นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเปิดภาคเรียน โดยระบุว่ารัฐจะต้อง คิดให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสม เพราะการแพร่ระบาดและสถานการณ์ของโรคแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน และกว่า50 จังหวัดที่โรคหยุดการระบาดมาต่อเนื่อง สภาพในลักษณะเช่นนี้จึงควรจัดการเรียนการสอนได้ อย่ากังวล จนนำการระบาดของโลกมาข่มขู่ตนเอง โดยเฉพาะการเปิดการศึกษา และเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่ได้พิจารณาตามความเหมาะสม และโรงเรียนสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมก็สามารถที่จะเปิดภาคเรียนได้ เพราะการเรียนรู้ของคนมีความจำเป็นโดยเฉพาะในเด็กๆ
"แต่เราคิดแบบภาพรวมที่ทุกอย่างเหมือนกันหมดมันเลยทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด แค่ไม่เปิดอย่างเดียวในเด็กเล็ก ก็ไปดึงให้พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องมาอยู่ด้วยมีปัญหาตรงนี้ เพราะฉะนั้นหากให้โรงเรียนสามารถจัดตามความเหมาะสมของสภาพโรคที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด แต่ละที่แต่ละแห่งเขาก็สามารถดูความเหมาะสม และจัดการได้" นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงหลายประเทศในยุโรป ที่เปิดให้มีการเรียนการสอนซึ่งหากเรามีลักษณะความคิดที่กระจายอำนาจและยอมรับในการตัดสินใจของแต่ละพื้นที่ตามสภาพของปัญหาก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ทุกอย่างจะต้องรวมศูนย์ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว
"แม้กระทั่งการเรียนการสอนในลักษณะออนไลน์ก็ไม่ได้มีความพร้อมที่จะทำเหมือนกันหมด และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการศึกษาของเด็ก วันนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง" นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวว่าส่วนกรณีที่ฝ่ายบริหารแสดงความกังวลว่า หากกลับมาเปิดเรียนเร็วเกินไปอาจทำให้โรคระบาดอีกครั้งนายภูมิธรรมมองว่า คงไม่สามารถพูดเป็นภาพรวม แบบนั้นได้เพราะ สถานการณ์ในเมืองไทย สภาพภูมิอากาศ บรรยากาศต่างๆดีกว่าในหลายประเทศ และหลายพื้นที่ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ก็หยุดการระบาดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะกว่าหนึ่งเดือนแล้ว
"ไม่ควรให้ความวิตกกังวลของผู้ใหญ่บางคนมามองเป็นภาพรวมของสังคมและจัดการทุกอย่างเหมือนกันหมด วันนี้จึงต้องอยู่กับความเป็นจริงจัดการทุกอย่างตามความเป็นจริงและคำนึงถึง ประโยชน์ที่คนทุกภาคส่วน รวมถึงเด็กเยาวชนจะได้ประโยชน์ด้วย" นายภูมิธรรม ระบุ
'ชวลิต' แนะ ศธ.ทบทวนการเรียนออนไลน์
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อนโยบายการเรียนออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการสรุปว่าหัวใจสำคัญสูงสุด คือ ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ที่พอแก้ไขได้อย่าลืมว่า 5 - 6 ปี ที่ผ่านมาก่อนมีไวรัสโควิด-19 ระบาด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องได้ ส่งผลให้ตัวเลขคนจนพุ่งพรวด เห็นได้จากมีผู้ไปจดทะเบียนคนจน กว่า 14 ล้านคน
นายชวลิต ระบุว่า หลังโควิดมาการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้เกิดความบกพร่องในการบูรณาการแผนงานปิดเมือง และการปิดกิจการบางประเภท ระหว่างเมืองกับชนบท ส่งผลให้เกิดคนจนเฉียบพลัน ตัวเลขคนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจขอเงินเยียวยาพุ่งพรวดไปถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประชาสัมพันธ์เองดังนั้น จากสภาพการณ์ความยากจนของผู้ปกครองภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้ก่อนโควิดมา และมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากพิษโควิดซ้ำอีก
"ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ย่ำแย่ ไม่พร้อมในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียน ลำพังผู้ปกครองจะประคับประคองชีวิตให้ครอบครัวพออยู่ พอกิน ยังลำบาก ดังนั้น นโยบายการเรียนออนไลน์จึงเสมือนกับการผลักภาระให้ผู้ปกครองรับภาระมากขึ้นโดยปริยาย" นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวว่า หลายครอบครัวจำนวนมาก หวังให้ลูกฝากท้องไว้กับโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียนดังนั้น สิ่งที่สังคมควรฉุกคิด ช่วยกันพิจารณาว่า ทำอย่างไรเปิดเทอมที่จะถึงนี้ โครงการอาหารกลางวันถึงจะมีคุณภาพ เด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารครบหมู่ การเรียนถึงจะมีคุณภาพผู้ที่มีฐานะพอจะแบ่งปันให้ลูก หลานของเราได้มีอาหารกินอิ่มท้องในช่วงโรงเรียนเปิด โปรดช่วยกันหาแนวทางไว้ด้วย โดยเฉพาะศิษย์เก่าแต่ละโรงเรียน เมื่อมีความพร้อม ควรจะกลับมาดูแลรุ่นน้อง ๆ ได้บ้าง อย่างไร หรือไม่
ส่วนการเรียน การสอน ขอให้กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดตามปกติ โดยควรกระจายอำนาจให้โรงเรียนพิจารณาโดยความเห็นชอบของ สคบ.จังหวัด พิจารณาเปิดสถานศึกษาตามความเหมาะสม หากเปิดการเรียนออนไลน์ เปิดบ้าง ไม่เปิดบ้าง ตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมากขึ้นๆ จึงขอได้โปรดทบทวนนโยบายการเรียนออนไลน์ เพราะผู้ปกครองในชนบทจำนวนมากยังไม่พร้อมครับ