ไม่พบผลการค้นหา
หนังสือพิมพ์ The New York Times ของสหรัฐฯ รายถึงงานถึงเหตุกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ด้วยฝีมือของมือปืนเด็กอายุ 14 ปี ในสยามพารากอน ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นเหตุกราดยิงที่โด่งดังครั้งที่ 3 ในรอบเกือบ 4 ปีของไทย

The New York Times รายงานว่า ประเทศไทยมีอัตราการการครอบครองอาวุธปืน และการฆาตกรรมจากอาวุธปืนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย แม้ว่าจะถือว่ายังเป็นอัตราที่น้อยเมื่อเทียบกับระดับการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ก็ตาม โดยเหตุกราดยิงในห้างพารากอนครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความหวาดผวาไปทั่วทั้งประเทศไทย และจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกัน ถึงความพยายามที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันเหตุกราดยิงเช่นนี้อีกในอนาคต

สื่อสหรัฐฯ ระบุว่าในภาพรวมแล้วนั้น คนไทยจำนวนมากทั้งในภาครัฐและประชาชนทั่วไป กล่าวว่ามีความจำเป็นที่ไทยต้องมีวิธีแก้ปัญหาระยะยาว ต่อการแพร่ระบาดของความรุนแรงจากปืน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีปืนหลายล้านกระบอกที่หมุนเวียนอยู่ในไทย และการบังคับใช้กฎหมายอาวุธของไทยเองกลับมีความอ่อนแอ

พอล ควาเกลีย อดีตหัวหน้าสถานีของ C.I.A. ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท PQA Associates ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบริษัทประเมินความเสี่ยง กล่าวกับ The New York Times ว่า ลักษณะการควบคุมอาวุธปืนของประเทศไทยนั้น “ไม่มีอยู่จริง” โดยควาเกลียกล่าวย้ำว่า “ที่นี่ (ไทย) ไม่มีความพยายามอย่างเป็นระบบในการขึ้นทะเบียนปืน ปัญหาในประเทศไทยคือประเทศนี้เต็มไปด้วยปืน สิ่งเหล่านี้หาได้อย่างอิสระ และได้มาอย่างง่ายดาย ทั้งโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย” 

ในการประเมินโดย gunpolicy.org ซึ่งคอยติดตามอาวุธทั่วโลกชี้ว่า จากอัตราการครอบครองปืนโดยเอกชนกว่า 7.2 ล้านกระบอกของประเทศไทย มีเพียง 6 ล้านกระบอกเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ต.ค.) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าเขาได้ดำเนินการเพื่อแก้ไข “ช่องโหว่ของกฎหมาย” โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังกล่าวว่าตนได้สั่งการให้มีการจับกุมผู้ค้าอาวุธออนไลน์ผิดกฎหมายโดยทันที และต้องการให้ “ปืนแบลงค์กัน” จัดเป็นอาวุธที่ต้องได้รับการตรวจสอบในระดับที่เท่ากันกับอาวุธปืนทั่วไป ทั้งนี้ ในประเทศไทยนั้น ผู้ซื้อ “ปืนแบลงค์กัน” ซึ่งเป็นอาวุธที่เด็กวัย 14 ปีใช้ในเหตุกราดยิงเมื่อวันอังคาร (3 ต.ค.) ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตการครอบครองจากทางการ

ปืนจำนวนมากในประเทศไทยถูกขายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งได้รับอนุญาตให้ซื้ออาวุธจากรัฐบาลได้มากเท่าที่ต้องการในราคาลดพิเศษ อันเป็นผลให้ตลาดมืดของอาวุธปืนเติบโตอย่างมากในไทย อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการลักลอบค้าอาวุธระหว่างเมียนมาและไทย ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับปืนอยู่หลายฉบับในหนังสือ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การขาดการบังคับใช้กฎหมายอาจทำให้กฎที่มีอยู่เป็นแค่เสือกระดาษ

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตอาวุธปืนของไทย และยุติการค้าปืนที่ผิดกฎหมาย “แม้ว่าปืนที่เคยก่อเหตุเมื่อวานจะเป็นปืนดัดแปลง เนื่องจากประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุปืนมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย นี่จึงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราอาจจำเป็นต้องพิจารณาระบบการเป็นเจ้าของปืนทั้งหมดใหม่” พริษฐ์กล่าว

ปัจจุบันนี้ ผู้ที่จะซื้อปืนในประเทศไทยจะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติ และระบุเหตุผลในการเป็นเจ้าของ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนปืน และกระสุนที่พลเรือนสามารถซื้อได้ แต่ไทยไม่มีการจำกัดจำนวนการครอบครองอาวุธสำหรับข้าราชการ ทั้งนี้ ใบอนุญาตพกปืนในไทยออกให้ในระยะเวลาตลอดชีพ ไม่เหมือนในประเทศอื่นๆ ที่กำหนดวันหมดอายุ ในขณะที่สำนักงานเขตหลายแห่งทำการติดตามเพียงเล็กน้อยในการตรวจสอบตัวตนของผู้ถือใบอนุญาตครอบครองปืนเดิม

เหตุกราดยิงเมื่อวันอังคารส่งผลให้คนไทยตกอยู่ในความสะเทือนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากฉากหลังของเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสยามพารากอนใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งช็อปปิ้งและจุดนัดพบทั่วไปของชาวเมืองจำนวนมาก 

ในประเทศไทยเคยมีเหตุการณ์กราดยิงมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยในปี 2563 ณ ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล21 โคราช จังหวัดนครราชสีมา และในปี 2565 จากเหตุการณ์ในศูนย์รับเลี้ยงเด็กในจังหวัดหนองบัวลำภู ถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับชาติ อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่ห่างไกลจากเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนไทยจำนวนมากไม่ได้รู้สึกคุ้นเคย แต่โศกนาฏกรรมในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองหลวงซึ่งได้รับความนิยมทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นกลับสร้างความหวาดผวาไปทั้งประเทศไทย

The New York Times ระบุว่า แม้ว่าเหตุความรุนแรงจากปืนในไทยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เหตุกราดยิงในประเทศไทยยังคงไม่ปกติ โดยหลังจากเหตุกราดยิงครั้งก่อน มีการเปิดบทสนทนาในไทยว่าประเทศจะต้องมีการควบคุมปัญหาจากปืนอย่างไร ทั้งนี้ ไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น และโดยในกรณีก่อนหน้านี้ มีการกล่าวโทษว่าสาเหตุของการกราดยิงในจังหวัดหนองบัวลำภูมีสาเหตุมาจากยาเสพติด อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางมาตรการอาวุธปืนขนานใหญ่เกิดขึ้นตามมา


ที่มา:

https://www.nytimes.com/2023/10/04/world/asia/thailand-shooting-gun-violence.html?fbclid=IwAR1AcvqEOI7a8BkATIFfERX0LTxtJahn3Go1V4ybzXcK7TOa_ekgCXYrJ2E&mibextid=Zxz2cZ