เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 หนังสือพิมพ์มติชนเปิดเวที Talks for Thailand รัฐ ลวง ลึก ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีสุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในวิทยากร อภิปรายในหัวข้อ ‘ความมั่นคงหลงทิศ’ 6 ยุคการเมืองไทย 6 เหตุปัจจัย 10 ความท้าทาย และ 10 แนวโน้ม
สุรชาติ เริ่มด้วย ฉายภาพให้เห็นถึงระเบียบของการเมืองไทยตั้งแต่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมาถึงปัจจุบันว่ามีทั้งหมด 6 ยุคด้วยกัน คือ 1.ช่วง 2475 - 2490 (ระเบียบยุค 2475) 2.ช่วง 2490 - 14 ตุลาคม (ระเบียบยุคทหาร) 2516 3.ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 - 2534 (ระเบียบยุค 14 ตุลา) 4. ช่วง 2534 - 2544 (ระเบียบยุคพฤษภา 35) 5.ช่วง 2544 - 22 ส.ค. 2566 (ระเบียบยุคทักษิณ) และสุดท้ายคือระเบียบใหม่ที่กำลังจะเกิดจากนี้ไป แต่ระเบียบที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถให้คำตอบได้
อย่างไรก็ตามภายใต้ระเบียบทั้งหมด 6 ยุค ล้วนมีเหตุปัจจัยเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้นคือ คู่ขัดแย้ง ผลประโยชน์ พันธมิตร ตัวแสดง ปัญหา และปัจจัยระหว่างประเทศ
สำหรับปัจจัยระหว่างประเทศ ในยุค 2475 คือสงครามโลก ในยุคทหารคือ สงครามเย็น ในยุค 14 ตุลา คือ สงครามปฏิวัติ ยุคพฤษภา 35 คือ สงครามหลังสงครามเย็น ส่วนยุคทักษิณ ปัจจัยระหว่างประเทศเริ่มต้นจากเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เรื่อยมาจากถึงสงครามยูเครน ส่วนในวันนี้ปัจจัยระหว่างประเทศที่สำคัญคือ การที่โลกกลับเข้าสู่ยุคสงครามเย็นครั้งใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสงครามที่เคยเกิดขึ้น
ฉะนั้นเมืองการไทยเดินหน้าเข้าสู่ยุคระเบียบใหม่ คำถามสำคัญคือ อะไรคือความท้าทายในมิติของความมั่นคง ขณะที่รัฐไทยกำลังเผชิญกับสงครามเย็นครั้งใหม่นี้ โจทย์ปัจจุบันอะไรคือ ผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย และบทบาทของรัฐไทยในเวทีสากลจะดำเนินนโยบายอย่างไร
สุชาติ กล่าวต่อถึง 10 ความท้าทายความมั่นคงของรัฐไทยภายใต้ระเบียบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า
1.รัฐไทยกำลังเผชิญกับสงครามเย็นครั้งใหม่ คำถามคืออะไรคือผลกระทบ ไทยจะยังคงอยู่ระหว่างอิทธิพลจีน กับตะวันตกใช่หรือไม่ ฉะนั้นโจทย์ปัจจุบันย้อนยุคพอสมควร
2.ภายใต้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บทบาทของรัฐไทยในเวทีสากลจะประเมินอย่างไร วันนี้ถ้า UN มีการโหวตเรื่องยูเครน รัฐไทยจะจเดินนโยบายแบบยุคประยุทธ์ไหม คือ งดออกเสียง หรือจะมีการปรับทิศทางการต่างประเทศใหม่ และคำถามต่อประเด็นปัญหาเมียนมาร์ ไทยจะเดินนโยบายอย่างไร
3.เศรษฐกิจจีนกำลังร่วงหนัก หากยังคาดหวังเรื่องนักท่องเที่ยวจีนควรเลิกคิด แต่ในมิติเรื่องความมั่นคงคือ ถ้าจีนบุกไต้หวันเพื่อกลบปัญหาเศรษฐกิจภายใน โจทย์ใหญ่ของเอเชีย รวมทั้งไทย จะเลือกข้างหรือไม่ เราก็จะถูกบังคับให้เลือกข้าง เหมือนยุคจอมพล ป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
4.วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนคาดหวังว่าหลังหมดยุคโควิด ในปี 2566 เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว แต่คำตอบคืออาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะสงครามยูเครนคือ คำตอบในตัวมันเอง
5.ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่จบ และยังต้องการกระบวนการแก้ปัญหาที่จริงจังมากขึ้น
6.ปัญหาสถานะของกองทัพกับสังคมไทย จะมีการจัดความสัมพันธ์ของกองทัพ กับพลเรือนอย่างไร
7.ปัญหาความแตกแยกและความเห็นต่าง ทั้งในสงครามความคิด สงครามความเชื่อ และสงครามความศรัทธา
8.ผลกระทบของ climate change วันนี้ UN ใช้คำว่า climate security ยกระดับเป็นปัญหาใหญ่ warning ไม่ใช่ warming น่ากลัวกว่าโควิดคือ PM 2.5 อยู่ กับเราเกินกว่า 6 เดือน เริ่มมีคนป่วยมะเร็งโดยไม่สูบบุหรี่ เป็นโจทย์ความมั่นคงอีกชุด
9.ปัญหาการฟื้นฟูสังคมหลังโควิด หลัง 5 พ.ค. ปีนี้ WHO ประกาศโควิดหมดสถานะของการเป็นโรคระบาดใหญ่ แต่เมื่อเข้าสู่ยุค post COVID แล้ว จะฟื้นความมั่นคงของมนุษย์ในสังคมอย่างไร
10.ปัญหาการเปลี่ยนผ่านชนชั้นนำไทย สิ่งที่เราเห็น เราอาจจะหงุดหงิด แต่ถ้ามองในมุมทฤษฎีรัฐศาสตร์ เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในหลายประเทศที่มีปัญหาทั้งนั้น
นอกจากนี้ ไทยจะสร้างศักยภาพ ทั้งรัฐ และสังคม ในการเตรียมรับ Global Disruption ได้ไหม ซึ่งในยุคเรามี 2 เรื่องใหญ่คือ โควิด และสงครามยูเครน คำถามคือ ถ้าไต้หวันเกิดเป็น Disruption ใหญ่ หรือแม้กระทั่งไม่เกิด แต่ถ้าเศรษฐกิจจีนวันนี้ ฟองสบู่จีนแตก หรืออยู่ในภาวะถดถอย เศรษฐกิจเอเชียทั้งหมดรวมทั้งไทย ต้องคิดใหม่
สุรชาติกล่าวถึงแนวโน้มที่ไทยกำลังเผชิญว่าคือ 1.เรากำลังเห็นเงื่อนไขความขัดแย้งชุดใหม่ ความขัดแย้งชุดเดิมลดความเข้มข้นลงแล้ว
2.การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่เริ่มเห็นบทบาทของการเลือกตั้ง ผลการตั้งรัฐบาลอาจจะออกมาไม่ถูกใจ ตั้งได้ หรือไม่ได้ ถูกใจหรือไม่ ไม่รู้ แต่เงื่อนไขใหญ่คือ การเปลี่ยนผ่านทั่วโลก จบลงที่การประนีประนอม
3.การเปลี่ยนผ่านนี้มีความเปราะบาง นี่คือปัญหา ในออียิปต์การเปลี่ยนผ่านทั่วโลกมีความเปราะบางหมด
4.เรากำลังจะเห็นการเมืองแบบเปิด สมมติถ้าเราเดินต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่มีการรัฐประหาร การเมืองไทยจะเป็นอย่างโลกตะวันตก อย่างไรก็ตามเห็นว่า การเมืองไทย เหมือนอิตาลี ที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน
5.ถ้ากลุ่มปีกขวา ตัดสินใจยกเลิกจินตนาการ และยอมทิ้งวาทกรรมและชุดความคิดเรื่องรัฐประหาร เราจะเกิดนักการเมืองปีกขวา
"ถ้าเกิดอย่างนั้นได้ ผมว่า เราจะจัดพื้นที่การเมืองของความเป็นประชาธิปไตยกันใหม่ เหมือนยุโรป การเมืองไทยจะมี 4 โซน ปีกโซนหนึ่งคือ ปีกก้าวหน้า อาจจะซ้ายสุด กับซ้ายกลาง, ปีกอนุรักษ์ ขวาสุด และขวากลาง"
"ผมไม่เคยคิดว่าประชาธิปไตยต้องปฏิเสธการดำรงอยู่ของพรรคอนุรักษนิยม แต่การดำรงอยู่ของพรรคอนุรักษนิยม ต้องไม่เป็นเงื่อนไขของการทำรัฐประหาร" สุรชาติ กล่าว
7.บทบาทของกลุ่มจารีต ต้องควบคุม ทุกสังคมเผชิญไม่ต่างกัน ซึ่งมีโอกาสสวิงเป็น ประชานิยม
