ว่า หากเป็นที่อื่นเอกสารการรับรองจะเป็นเอสี่ ไม่เหมือนใบปริญญา แต่ของ California University FCE หากมองไกลๆ จะคิดว่าเป็นปริญญาบัตร แต่หากอ่านจะพบเป็นการประเมินคุณวุฒิที่เทียบเท่า จาก คาลามัส แห่งวานูตาอู ไม่ใช่ปริญญาจริง
อดีต กกต. ยังระบุถึงภาพรวมของ ขบวนการค้าปริญญาในประเทศไทยด้วยว่า จะตั้งสำนักงานขึ้นมา อุปโลกน์ตัวบุคคลเป็น รศ.ดร.ขึ้นมา ทำให้ดูน่าเชื่อถือ แล้วเข้าหานักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง เรียนไม่นาน 6 เดือนจบ มีทีมช่วยทำวิจัยลงวารสาร ซึ่งเป็นวารสารนักล่า มีเงินก็ลงได้ แต่ความเป็นจริงคือปลอมทั้งหมด เสร็จแล้วก็ได้ปริญญาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไปประเมินฟอกขาว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในระบบข้าราชการถ้าตรวจสอบพบโดนไล่ออก เอกชนอาจไม่ว่าอะไร
"แต่ถ้านักการเมือง ต้องดูตอนสมัครว่า อ้างหรือไม่ว่าจบปริญญาเอก ถ้าใช่ ปริญญาที่ซื้อมาสามารถร้องต่อ กกต.ได้ว่า ใช้เอกสารเท็จหาเสียง และแจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากผ่านกระบวนการเรียนที่ไม่รู้จริง ก็ต้องบอกว่าเป็นผู้เสียหายแล้วแจ้งความดำเนินคดี" อดีต กกต.กล่าว
ทั้งนี้ระหว่างการชี้แจง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ซักถามข้อสงสัยต่อการ เอาผิด California University FCE โดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯว่า มีหรือไม่ ซึ่งนายสมชัย ชี้แจงว่า กฎหมายแต่ละรัฐต่างกัน รัฐๆอื่นนั้นไม่ยอมให้ทำแบบนี้หมดแล้ว แต่แคลิฟอเนียยังยอมให้มีอยู่ ที่ผ่านมา หน่วยงานการศึกษาเอกชนเคยฟ้อง California University FCE ถึง 4 ครั้ง แต่ถูกปรับแค่ 50 เหรียญ
ภายหลังการประชุม นายสมชัย ให้สัมภาษณ์ว่า หวังจะชี้แจงถึงปัญหาการค้าวุฒิปริญญาปลอมในประเทศไทยและเชื่อมโยงไปอีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นปัญหามานานนับสิบปี และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง รวมไปถึงพระสงฆ์ที่ถูกหลอกลวงจากขบวนการดังกล่าว ดังนั้น ในวันนี้ถ้าหากใครก็ตามที่รู้แล้วว่า ตัวเองนั้นจบจากมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ ก็ควรจะต้องแจ้งความต่อกลุ่มคนที่หลอกลวงในฐานะผู้เสียหายกันต่อไป ไม่ควรจะให้มีการอ้างอิงมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับรองวิทยฐานะเข้าสู่ระบบการราชการ
เมื่อถามว่า นอกเหนือจากกรณีของ ร.อ.ธรรมนัสแล้ว ยังมีกรณีอื่นอีกหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า มีกรณีนักการเมืองท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอ้างว่าจบจากมหาวิทยาลัยจากยุโรป แต่ก็ปรากฏข้อมูลว่าอาจจะไม่ได้จบจริง ส่วนกรณีของ ร.อ.ธรรมนัสนั้น หากยอมรับว่าตัวเองจบจากมหาวิทยาลัยคาลามัสจริง ก็เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ร.อ.ธรรมนัสอาจเป็นผู้ที่เสียหายจากขบวนการปลอมปริญญาบัตร ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปลอมปริญญาบัตรดังกล่าวนี้
"สุดท้ายผมขอชื่นชมผู้ที่ลงประวัติ ร.อ.ธรรมนัสว่าจบจากมหาวิทยาลัยคาลามัสบนเว็บไซต์ของรัฐสภานั้นมีความถูกต้องแล้ว และขอตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนประวัติของ ร.อ.ธรรมนัสว่าจบจากรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นมีใครสั่งให้เปลี่ยนกันแน่" อดีต กกต.ระบุ