ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญายกฟ้อง 'ช่อ พรรณิการ์' ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ หลังโดนดำเนินคดีโพสต์เพลงยาวพยากรณ์ฯ มีลักษณะพาดพิงสถาบัน

วันที่ 19 พ.ค.2566 กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความ พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พรรณิการ์ ในความผิด พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(2)

สำหรับคดีนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้เเจ้งความร้องทุกข์ไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งเเต่ช่วงปี 2564 กรณีที่ พรรณิการ์มีการโพสต์ข้อความสมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยจุฬาฯในช่วง ปี 2556-2557 ซึ่งต้องมามีการเเจ้งความว่าข้อความดังกล่าวโดยการนำเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นบทกวีมีลักษณะพาดพิงสถาบันฯ

ซึ่งศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามความผิด พ.ร.บ.คอมฯ ที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่ใช่การทำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่จะก่อความเสียหายหรือตื่นตระหนกต่อสังคมแต่อย่างใด

โดยข้อความทั้งสองข้อความที่โจทก์ฟ้องจำเลยมานั้น เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯตามที่โจทก์ฟ้องได้เลย เพราะทั้งสองข้อความไม่ได้เป็นกรณีที่จำเลยเจตนาจะนำความเท็จมาเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจผิด

นอกจากนี้แล้ว โดยในร่างคำพิพากษายังมีการอธิบายด้วยว่า สำหรับข้อความแรกนั้นเป็นการเปรียบเปรยถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น และข้อความที่สอง ก็เป็นคำทำนายเพลงยาวพยากรณ์ซึ่งสาธารณชนทั่วไปรับรู้อยู่แล้ว มีการเผยแพร่และตีพิมพ์ทั่วไป

ข้อความที่ 1 ระบุว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปัตย์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นอาวุธ 

ข้อความที่สอง เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

ศาลพิเคราะห์ว่า แม้ข้อความที่ 1 จะมีคำว่าพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเพียงการเปรียบเทียบโดยเล่นคำ วิญญูชนพึงทราบว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ถือเป็นความเท็จ ส่วนการมีคำว่าพระมหากษัตริย์ อาจทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกไปได้หลายทางตามอัตวิสัยของแต่ละบุคคล แต่การตัดสินคดีความพึงใช้ตัวบทกฎหมาย พิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ไม่สามารถขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือความรู้สึกของคนใดคนหนึ่งได้ จึงเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิดพรบ คอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (2)

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามความผิด พรบ.คอมฯ ที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่ใช่การทำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่จะก่อความเสียหายหรือตื่นตระหนกต่อสังคมแต่อย่างใด