8.กลุ่มจารีตมีโอกาสสวิง กลายเป็น Populism ประชานิยม เหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ ฯลฯ ขวา แบบเวเนซุเอลา หรือแม้แต่อาจจะถอยไปสู่ประวัติศาสตร์ฮิตเลอร์ ที่คือต้นแบบของ Populism ปีกขวา ทำอย่างไรที่เราจะคอนโทรลปีกจารีต
9.ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น พรรคที่ชนะจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นรูปแบบรัฐบาลผสม การเมืองในแคนาดา เป็นการเมืองรัฐบาลผสม พูดง่ายๆ วันนี้การเมืองโลกในหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การเมืองของพรรคที่ชนะขาด มองแนวโน้มระยะยาว มีโอกาสจะอยู่ในการเมืองโลก ถ้าไม่สะดุดรัฐประหาร
10.ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก จะมีมากขึ้นในอนาคต
เมื่อถามถึง ปัญหาใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลต้องจัดการในมิติความมั่นคง โดยเฉพาะในรัฐบาลใหม่ที่เป็นขั้วผสม
สุรชาติกล่าวว่า การเป็นรัฐบาลไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อะไรก่อน เพียงแต่มีปัญหาใหญ่ๆ มากองหน้าประตูทำเนียบ แต่ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าวันนี้คือเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดูดีต้นปี แต่หลังกลางปีไปต้องระวัง วันนี้ราคาน้ำมันก็เริ่มผันผวน และอีกโจทย์คือ ความมั่นคงของมนุษย์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของรัฐบาล
เมื่อถามว่า ระยะข้างหน้า 20 ปี คิดว่าประเทศไทย จะมีการทำรัฐประหารอีกหรือไม่
สุรชาติเห็นว่า หากมองจากระเบียบการเมืองทั้ง 6 ยุคที่ไปจัดแบ่งไว้ในตอนต้น จะเห็นว่าทุกยุคจะมีการรัฐประหารเป็นแกนกลาง เว้นเพียงช่วง 2534 - 2544 ฉะนั้นเมื่อการเมืองไทยเดินทางถึงจุดนี้ ย่อมมีความหวังว่า ฝ่ายขวาจะยกเลิกแนวคิดเรื่องการรัฐประหาร และเล่นการเมืองในระบบ ลงจากรถถัง ขึ้นรถหาเสียงแทน
ประเด็นสำคัญคือ การเมืองในระบบรัฐสภา จะต้องเดินต่อไปได้ โดยไม่สะดุด และคนไทยต้องเลิกคิดว่า เมื่อเกิดวิกฤต การเมืองต้องล้ม เมื่อถึงทางตัน ทหารจะออกมาล้างท่อ
“ผมเชื่อว่าผู้นำทหารหลายส่วนเริ่มไม่อยากอยู่กับการเมือง เพราะเขามองเป็นภาระ เขาก็อยู่ในสังคมออนไลน์เหมือนเรา ในอดีตยุคโบราณ ในการตั้งค่ายทหาร สังเกตว่าจะไม่ตั้งค่ายทหารใกล้เมือง เพราะมองว่าสังคมพลเรือน เป็นเชื้อโรค”
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งอาจจะมี แต่ไม่มีผลกระทบจนไปล้มระบบการเมือง ภัยคุกคามภายในที่อาจจะเกิดขึ้นไม่รุนแรงและไม่ใหญ่ และเงื่อนไขสำคัญกองทัพต้องไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่เราเห็น
รวมทั้งต้องจัดความสัมพันธ์ พลเรือน-ทหาร คือการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือกองทัพ อีกนัยคือปฏิรูปกองทัพ และผู้นำทหารยอมรับว่าค่าใช้จ่ายของการทำรัฐประหารสูงกว่าค่าใช้จ่ายในระบบเลือกตั้ง
ถึงอย่างนั้นก็ตาม หากสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดได้ ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก เพราะคนที่จะคำตอบว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ ได้แม่นยำคือ ‘หมอดู’ ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์