เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมสังเกตการณ์ที่ศาลจังหวัดสงขลา ในคดีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศาลนัดพร้อมทั้งฝ่ายพนักงานอัยการและฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต ถือเป็นการไต่สวนเหตุแห่งการเสียชีวิตนัดแรก เพื่อร่วมกันค้นหาความจริงด้วยการนำสืบพยานบุคคลและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำต่ออับดุลเลาะ ตั้งแต่การควบคุมตัวจากบ้านไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร การควบคุมดูแลภายในค่ายทหาร ตลอดจนการรักษาพยาบาล เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถึงที่มาของการหมดสติและเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ
โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าและที่ปรึกษา กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หลังจากการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ครอบครัวมีความกระตือรือร้นในการเรียกร้องความเป็นธรรม และสังคมตื่นตัวโดยมีการรับรู้เป็นวงกว้างของประชาชนทั่วไป แต่กว่าจะมาถึงกระบวนไต่สวนคดีครั้งแรกนั้น เวลาก็ล่วงเลยมาแล้วกว่า 10 เดือน ได้แต่หวังว่ากระบวนการจะไม่ล่าช้าเกินไปมากกว่านี้ เพราะความยุติธรรมที่มาล้าช้าก็คือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง
น.ส.พรรณิการ์ ระบุว่า นอกจากนี้มองว่าคำตัดสินของศาลและการมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมและมุ่งแสวงหาข้อเท็จจริง จะเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้จะยังไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดมาลงโทษหรือมารับผิดชอบได้ แต่หากข้อเท็จจริงปรากฎ โดยมีคำสั่งศาลออกมาว่าเป็นการตายโดยการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นหมุดหมายและหลักฐานที่สำคัญว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงในกองทัพ ก็จะนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป รวมทั้งการที่กองทัพเป็นแดนสนธยา ลอยตัวเหนือการตรวจสอบและยังแตะต้องไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ก็ได้มีการพยายามเชิญ กอ.รมน. และหน่วยทหารพรานที่ 44 มาให้ข้อมูล แต่ทางทหารก็อ้างว่าติดราชการด่วน มีเพียงตำรวจจากสถานีหนองจิกและแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งก็ไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์มาให้ข้อมูลเท่านั้น
“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนคนเดียว กรณีของนายอับดุลเลาะไม่ใช่กรณีแรกที่มีคนโดนทหารควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใดๆ แล้วกลับออกจากค่ายในสภาพบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะคือตัวอย่างที่น่าเศร้าของคนธรรมดาที่ต้องได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัด ผู้ชายวัยหนุ่มจำนวนมากในสามจังหวัดที่ถูกเจ้าหน้าที่จับเข้าค่ายไปสอบสวนโดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา ไม่ต้องมีหลักฐาน แค่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการ เรื่องแบบนี้ทำได้เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึกมานานกว่า 15 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้แม้ว่าทหารจะมีการปรับตัว และระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็ยังมีการยังจับกุมชายวัยรุ่นในพื้นที่อยู่ เป็นการให้อำนาจทหารล้นเกินจนนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ และการใช้อำนาจจับกุมใครก็ได้โดยไม่ต้องมีหลักฐาน ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ก็มีแต่จะสร้างความหวาดระแวงและแบ่งแยกระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่” น.ส.พรรณิการ์กล่าว
ขณะที่ความคืบหน้าของคดีและการไต่สวนของศาลครั้งแรกในวันนี้ ทางทีมทนายความให้ข้อมูลว่า อัยการจะมีการนัดสืบพยานจำนวน 20 ปาก และในส่วนพยานผู้ซักถามคือทางฝ่ายญาติ จะมีจำนวน 10 ปาก ซึ่งศาลได้ทำการนัดมา 7 ครั้ง รวมของทั้งสองฝ่าย เป็นของอัยการ 5 ครั้ง และเป็นของทนายความผู้ซักถาม 2 ครั้ง โดยนัดครั้งแรกจะเริ่มในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย. 2563 ครั้งต่อไปคือ 15-18 ธ.ค. 2563
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาถึงศาลวันนี้ ทางฝ่ายภรรยาของอับดุลเลาะ ได้มีการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน อาทิ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจในพื้นที่แล้ว
สำหรับเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงนั้น ได้ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 และส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค.2562 พบว่าหมดสติอยู่ในห้องควบคุมศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร และได้รักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งต่อมาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2562 มาจนถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 10 เดือนแล้ว