มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมา เพิกเฉยต่อแผนฉันทามติ 5 ประการเพื่อยุติความรุนแรงที่ตกลงกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ความรุนแรงกลับทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“เรากังวลอย่างมากกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบและการใช้กำลังโดยทันที เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ปลอดภัยและทันท่วงที รวมถึงการเจรจาระดับชาติ” กลุ่มผู้นำอาเซียนกล่าวในแถลงการณ์ หลังการประชุมสุดยอดเมื่อวันพุธ (10 พ.ค.)
อาเซียนซึ่งยอมรับเมียนมาเป็นสมาชิกภายใต้ระบอบการปกครองของทหารก่อนหน้านี้ ได้เป็นผู้นำความพยายามในการใช้การทูต เพื่อหาทางยุติการนองเลือดที่เกิดจากการรัฐประหาร เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2564 แต่กลับไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดได้มากนัก
ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุระเบิดทางทหารในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนกลางของพื้นที่สะกายเมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลให้ระเบิดคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบราย โดยฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวเมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) ว่ากองกำลังติดอาวุธของเมียนมา เป็นผู้ทิ้งระเบิดสุญญากาศใส่พลเรือน
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขบวนรถช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมทั้งนักการทูตจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ถูกโจมตีโดยกลุ่มผู้โจมตีที่ไม่ทราบฝ่าย ขณะเดินทางอยู่ในรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือ “เราประณามการโจมตีและเน้นย้ำว่าผู้กระทำผิดจะต้องรับผิดชอบ” แถลงการณ์ของอาเซียนระบุ
ในการประชุมที่เมืองลาบวนบาโจทางตะวันออกของอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ประธานอาเซียนคนปัจจุบัน และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แสดงความมั่นใจว่าองค์การจะสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ ทั้งนี้ เมียนมาซึ่งเป็นชาติสมาชิก แต่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของทหารก่อนหน้านี้ ถูกกีดกันออกจากการประชุมสุดยอดหลักขององค์การ
“อาเซียนจะนิ่งเฉยหรืออาเซียนจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนหรือสันติภาพหรือการเติบโต?” วิโดโดกล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าเราทุกคนเชื่อว่าอาเซียนจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความสามัคคี” โดยนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนขององค์การ อินโดนีเซียกล่าวว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมอย่างเงียบๆ กับกองทัพเมียนมา รัฐบาลแห่งชาติ (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เพื่อพยายามยุติความรุนแรง
“อาเซียนกำลังทำเท่าที่ทำได้จริงๆ เพราะเมื่อคุณอยู่บนภาคปฏิบัติ มันไม่ง่ายอย่างนั้น” เอนริเก มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าว ในขณะที่ มาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วสำหรับแนวทางที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นของหลายภาคประชาสังคม
“การปล่อยให้ที่นั่งว่างในการประชุมสุดยอดอาเซียน เป็นพื้นที่สุขสบายของพวกเขา พวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบ” นาตาเลกาวากล่าวกับสำนักข่าว Reuters “การยกเว้นเผด็จการทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนต่างๆ ที่ควรดำเนินการ” นอกจากนี้ เขายังย้ำว่าวิกฤตในเมียนมาเป็น “ความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ต่อความสามัคคีของกลุ่ม
ในทางตรงกันข้าม บางส่วนของชาติสมาชิกอาเซียน รวมทั้ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ เพื่อเข้าพบกับ มินอ่องหล่ายน์ และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ของกองทัพเมียนมา
รัฐบาลพลเรือนเมียนมา NUG ซึ่งรวมถึง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ถูกถอดถอนจากการรัฐประหาร กล่าวว่า แผน 5 ประการที่มีอยู่นั้น ขาดกลไกความรับผิดชอบ และ “ไม่เพียงพอ” ที่จะฟื้นฟูสันติภาพ โดย ซินมาร์ออง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ NUG กล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า อาเซียนควรมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยกับ NUG ในฐานะ "ตัวแทนที่แท้จริงของเมียนมา" อย่างไรก็ดี กฎบัตรของอาเซียนดำเนินการบนหลักการฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่น ซึ่งเพิ่มความยากลำบากในการสร้างการตอบสนองต่อวิกฤตในเมียนมา
ที่มา: