การทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นตัวเลือกหลักของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลการใช้งานยังมีช่องโหว่และความไม่เท่าเทียมกันอยู่มาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีโอกาสน้อยไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ในปี 2561 เศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 19 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2564 จะสร้างมูลค่าได้กว่า 2.82 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่าเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ จะมีส่วนในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 43 ของจีดีพีรวมของประเทศภายในสิ้นปี 2562
อย่างไรก็ตาม กลับมีผู้ประกอบการไม่ถึงร้อยละ 16 ที่มีความมั่นใจในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะประเด็นการใช้เครื่องมือดิจิทัล
'เฟซบุ๊ก ประเทศไทย' ร่วมมือกับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และองค์กรภาครัฐ 4 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) รวมถึงภาคชุมชนอีกหลายส่วน เพื่อจัดตั้งโครงการอบรมผู้ประกอบการด้อยโอกาสเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
'เบธ แอน ลิม' หัวหน้าฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของเฟซบุ๊กประจำภูมิภาคเอชียแปซิฟิค กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ 'บูท วิท เฟซบุ๊ก’ (Boost with Facebook) คือการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการใช้เครื่องมือฟรีที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กอย่างเต็มประสิทธิภาพ
จะมีการจัดอบรมทั้งหมด 12 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน และจะมีการติดตามผลหลังการอบรมและการสร้างสื่อการสอนออนไลน์ หลังจบการอบรมเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก 1,000 คน ที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มาจากภาคประชาสังคมเป็นหลัก เช่น ผู้พิการ สตรี กลุ่มเพศทางเลือก ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เป็นต้น
“คนไทยมีความกระตือรือร้น มีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของธุรกิจ เราหวังว่าโปรแกรมนี้จะช่วยเพิ่มความรู้ได้” เบธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการคือการเน้นไปที่การให้ความรู้ในการใช้งานกับผู้ประกอบการ จึงไม่ได้รวมถึงการเอื้อประโยชน์ด้านการช่วยเหลือการเจาะกลุ่มเป้าหมายการค้า หรือที่รู้จักกันว่าคือการ 'บูทโพสต์’ (Boost Post)
'ภาครัฐ' กับความไม่พร้อมรองรับโครงการของเอกชน
การที่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจะผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้ หมายความอินเทอร์เน็ตต้องเข้าถึงในพื้นที่นั้นๆ แล้ว ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชน
'อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย' ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีส่วนเร่งและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเป็นตัวกลางในการสร้างระบบนิเวศน์เศรษฐกิจดิจิทัลด้วยโครงการต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ตประชารัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 85 หรือคิดเป็นจำนวน 120 ล้านเครื่องทั่วประเทศ ขณะที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านผ่านเทคโนโลยีบรอดแบรนด์มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น
ปลัดกระทรวงดีอี ชี้แจงความพยายามในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ครอบคลุมเพิ่มเติมว่า กระทรวงมีความคิดจะขยายการครอบคลุมสัญญาณอินเทอร์เน็ตแต่ต้องรอมติของคณะรัฐมนตรี
“หวังว่าจะผ่านมติ ครม. ส่วนโครงการส่งเข้าไปรอ ครม. มา 2 เดือนแล้ว” นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าว
สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะเป็นการขัดขวางการพัฒนาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะไม่ว่าจะมีโครงการจัดอบรมการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลมากแค่ไหน แต่ถ้าสัญญาณอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนยังไม่ครอบคลุม การอบรมก็ไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :