ไม่พบผลการค้นหา
เปิดโพลเนชั่นครั้งที่ 2 พบว่า ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ รวมกันเกิน 300 เสียง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ฝั่งเสรีนิยมมีโอกาสตั้งรัฐบาลรวมกันเกิน 300 เสียง (หากสามารถรวมกันได้จริง)

เครือเนชั่น แถลงการณ์ผลการสำรวจ เนชั่นโพล ครั้งที่ 2 ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2566  โดยมีจำนวนตัวอย่างมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จำนวน 114,457 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 36,243 ตัวอย่าง และภูมิภาค 78,214 ตัวอย่าง ด้วยการลงพื้นที่สำรวจ เป็นรูปแบบการสำรวจที่น่าเชื่อถือที่สุด ของประวัติศาสตร์การสำรวจหรือทำโพล และผลโพลเป็นประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ในการปรับยุทธศาสตร์ ช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66

การสำรวจรอบสอง ได้สำรวจทั้ง 400 เขต พบว่า ตระกูลการเมือง ที่เรียกว่า บ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆหลายบ้านพังทลายมีเพียงบางแห่งที่ฝ่ากระแสมาได้ อาทิ พะเยายกจังหวัด สุพรรณบุรี เป็นต้น ไม่อาจผูกขาดเก้าอี้ ส.ส.ไว้ได้ ขณะเดียวกันจังหวัดใหญ่ที่พรรคการเมืองในอดีตเคยชนะยกจังหวัด แต่จากผลสำรวจเนชั่นโพลรอบสอง พบว่าถูกเปลี่ยนมือ

ผลสำรวจเนชั่นโพล จำนวนเขตที่พรรคการเมืองจะได้เก้าอี้ ส.ส. รวมทั้งหมด 400 เขต (มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 7%) ประกอบด้วย

  1. เพื่อไทย 248 เขต (มีโอกาสลงมา 229 เขต)
  2. ก้าวไกล 78 เขต (มีโอกาสลงมา 52 เขต)
  3. ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 18 เขต
  4. ประชาธิปัตย์ 15 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 19-42 เขต)
  5. ภูมิใจไทย 12 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 16-39 เขต)
  6. ประชาชาติ 12 เขต
  7. รวมไทยสร้างชาติ 7 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 13-36 เขต)
  8. พลังประชารัฐ 5 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 6-29 เขต)
  9. ชาติไทยพัฒนา 4 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 4-27 เขต)
  10. ชาติพัฒนากล้า 1 เขต

ส่วนผลการสำรวจว่าด้วย คนไทยเลือกพรรคใดมากที่สุด เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ทั้งหมด พบว่า

อันดับ 1 เพื่อไทย / ส.ส.เขต 38.48 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 39.83 %

อันดับ 2 ก้าวไกล / ส.ส.เขต 28.03 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 29.18 %

อันดับ 3 ยังไม่ตัดสินใจ / ส.ส.เขต 8.67 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 7.45 %

อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ / ส.ส.เขต 6.80 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 7.09 %

อันดับ 5 ภูมิใจไทย / ส.ส.เขต 5.62 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4.84 %

อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ / ส.ส.เขต 4.30 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3.97 %

อันดับ 7 พลังประชารัฐ / ส.ส.เขต 3.65 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3.18 %

อันดับ 8 ประชาชาติ / ส.ส.เขต 1.45 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1.48 %

อันดับ 9 ไทยสร้างไทย / ส.ส.เขต 0.97 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  0.99 %

อันดับ 10 เสรีรวมไทย / ส.ส.เขต 0.79 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 0.82 %

ด้านผลสำรวจในหัวข้อ คนไทยอยากให้ใครเป็นนายกฯ พบว่า

1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 29.37%

2. แพทองธาร ชินวัตร 27.55%

3. เศรษฐา ทวีสิน 13.28 %

4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8.85%

5. ยังไม่ตัดสินใจ 5.35 %

6. อนุทิน ชาญวีรกูล 4.05%

7. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 2.49%

8. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.38 %

9. ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 1.66 %

10. วันมูหะมัดนอร์ มะทา 1.56 %

11. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1.23%

12. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 1.11 %

13. วราวุธ ศิลปอาชา 0.50 %

14. กรณ์ จาติกวณิช 0.38 %

โดยแนวโน้มจากเนชั่นโพลรอบสองนี้พบว่า แนวโน้มเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยสิ้นเชิง ขั้วฝ่ายเสรีนิยมก้อนใหญ่มีฐานเสียงที่เติบโตขึ้นจากเดิมในช่วงโค้งสุดท้าย และโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหน้า ฝั่งเสรีนิยมมีโอกาสตั้งรัฐบาลรวมกันเกิน 300 เสียง (หากสามารถรวมกันได้จริง)

ข้อค้นพบของโพลเนชั่นครั้งที่สองนี้ สรุปได้ว่า

  1. ฝั่งภาคใต้ 11 จังหวัด พบว่า เขตที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยแซงพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมนั้น จะเป็นเขตที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมตัดกันเองจำนวนมาก โดยเฉพาะการตัดฐานเสียงกันระหว่าง 'พรรคประชาธิปัตย์' และ 'พรรครวมไทยสร้างชาติ' อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มจากผลโพลพบว่า 'พรรคขั้วอนุรักษ์นิยมเดิม' แม้จะมีความนิยมสูงมากในพื้นที่ แต่เมื่อแข่งกันเองจึงตัดฐานเสียงกันและกัน ทำให้สัดส่วนฐานเสียงแตกกันกระเจิง
  2. เมืองหลวงพรรคการเมืองสำคัญ ถูกตีแตกทุกแห่ง อาทิ บุรีรัมย์ ของภูมิใจไทย เชียงใหม่ของเพื่อไทย สงขลาของประชาธิปัตย์ สุพรรณบุรีของชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่หนึ่งเดียวในจังหวัดนั้นๆ ที่ครอบครองมายาวนานเริ่มสั่นคลอน
  3. พื้นที่ 33 เขตในกรุงเทพมหานคร มีเพียงสองพรรคที่ครอบครองการนำในพื้นที่ ได้แก่ 'เพื่อไทย' และ 'ก้าวไกล' โดย 'พรรคเพื่อไทย' มีสัดส่วนในการเป็นพรรคนำของเขตมากกว่าก้าวไกล
  4. กลุ่มคนที่ไม่ตัดสินใจเลือก ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง ลดลงอย่างมากในการสำรวจโพลรอบสองเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลเนชั่นโพลรอบแรก โดยลดลงเหลือ 8.62% จากเดิมราวๆ 32 % เป็นไปตามทฤษฎีการเลือกตั้งที่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนจะยิ่งมีความชัดเจนในการตัดสินใจ แต่ในแง่ความมั่นคงในการตัดสินใจเลือก ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้จนถึงวันลงคะแนนจริง
  5. นับเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของ “ฝั่งอนุรักษ์นิยม” ที่ไม่สามารถสมานสามัคคีทางยุทธศาสตร์เลือกตั้งตั้งแต่แรกเริ่ม แต่มุ่งแข่งขันกันเอง จนทำให้ภาพรวมจำนวน ส.ส.ระบบเขตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปรากฏชัดเจนจากการที่ภาคใต้ 11 จังหวัด คะแนนตัดกันเองระหว่าง ปชป. รทสช. พปชร. หลายเขต
  6. จากทิศทางเนชั่นโพลทั้งรอบ 1 และรอบ 2 ไม่มีปาฏิหาริย์ให้กับพรรคอื่น “พรรคเพื่อไทย” นำโด่งชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมาแรงในช่วงท้ายก็ตาม
  7. มีหลายเขตจำนวนมากในต่างจังหวัดที่คะแนนอันดับ 1 และ 2 หรือ 3 ห่างกันไม่เกิน 7 % ตามค่าความคลาดเคลื่อน (error) ในการสำรวจโพลรอบนี้ นั่นหมายความถึงช่วงโค้งสุดท้ายในอีก 11 วันที่เหลือ สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อในเขตเหล่านี้
  8. คนจำนวนมากให้ข้อมูลในระดับที่มีนัยสำคัญว่า ยังมีเวลาอีกหลายวันกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง จึงรอดูก่อนว่าใครให้มากกว่า ดังนั้นปัจจัยธนกิจการเมือง (money politics) ยังปรากฏอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และอาจเป็นตัวแปรหนึ่งในการเปลี่ยนเกมชิงความได้เปรียบช่วงโค้งสุดท้าย
  9. วันสิ้นสุดในการสำรวจโพลจนถึงวันเลือกตั้งมีช่วงเวลามากถึง 11 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่พรรคการเมืองต่างๆ จะวางยุทธศาสตร์แก้เกมส์เพื่อดึงคะแนนเสียงสู่พรรคตนและเปลี่ยนผลคะแนนได้ จึงขึ้นกับว่าพรรคใดจะทำได้ดีกว่ากันในช่วงสัปดาห์สุดท้าย
  10. เมื่อสังเกตจากกระแสพรรคก้าวไกลช่วงก่อนสงกรานต์ และหลังสงกรานต์ยังสามารถเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือ โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ ดังนั้น ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจึงมีช่วงเวลายาวนานเพียงพอในการปรับกลยุทธ์งัดทีเด็ดในการหาเสียงของพรรคต่างๆ
  11. แนวโน้มฐานเสียงข้ามขั้วเริ่มมีบ้างแล้วจากการสำรวจโพลรอบสอง ซึ่งอาจซ้ำรอยปรากฏการณ์ 'ชัชชาติแลนด์สไลด์' เมื่อปีที่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ตกอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเด็ดขาด แต่เป็นลักษณะขั้วใหญ่แทนคือปรากฏการณ์เสรีนิยมแลนด์สไลด์
  12. ถ้าทิศทางและปัจจัยเงื่อนไขยังเป็นไปตามเนชั่นโพลรอบสองนี้ ไม่มีปัจจัยพิเศษอย่างอื่นแทรกแซงในช่วงที่เหลือ อาจจะได้เห็นพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขตยกจังหวัดเกิดขึ้นครั้งแรก