ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ประชุมประเมินสถานการณ์ หลังจากที่รัฐสภาไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ภาคีฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลและรัฐสภา ร่วมมือกันเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว ขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและรัฐสภา ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ ถามประชาชนในเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามที่จะให้ประชาชนให้ความเห็นชอบในการลงประชามติอาจเป็นดังนี้
“ท่านประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่”
ดังนั้นการที่พรรคการเมือง หรือกลุ่มองค์กรประชาธิปไตย จะดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเพื่อให้ระบบการเมืองมีดุลยภาพ มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ก็ย่อมสามารถทำได้ และต้องได้รับการสนับสนุนจากพลังประชาธิปไตยในสังคมด้วย โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ อาทิ การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจของ ส.ว ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
พร้อมยืนยันจะสถาปนาประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยตรง แต่ที่มีการวางกับดักและการดำเนินการให้สืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าจะการดำเนินการต้องทำคู่ขนานกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่จะมี ส.ว. จำนวนหนึ่งเตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พรบ. ประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมองว่า กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายเดียว และเป็นความหวังเดียวของประชาชน ที่จะเกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ดังนั้นขณะนี้กฎหมายประชามติถือว่าเป็นช่องทางเดียวและช่องทางสุดท้ายที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง แต่คนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามทำให้กฏหมายประชามติตกไปในวาระที่สาม
โดยการหยิบยกประเด็นดังกล่าวร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการทำแบบเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จนทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่กล้าลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองการทำของกลุ่มดังกล่าวเป็นการทำเพื่อขัดขวาง และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนดีกว่ามาขัดแข้งขัดขา พร้อมเชื่อว่า กรรมาธิการฯจะสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาต่างๆ ให้สอดรับกับมติที่เปลี่ยนแปลงในมาตรา 9 และสอดรับกับรัฐธรรมนูญได้
ถ้านายกเลือกตัดสินใจยุบสภาและกลับไปเลือกตั้งใหม่ จะทำให้กลับไปสู่เรื่องเดิม เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่มีการแก้ไข นั้นนายสมชัย มองว่า ถ้ากฎหมายประชามติไม่ผ่านสภา รัฐบาลมีอยู่สองทาง คือ ลาออก หรือยุบสภา แต่ขออย่านิ่งเฉยปัดความรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาล เพราะร่างกฎหมายนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และถือเป็นกฎหมายปฏิรูป ที่รัฐบาลมีส่วนสำคัญการผลักดัน แต่หากต้องล้มเหลวรัฐบาลมีเพียง 2 ทางที่กล่าวไปข้างต้น และขออย่าหน้าด้าน